วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2555 เวลา 00:00 น.
ต้องยอมรับว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย
สาละวนวุ่นวายและเพียรใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้จงได้
เพราะหากย้อนกลับไปดูเส้นทางของความพยายามทางการเมืองจะพบว่ามีวิธีคิดและ
จังหวะที่ประสานสอดรับกันชนิดที่เรียกว่า คิดกันมาล่วงหน้า
เริ่มตั้งแต่การปรากฏตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
อดีตนายกรัฐมนตรีที่ประเทศกัมพูชา ท่ามกลางการต้อนรับของเหล่าบรรดา นปช.
และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อเดือนเมษายน “ฉากหน้า”
น่าจะเป็นการปรากฏตัวเพื่อจุดพลุว่า
ประสงค์จะกลับบ้านมาแบบไม่ต้องมีความผิด แต่ “ฉากหลัง”
คือการรวมพลังเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ต่อมาความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 291 ก็บังเกิดขึ้น
และชัดเจนตามลำดับจนกระทั่งนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา
นัดประชุมเพื่อพิจารณาวาระที่ 1 จากนั้นมีการตั้งกรรมาธิการ ไปจนถึงวาระที่
2
ระหว่างจบวาระที่ 2 เกิดกระบวนการซ้อนขึ้นมานั่นคือ การเสนอร่าง
พ.ร.บ.นิรโทษกรรมซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง
แต่ระหว่างนั้นเกิดการ “ยื่นเรื่อง”
ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขมาตรา 291
ดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
ที่สุดศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยว่า
มีอำนาจรับเรื่องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า
หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านการลง “ประชามติ” จากประชาชนมา
หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ได้ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญค้างการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในวาระ
ที่ 3 พร้อม ๆ กับ “หยุด” กระบวนการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองไปในคราวเดียวกัน
กล่าวคือ สำหรับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขณะนี้อยู่ในระเบียบรอเพียง “เวลา”
ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเสียงข้างมากหยิบขึ้นมาพิจารณาเท่านั้น
ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาโดยมี นายโภคิน
พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร
หลังใช้เวลาศึกษาอยู่นานหลายเดือนที่สุดก็มีความเห็นเสนอให้รัฐบาลทำ
“ประชามติ” หากต้องการที่จะเดินหน้าโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291
เป็น 1 ปีที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย “หายใจเข้าออก” มีแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
กลับมาในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนว่า
รัฐบาลจะจัดให้มีการทำประชามติอย่างไรและเมื่อไหร่หลังน.ส.ยิ่งลักษณ์
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศชัดเจนว่า จะทำ “ประชามติ”
เพื่อหาข้อยุติในปัญหาความขัดแย้งที่ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง
ฉบับ
ต้องบอกว่าแต่ละหนทางที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเลือกเดินนั้นล้วนเป็นเรื่อง
ยากและสุ่มเสี่ยงที่จะเกิด “ภาวะแทรกซ้อน” ทางการเมืองอย่างยิ่ง
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว มี 2 กรณีเท่านั้นในขณะนี้
กรณีแรก การแก้ไขทั้งฉบับ มีทางเลือกที่จะเดินดังนี้
1. เดินหน้าโหวตวาระ 3 กรณีมีเสียงสนับสนุนจาก นปช. และ
ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางส่วนโดยมองว่าสามารถที่จะทำได้
แต่ก็มีบางส่วนมองว่าอาจจะกลายเป็นปัญหาจนกระทบถึงเสถียรภาพของรัฐบาลเนื่อง
จากจะมี “บางฝ่าย” ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า
การแก้ไขดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จนนำมาซึ่งการ “ยุบพรรค”
หรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาล อีกทั้งกรณีนี้ยังเป็นการ “ฝืน”
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
2. การเดินหน้าทำประชามติ ทางนี้นอกจากจะเลี่ยงมาตรา 68 ยังเป็นการปฏิบัติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แต่การ
เดินทางนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมี “อุปสรรค” ในหลายขั้นตอน อาทิ
2.1 สามารถทำประชามติได้หรือไม่ ในเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291
ยังคาอยู่ในที่ประชุมรัฐสภาเช่นนี้ เนื่องจากมองว่า
การทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165
ที่ว่าเรื่องการทำประชามตินั้นขัดกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291
2.2 กระบวนการทำประชามติครั้งนี้ เป็นการทำประชามติภายใต้
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งกำหนดวิธีการ
กระบวนการขั้นตอนไว้
โดยเฉพาะในมาตราที่เปิดโอกาสให้มีการร้องศาลปกครองภายหลังจากที่รัฐบาล
ประกาศให้มีการทำประชามติเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อถึงตรงนั้นก็น่าสนใจไม่น้อยว่า
กระบวนการทำประชามติ จะแท้งก่อนหรือไม่
2.3 เกณฑ์การผ่านประชามติก็เป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลหวั่นวิตก
เพราะการหาเสียงให้ได้ “ผู้มีสิทธิ”
ให้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมดและต้องได้เกินกึ่งของ
“ผู้มาใช้สิทธิ”
ตัวเลข 24 ล้านเสียงขึ้นไปจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับรัฐบาล
แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งก็ใช่ว่าจะไม่มีความเป็นไปได้เพราะในสมัยของการ
ประชามติครั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีผู้มีสิทธิมาออกเสียงถึง 25
ล้านคน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด
ที่สำคัญองคาพยพของรัฐบาลในวันนี้ซึ่งมีพร้อมสรรพ ทั้งอำนาจรัฐ
ปัจจัยสนับสนุน มวลชนคนเสื้อแดง
ในกรณีที่ “ประชามติ” ผ่านก็เดินหน้าต่อ แต่ถ้า “ประชา มติ” ไม่ผ่าน
รัฐบาลก็ยังอ้างได้ว่าได้ข้อยุติแล้วว่าไม่ให้แก้ทั้งฉบับ
ฉะนั้นก็จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบ “รายมาตรา”
ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เองว่าให้ทำได้
ขณะที่กรณีแก้ไขรายมาตรา ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้อยู่แล้ว
แต่การแก้ไขในประเด็นที่เป็นปัญหานั้น “ไม่ตอบโจทย์” ทางการเมืองให้กับ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 309
ซึ่งจะมีผลต่อคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ที่สำคัญการแก้ไขรายมาตราจะทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์
ปลอดภัยในทางการเมือง จะมีก็แต่เสียงวิจารณ์ว่า การแก้ไขเช่นนี้
เป็นการไม่ทำตามเสียงของประชาชนเพราะพรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ว่า
จะมาแก้ไขทั้งฉบับ
ไม่ว่าจะด้วยวิธีการทางไหนดูเหมือนก็เต็มไปด้วย “ขวากหนาม” ทั้งสิ้น
จะทางคอนกรีตคือการทำประชามติ ก็ไม่ง่าย จะทางลูกรัง
ขรุขระอย่างการเดินหน้าโหวตของ “ล่อแหลม” ในทางการเมืองเกินไป
หนทาง “กลับบ้าน” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
แม้จะคิดจะทำจนทำให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล มีน้องสาวอย่าง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกก็ตาม
จึงอาจกล่าวได้ว่า ปีพ.ศ. 2555 ที่กำลังผ่านจึงเป็นปีที่พรรคเพื่อไทย
“หมกมุ่น” กับการแก้ไขกติกาบ้านเมืองโดยแท้ และเชื่อว่า ปี พ.ศ. 2556
ที่กำลังคืบคลานเข้ามาก็จะเป็นอีกปีที่พรรคเพื่อไทย
จะได้พยายามแก้ไขทั้งฉบับหรืออีกนัยหนึ่งคือการฉีกรัฐธรรมนูญให้จงได้.