วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

“โซลาร์ฟาร์ม” พลังงานทางเลือกสีเขียว


ผลของความเจริญทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของชุมชนเมือง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งในอนาคตสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพยากรที่สิ้นเปลืองและเริ่มขาดแคลนในอนาคต การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงไม่ขาดแคลนไฟฟ้าใช้ในอนาคต

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านพลังงาน ซึ่ง บริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์ม หรือ ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับใบอนุญาตจากภาครัฐ ก็ได้ดำเนินการเปิด โครงการโซลาร์ ฟาร์ม ของบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์(เลย1) จำกัด ที่ ต.หนองหญ้าปล้อง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นโซล่าฟาร์มแห่งที่ 5 จาก ทั้งหมด 34 โครงการ โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ กำมเลศ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นประธานในพีธี

นายณรงค์ศักดิ์ กำมเลศ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโนบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นพลังงานที่สะอาด ช่วยลดการพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และช่วยลดมลพิษและลดโลกร้อน ซึ่งทางบริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) ถือเป็นเอกชนรายแรก ๆ ที่บุกเบิกการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าเพื่อเชิงพาณิชย์

น.ส.วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการโซลาร์ฟาร์ม เป็นการใช้พลังงานทดแทนที่ไม่มีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการใช้เชื้อเพลิง จุดสำคัญคือ เป็นการลงทุนครั้งเดียว หลังจากนั้นเพียงแค่ดูแลบำรุงรักษาระบบเท่านั้น โดยโครงการโซลาร์ เพาเวอร์ (เลย1) ใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 630 ล้านบาท บนเนื้อที่ 100 ไร่ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า ประมาณ 7 เมกะวัตต์ รองรับการใช้ไฟฟ้าของบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ได้ประมาณ 2 หมื่นหลังคาเรือนต่อปี และได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ปีที่แล้ว

“โครงการโซลาร์ฟาร์ม ต้องใช้เงินลงทุนในครั้งแรกสูงเพื่อซื้ออุปกรณ์ที่คิดเป็นเงินลงทุนเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ส่วนอีก 25% เป็นการปรับภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม ก่อสร้างอาคาร ถนน และอีก 5% เป็นค่าที่ดิน อย่างไรก็ตามอุปกรณ์แผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้เป็นของญี่ปุ่นมีอายุการใช้งานนานถึง 40-50 ปี ส่วนอุปกรณ์อินเวสเตอร์ใช้ของเยอรมันอายุการใช้งาน 25 ปี ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะถึงจุดคุ้มทุนในระยะเวลา 7 ปี”

น.ส.วันดี กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องเงินลงทุนที่สูงข้อจำกัดอีกอย่างของโซลาร์ฟาร์ม คือ เรื่องฤดูกาล ซึ่งหากเป็นช่วงหน้าฝน และหน้าหนาวอาจมีแสงน้อยกว่าหน้าร้อน แต่โดยรวมจะดูค่าเฉลี่ยทั้งปี อีกอย่างคือเรื่องน้ำท่วม เรื่องที่ตั้งของโครงการจึงเป็นสิ่งสำคัญ บริษัทจึงได้ทำการสำรวจเลือกสถานที่ตั้งทั้ง 34 โครงการในพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีพื้นที่สูงความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมน้อย และสภาพอากาศมีแสงอาทิตย์ตลอดทั้งปี โดยคาดว่าบริษัทจะก่อสร้างโครงการโซลาร์ฟาร์มเสร็จทั้ง 34 โครงการช่วงกลางปี 2556 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 240 เมกะวัตต์
“การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เช่น พลังงานลมยังไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะพื้นที่ที่มีกำลังลมที่แรงเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ป่าเขาสูงการเข้าไปก่อสร้างกังหันลมต้องเข้าไปในพื้นที่ป่าส่งผลรบกวนสัตว์ป่า และเข้าไปทำการซ่อมแซมดูแลรักษายาก ส่วนไฟฟ้าจากพลังงานน้ำแม้จะมีต้นทุนที่ถูกที่สุด แต่ก็ต้องใช้เงินสร้างเขื่อน ส่งผลกระทบป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชนในพื้นที่ ส่วนไฟฟ้าจากโรงงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยคงเกิดขึ้นได้ยากหลังเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น พลังงานแสงอาทิตย์จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งไทยก็เป็นเมืองร้อนมีแสงแดดตลอดทั้งปี ส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โซลาร์เซลล์เมื่อหมดอายุการใช้งาน สามารถนำไปรีไซเคิลได้หมดด้วย” น.ส.วันดี กล่าว

ด้านนายจิราคม ปทุมานนท์ กรรมการ และผู้ออกแบบโครงการโซลาร์ฟาร์ม บริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) กล่าว ว่า ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ดีที่สุดในโลกในปัจจุบันนี้ แต่ก็มีราคาแพงมากด้วยเช่นกัน โดยโซลาร์เซลล์ 1 กลุ่ม ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ 18 แผง ผลิตไฟฟ้าได้ 3,700 วัตต์ การติดตั้งต้องทำมุมเฉียงไปทางใต้ 15 องศา ซึ่งเป็นมุมที่คำนวณจากละติจูดที่ตั้งของประเทศไทยว่าเป็นมุมที่โซลาร์เซลล์จะได้รับแสงอาทิตย์ดีที่สุด หากเป็นประเทศอื่น ๆ มุมติดตั้งก็จะแตกต่างกันไป ช่วงเวลาเที่ยงพระอาทิตย์ตรงศีรษะจะเป็นช่วงที่เก็บพลังงานได้มากที่สุด ส่วนการดูแลรักษาเพียงใช้น้ำล้างฝุ่นจากแผงโซลาร์เซลล์เท่านั้นเพราะมีผลต่อการรับแสงอาทิตย์
    
“เมื่อแสงอาทิตย์ส่องลงแผงโซลาร์เซลล์จะมีการเก็บพลังงานทันทีจากนั้นจะส่งไปยังตัวอินเวสเตอร์เพื่อแปลงไฟจากกระแสตรงเป็นกระแสสลับที่ใช้ตามบ้านจากนั้นกระแสไฟจะเดินตามท่อเคเบิลใต้ดินเข้าสู่ตู้ที่มีหน้าที่เหมือนคัตเอาต์เปิดปิดไฟเพื่อป้อนเข้าหม้อแปลงไฟให้ได้ขนาด 230 โวลต์ ก่อนที่จะจ่ายกระแสไฟเข้าสู่ระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค”

นับเป็นการผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานทางเลือกสีเขียว เพียงแต่ในตอนนี้การลงทุนยังคงต้องใช้เม็ดเงินสูง แต่หากในอนาคตราคาโซลาร์เซลล์ถูกลง การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ก็คงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง.
จิราวัฒน์ จารุพันธ์
แหล่งที่มาข้อมูลเดลินิว
ส์

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources