ผอ.รพ. 4 แห่ง รุดแจงยาแก้หวัดหายจากระบบ เค้นสอบผอ.รพ.ศูนย์อุดรฯ 5 ชม. รับลงนามใบสั่งซื้อทุกฉบับเป็นไปตามระเบียบจัดซื้อสำนักนายกฯ ไม่รู้เภสัชกรเสนอเอกสารเท็จให้เซ็น
วันนี้ (19 เม.ย.) พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงการเรียกสอบปากคำผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับคดีการลักลอบนำยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนออกจากระบบว่าในวันนี้ได้เรียกสอบผู้อำนวยการ 4 รพ. ประกอบด้วย รพ.ศูนย์อุดรธานี จ.อุดรธานี , รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ , รพ.ดอยหล่อและ รพ.ฮอด จ.เชียงใหม่ รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)โดยประเด็นที่สอบปากคำคือการบริหารจัดการ การอนุมัติ จัดซื้อยาแก้หวัดว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางวิชาชีพหรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่ผอ.รพ.ชี้แจงถือว่ามีประโยชน์ต่อการสอบสวน หลังจากนี้จะนำข้อมูลที่ได้ไปตรวจสอบกับข้อมูลที่ได้รับจากผู้แทนของสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกองสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)
สำหรับการแจ้งข้อกล่าวหาจำเป็นต้องหารือร่วมกับพนักงานอัยการรวมถึงต้องพิจารณาตามพยานหลักฐานเป็นรายบุคคล ซึ่งหากมีหลักฐานเพียงพอว่ากระทำความผิดก็สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้โดยไม่ต้องรอให้สอบเสร็จในทุกสำนวน
ด้านนพ.พิชาติ กล่าวภายหลังเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนนานกว่า 5 ชั่วโมงว่า ตนเข้าให้ปากคำตามหมายเรียกของดีเอสไอ โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาที่สูญหายไป รวมถึงรายละเอียดขั้นตอนการเบิกจ่ายยา ซึ่งยืนยันว่าการจัดซื้อและเบิกจ่ายยาของรพ.ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี 2535 โดยยาที่สูญหายไปของรพ.ศูนย์อุดรธานี มีเภสัชกรที่เป็นผู้ควบคุมคลังยาทำหนังสือยอมรับว่าเป็นผู้ทำผิดเพียงคนเดียวไว้เป็นหลักฐานก่อนหน้านี้ และตนได้นำหลักฐานดังกล่าวเข้าชี้แจงกับพนักงานสอบสวนด้วย ทั้งนี้ เภสัชกรคนดังกล่าวถือเป็นหัวหน้าคลังยาที่ดูแลการทำเรื่องเบิกจ่ายจัดซื้อทั้งหมด โดยตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ลงนามการจัดซื้อตามขั้นตอนการเสนอปกติเท่านั้น ส่วนการตรวจสอบหรือดูแลคลังยาผอ.ไม่ได้มีอำนาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง อีกทั้งตนยังไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวกับเภสัชกรด้วย
นพ.พิชาติ กล่าวต่อว่า ปกติขั้นตอนการจัดซื้อยาจะต้องมีผู้ลงนามหลายส่วนทั้ง ผอ.รพ. เภสัชกรหัวหน้าคลังยา หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุยา และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการลงนามไปตามระเบียบที่กำหนด โดยที่ผ่านการตรวจสอบไม่พบรายงานความผิดปกติ ในส่วนรพ.ศูนย์อุดรธานี มีคลังยา 2 คลัง และมีเภสัชกรดูแลแยกกัน ซึ่งเภสัชกรอีกรายไม่พบว่ามีปัญหาการเบิกจ่าย ส่วนเภสัชกรรายที่สารภาพว่าลักลอบนำยาออกไปใช้นั้นใช้วิธีการทำเอกสารเท็จทุกขั้นตอน โดยใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าคลังยาและเป็นผู้ถือกุญแจห้องยาจึงสามารถหยิบกล่องยาออกไปได้ จากนั้นมีการทำเอกสารปลอมว่ามียาอยู่น้อยกว่าความเป็นจริง เพราะส่วนที่เกินนั้นถูกลักลอบนำออกไป โดยที่ผ่านมาไม่สังเกตถึงความผิดปกติเพราะมีการทำเอกสารเท็จว่ามียาจำนวนน้อยเพราะต้องจ่ายยาให้ผู้ป่วย
สำหรับวันที่ 20 เม.ย. พนักงานสอบสวนดีเอสไอจะเรียกสอบผอ.รพ. อีก 8 แห่ง ประกอบด้วย รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ , รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีษะเกษ , รพ.นวมินทร์ 1 กรุงเทพฯ , รพ.สยามราษฎร์ จ.เชียงใหม่ , รพ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ , คลินิคสุพรชัย จ.ลพบุรี และคลินิคหมอสัมพันธ์เวชกรรม จ.เชียงใหม่ รวมถึงเรียกสอบปากคำผอ.รพ.เซ็นทรัลเมโมเรียล จ.เชียงใหม่ ซึ่งดีเอสไอได้รับสำนวนมาเพิ่มเติมด้วย.
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th