วันนี้( 24 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการควบคุมฯ ที่มี นายสมนึก พิมลเสถียร อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติสำเร็จการศึกษาให้กับนักศึกษา มอส. รวม 40 คน แบ่งเป็น นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) วิชาชีพครู จำนวน 28 คน และสาขาวิชาอื่นๆ 12 คน สำหรับนักศึกษาหลักสูตรป.บัณฑิต ขณะนี้ยังเหลือ 774 คน ที่รอการแก้ไข อย่างไรก็ตามพบว่า นักศึกษาที่กำลังประสบปัญหาหนัก ได้แก่ นักศึกษาป.บัณฑิต 100 กว่าคน และ นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ จำนวน 44 คน ที่ขอจบการศึกษาแต่ติดปัญหาไม่สามารถหาหลักฐานการชำระค่าเล่าเรียนได้ โดยที่ประชุมมอบหมายฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยจัดทำแบบคำร้องเพื่อให้นักศึกษายืนยันว่าได้ชำระค่าเล่าเรียนครบถ้วนแล้ว จากนั้นจะต้องให้ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง มอส.เซ็นต์รับรองคำร้องเป็นรายบุคคล เพื่อส่งกลับให้คณะกรรมการควบคุมฯ พิจารณาให้จบการศึกษาได้แบบมีเงื่อนไข อย่างไรก็ตามหากฝ่ายผู้รับใบอนุญาตฯ ไม่รับรองคำร้องก็จะส่งผลเสียต่อนักศึกษาทำให้เกิดความล่าช้าในการอนุมัติจบ
“นักศึกษากลุ่มที่มีปัญหาดังกล่าวได้ยืนยันแล้วว่าจ่ายค่าเล่าเรียนแล้ว แต่หาหลักฐานไม่ได้ ซึ่งทางผู้รับใบอนุญาตและอดีตผู้บริหารเองก็ไม่ยอมรับรองว่านักศึกษาได้จ่ายเงินแล้ว ดังนั้นคณะกรรมการควบคุมฯ จึงมีมติให้ทำแบบฟอร์มคำร้องเพื่อให้นักศึกษายืนยันและให้ผู้รับใบอนุญาตฯ เซ็นต์รับรอง เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นถือเงินนั้นและไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการจ่ายเงินนั้นเข้ามา ดังนั้นทางผู้รับใบอนุญาตฯ จะต้องยืนยันว่าเด็กได้จ่ายเงินแล้วหรือไม่ได้จ่าย ทางใดทางหนึ่ง ถ้าหากไม่สามารถยืนยันได้ก็แสดงว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีระบบในการบริหารจัดการเลย ดังนั้นก็คงไม่สามารถไว้ใจให้บริหารงานมหาวิทยาลัยได้เช่นกัน ทั้งนี้หากมีการตรวจพบภายหลังว่านักศึกษาให้ข้อมูลเท็จก็จะถอนใบปริญญาบัตรคืน” รศ.นพ.กำจร กล่าว
รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา มีกลุ่มบุคคลแอบจัดสอบให้กับนักศึกษาปริญญาโท 15 ห้องสอบ รวมจำนวนกว่า 300 คน ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดโดยหลอกให้นักศึกษาเชื่อว่าจัดการสอบได้ ทางมหาวิทยาลัยได้มีแจ้งนักศึกษาแล้วว่ายกเลิกการสอบและไม่รับผลการสอบนั้น พร้อมสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่าการจัดสอบนั้นมีการเรียกเก็บเงินนักศึกษาหรือไม่ ส่วนการดำเนินการแก้ปัญหาให้กับนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งขณะนี้มียอดนักศึกษาที่ขอจบการศึกษาจำนวน 4,044 คนนั้น ทางมหาวิทยาลัยจะต้องทำการจ้างอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีคุณวุฒิตามเกณฑ์ สกอ. เบื้องต้นจำนวน 30 คน โดยมอบหมาย รศ.ดร.อานนท์ เที่ยงตรง ประธานสภาวิชาการ มอส. ดำเนินการแผนงานว่าจ้างอาจารย์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และให้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 22 พ.ค.55
“ทั้งนี้การว่าจ้างอาจารย์นั้นจะใช้เงินของมหาวิทยาลัยที่ยังมีพอสำหรับบริหารจัดการได้ แต่หากคณะกรรมการควบคุมฯ ยังพบว่ามีปัญหาการหลอกเก็บเงินนักศึกษาทำให้เงินไม่เข้าสู่ระบบ หรือมีข้อขัดขวางในการดำเนินงานอีกก็จะพิจารณาเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยกเลิกการควบคุม และเช่นเดียวกันกับการพิจารณาให้เปิดรับนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2555 ที่ประชุมเห็นว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ในการประชุมครั้งต่อไป โดยจะดูสถานการณ์และความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยอีกระยะหนึ่งก่อน เพื่อไม่ให้มีกรณีเปิดรับนักศึกษาใหม่เข้ามาแล้วเกิดปัญหาขึ้นอีก” รศ.นพ.กำจร กล่าว
รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องการสรรหาอธิการบดี มอส.คนใหม่นั้น ที่ประชุมเห็นว่า การทำงานของ ดร.ฉันทวิทย์ สุชาตานนท์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มอส. นั้น ได้รับความร่วมมือจากผู้รับใบอนุญาตฯ และบุคลากรภายใน มอส. มากขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว จึงเห็นควรให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่ากระบวนการสรรหาอธิการบดีคนใหม่จะเสร็จสิ้น สำหรับการเสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี มอส.คนใหม่ มีจำนวนรวม 13 คน โดยมีการถอนตัวออกไป 3 คน เหลือ 10 คน ในจำนวนนี้เป็นบุคคลที่ผู้รับใบอนุญาตฯ เสนอรายชื่อเข้ามา 3 คน ที่ประชุมมีมติให้ฝ่ายเลขานุการสรุปภาระหน้าที่ของอธิการบดี มอส. เพื่อให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อพิจารณาพร้อมเงินเดือนที่จะได้รับ จากนั้นจะสอบถามผู้ได้รับการเสนอชื่อและหารือกันภายในคณะกรรมการควบคุมฯ คาดว่าใช้เวลาอีก 1-2 เดือน และจะให้อธิการบดีคนใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเดือน ส.ค.55
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th