วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

"นพดล"ยันพระวิหารเป็นของเขมร


ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร วันนี้(24 ม.ค.) นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา มรดกโลกกับอาเซียน ในการสัมมนาทางวิชาการ”อาเซียนศึกษา” โดยนายนพดลกล่าวว่า ทางการกัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารพร้อมกับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเปรียบประสาทพระวิหารเหมือนศาลพระภูมิ และพื้นที่โดยรอบ ที่เปรียบเหมือนสนามหญ้า รัฐบาลไทยในช่วงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ได้โต้แย้ง คณะกรรมการมรดกโลกจึงมีหลักการให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท ไม่รวมพื้นที่ทับซ้อน   ต่อมา ถึงช่วงรัฐบาลที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และตนดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ก็ต้องรักษาตามอาการ ไม่ให้กัมพูชารวมพื้นที่ทับซ้อนในการขอเป็นมรดกโลก ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และทำตามกฎหมาย จึงพยายามเจรจากับทางกัมพูชาว่า ปราสาทเป็นของกัมพูชาแต่สนามหญ้าให้ตัดออกมา ทางการกัมพูชาจึงยอม เอาพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จากแผนที่ และมีแถลงการณ์ร่วมที่แสดงการยอมรับว่า สนามหญ้าหรือพื้นที่ทับซ้อนไม่ใช่ของกัมพูชาฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการตัดพื้นที่ทับซ้อนออกเป็นครั้งแรก ยอมขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นเพียงอย่างเดียว แต่ตนถูกหาว่าขายชาติ โดยนายนพดล กล่าวว่า หากได้กลับเข้ามาก็ทำอีก คือไม่ให้ขึ้นทะเบียนสนามหญ้า ปราสาทขึ้นได้
นายนพดลกล่าวอีกว่า สิ่งที่พูดถึงการตรวจสอบเอกสารการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก วันที่  7 กรกฎาคม 2551 ได้ว่า ให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท แสดงว่าได้ปกป้องดินแดนแล้ว แต่ศาลปกครอง มีคำตัดสินว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เป็นโมฆะ
นายนพดล ยังท้าวความว่า ข้อเท็จจริงที่เป็นความจริง ก็คือ ศาลโลกได้เคยตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ตั้งแต่ พ.ศ.2505 แต่ไม่ได้บอกว่า ที่ดินเป็นของใคร ภายหลังการตัดสิน ประเทศไทยได้ขีดเส้นรอบปราสาทและส่งมอบปราสาทให้กัมพูชา เท่ากับว่า ปราสาทเป็นของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 นอกจากนั้นในการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ปี 2541ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ก็ไม่รวมปราสาท โดยทุกฝ่ายยอมรับว่าปราสาทเป็นของกัมพูชามาตลอด..

“วราเทพ”มั่นใจคุณสมบัติการเป็นรมต.ครบถ้วน


วันนี้ (24 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมรอผลการวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคุณสมบัติของนายวราเทพ ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาเรื่องปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปพร้อมกับตำแหน่ง ที่ว่างลงของพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า สำหรับตนไม่ทราบเรื่องการปรับครม. เพราะการปรับครม.เป็นอำนาจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งในเมื่อนายกรัฐมนตรีบอกแล้วว่ารอให้เสร็จสิ้นงานศพของนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ก่อน แล้วเราก็ต้องรับฟัง รอฟังว่านายกรัฐมนตรีมีแนวทางอย่างไร
“ผมเรียนหลายครั้งตั้งแต่ปรากฏเป็นข่าวที่มีผู้ไปยื่นแล้วว่าเรื่องนี้ เป็นความเห็นทางกฎหมายที่ตีความเห็นเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งผมก็ต้องการให้เกิดความชัดเจน แต่ส่วนตัวทั้งผมและผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติก่อนรับตำแหน่งได้ยืน ยันตั้งแต่ต้นว่าเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ คือมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการ และได้แสดงเจตนาบริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้น โดยไม่ได้ปิดบังแต่อย่างใด และผมก็มั่นใจว่าคุณสมบัติเราถูกต้องมาตั้งแต่ต้น”นายวราเทพ กล่าว..

เครือข่ายงดเหล้าเข้าพบมท.1


วันนี้(24ม.ค.) ที่กระทรวงมหาดไทย เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มรุ่นใหม่ นำโดยนายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เข้าพบนายจารุพงศ์  เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย  เพื่อขอความอนุเคราะห์สนับสนุนนโยบายรณรงค์งานศพและงานบุญปลอดเหล้า พ.ศ. 2556 โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนให้ผวจ.ทุกจังหวัด ประกาศนโยบายงานศพและงานบุญปลอดเหล้าทุกปีอย่างต่อเนื่อง, สนับสนุนให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยและผวจ.ทุกจังหวัดรายงานผลการดำเนิน การรณรงค์งานศพและงานบุญปลอดเหล้า และยอดตัวเลขค่าใช้จ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลในงานศพและงานบุญรายหมู่บ้านทุก 6 เดือน โดยให้รายงานมาที่กระทรวงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 เป็นต้นไป
ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า เครือข่ายฯขอกำลังใช้และความอนุเคราะห์ในการเน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมายและ การเตรียมการเทศกาลสงกรานต์ โดยให้มีการยกย่องจังหวัดที่มีผลงานจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผวจ., ขอให้เน้นย้ำนโยบายงานกาชาดปลอดเหล้า และขอให้เตรียมการกับผวจ. นายอำเภอ และหน่วยงานปฏิบัติการตำบล หมู่บ้าน เพื่อวางแผนรณรงค์ปลอดเหล้าในเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง ทั้งนี้หากมีมาตรการชัดเจนให้เยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอลได้ยากเชื่อว่าจะช่วยลด จำนวนผู้เสียชีวิตและลดจำนวนอุบัติเหตุให้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา
ด้านนายจารุพงศ์กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอ พร้อมจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อจัดกิจกรรมตามที่เสนอ และเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมคงจะมีการหารือกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ,กระทรวงศึกษาธิการ และกรมการศาสนาเพื่อจัดกิจกรรมเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ที่ผ่านมาตนได้สั่งการให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้โดยให้มีการ รณรงค์ทั้งในงานศพ งานบุญและงานประเพณีอื่นๆ ในอนาคตด้วย ทั้งนี้สำหรับการรณรงค์ในเทศกาลสงกรานต์จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสาน เพื่อให้มีการณรงค์หรือมีมาตรการในการดูแลการเล่นน้ำและงานบันเทิงในช่วง สงกรานต์ในวัดด้วย

"นายกฯปู" เปิดเครื่องเจาะอุโมงค์ “เจ้าพระยา”


ที่บริเวณสถานที่ก่อสร้าง Cut&Cover สำนักงานสนามท่าพระ (ถนนเพชรเกษม) วันนี้ (24 ม.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เริ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ “เจ้าพระยา” โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายสัญญาที่ 2 ช่วงสนามไชย-ท่าพระ โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมต. คมนาคม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม.ให้การต้อนรับ โดยนายกฯ และคณะได้ดินลงไปดูการทำงานของเครื่องขุดเจาะในบริเวณก่อสร้าง ซึ่งอยู่ลึกลงไปในพื้นดิน 18 เมตรด้วย
สำหรับอุโมงค์"เจ้าพระยา" โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายสัญญาที่ 2 ช่วงสนามไชย-ท่าพระ นี้ บริษัท ช.การช่างจำกัด(มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้นำหัวเจาะอุโมงค์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.43 เมตร พร้อมอุปกรณ์สนับสนุน มีสมรรถภาพในการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ 14 เมตร หรือเดือนละ 350 เมตร ดำเนินการขุดเจาะที่ระดับความลึก 20-30 เมตร เริ่มจากสถานีท่าพระ ไปยังสถานีอิสรภาพ 23 แล้วลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา  บริเวณวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร สิ้นสุดที่สถานีสนามไชย รวมระยะทาง 2.6 กิโลเมตร
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว นายกฯ พร้อมด้วย นายชัชชาติ และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เดินทางไปที่ห้างสรรสินค้าเดอะมอลล์ท่าพระ และได้นั่งทานกาแฟที่ร้านสตาร์บัคส์ โดยให้เหตุผลกับสื่อมวลชนที่ติดตามว่าเป็นการนั่งคุยงานกันเกี่ยวกับโครงการ ก่อสร้างรถไฟฟ้าซึ่งได้กางแผนที่ระหว่างการพูดคุยด้วย โดยใช้เวลานานกว่า1 ชั่วโมง ท่ามกลางประชาชนที่ให้ความสนใจพร้อมกับขอถ่ายรูปนายกรัฐมนตรี และระหว่างที่นายกฯจะเดินออกจากร้านกาแฟดัง ได้มีประชาชนบางคนถามถึงเรื่องเส้นทางขับขี่รถจักรยานที่ปลอดภัยใน กทม. ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่าในนโยบายมีแน่นอน

จากนั้นนายกฯได้ออกจากห้างเดอะมอลล์ ท่าพระ พร้อมกับนายชัชชาติ ข้ามถนนรัชดาท่าพระ มายังตลาดไทยช่วยไทยพลาซ่า เพื่อดูการคับคั่งของการจราจรช่วงเลิกงาน และได้ทักทายแม่ค้าประชาชนบริเวณดังกล่าว และระหว่างเดิน นายกฯ ได้พบกับยายตาบอดที่นั่งร้องเพลงหาเงิน ทราบชื่อภายหลังว่า นางชยานิสา แก่นจันทร์ อายุ 66 ปี ภูมิลำเนาเดิมอยู่จังหวัดกาญจนบุรี โดยนายกฯ ได้ถามว่าทำไมถึงมานั่งตรงนี้ นางชยานิสา ได้กล่าวว่า ถ้าไม่ลำบากไม่มานั่งตรงนี้หรอก เมื่อก่อนทำอาชีพ ขายล็อตเตอร์รี่ แต่ตอนนี้ไม่มีทุน นายทุนเอาล็อตเตอร์รี่คืน จึงต้องมานั่งร้องเพลงข้างถนน ซึ่งนายกฯได้ให้ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับเรื่องเพื่อประสานช่วยเหลือต่อไป จากนั้นได้เดินพบ นางเฮียง แซ่เฮ้ง อายุ 77 ปี เป็นคนขาพิการนั่งขอทานอยู่ริมถนน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้สั่งการให้ทีมงานรวบรวมข้อมูล และให้การช่วยเหลือต่อไป ก่อนเดินทางกลับ นายกฯ ได้พบปะพูดคุยกับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างปากซอยรัชดา-ท่าพระ 15 ซึ่งตัวแทนวินมอเตอร์ไซค์ ได้ขอบคุณนายกฯว่า ตั้งแต่ที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ก็วิ่งวินมอเตอร์ไซด์ ได้ดีขึ้น ไม่มีมาเฟีย มาเรียกเก็บเงิน
จนกระทั่งเวลา 17.20 น. นายกฯได้เสร็จภารกิจ พร้อมกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้มาภารกิจเปิดเครื่องเจาะอุโมงค์ ที่ท่าพระ และได้มาแวะทานกาแฟพร้อมกับคุยงาน เรื่องโครงการรถไฟฟ้า ที่จะต่อขยาย เลยถือโอกาสเดินเยี่ยมเยือนประชาชน ขณะที่นายชัชชาติ กล่าวว่า ประชาชนร้องเรียนเรื่องปัญหาการจราจรในจุดนี้มาก จึงถือโอกาสชวนนายกรัฐมนตรี มาดูสภาพการจราจร

ให้ 3 สถาบันศึกษาทำประชามติแก้รธน.ใน 60 วัน


วันนี้(24 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ  ให้สัมภาษณ์ถึงการมอบข้อเสนอเกี่ยวกับการทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้กับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไปศึกษา ว่า สถาบันการศึกษาเหล่านี้ยังดำเนินการศึกษาเรื่องดังกล่าวอยู่ โดยเขาขอเวลาว่าจะทำให้เสร็จภายในระยะเวลา 60 วัน ซึ่งเขาจะใช้เวลาทำการศึกษาประมาณ 45 วัน จากนั้นจะมีการเปิดเวทีให้มีการวิพากษ์ผลการศึกษา ที่ใช้เวลา 15 วันก่อนที่เขาจะทำการสรุปสุดท้ายอีกครั้ง รวมเวลาเป็น 60 วันเหมือนเดิม ไม่ได้มีการลดระยะเวลา 45 วันตามที่มีกระแสข่าว
อีกทั้งคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐ ธรรมนูญไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลาว่าเขาต้องทำเสร็จเมื่อใด เพราะเราต้องการทำให้เขาทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ส่วนการนัดหมายเข้าพบกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ชุดใหญ่ เพื่อหารือถึงแนวทางการทำประชามตินั้น เรายังรอการตอบกลับจากกรรมการ กกต.ทั้ง 5 คนอยู่  เพราะเข้าใจว่าขณะนี้ท่านมีภารกิจในเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร..

"อุกฤษ" เสนอศาลปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาการเมือง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ม.ค.) นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.) ได้จัดทำข้อเสนอไปยังหน่วยงานและองค์กรของรัฐเพื่อให้สังคมไทยกลับสู่ความ สงบเรียบร้อย มีความสามัคคี ให้ประเทศมีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดย 1. ศาลยุติธรรม ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงควรพิจารณาและทบทวนแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการปล่อยตัว ชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยเฉพาะการใช้ดุลยพินิจเพื่อปล่อยปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในทางการเมือง ควรใช้กรอบของหลักของเมตตาธรรม  และ2.การที่ประชาชนได้กระทำผิดในการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549-10 พ.ค. 2554 ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความสุจริตทางการเมือง และแสดงออกตามสิทธิในฐานะประชาชน รวมทั้งเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย หรือการเลือกตั้งส.ส.ตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.และส.ว. ที่จะต้องดำเนินการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความสามัคคีและความสมานฉันท์ของคนในชาติ และเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ขอบเขตการนิรโทษกรรมต้องไม่รวมถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในห้วงเวลาดังกล่าว และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมาย ในการรักษาความสงบ หรือยุติเหตุการณ์
สำหรับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่อง ในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ฯ มีทั้งหมด 6 มาตรา โดยมีสาระสำคัญที่ มาตรา 3 "ระบุว่าให้การทำใดๆของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการ แสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนที่ห้ามการชุมนุม การกล่าววาจา หรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการประท้วงด้วยวิธีการ ใดๆ อันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุม หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 – 10 พ.ค. 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้น เชิง  การกระทำในวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการ เมืองในห้วงเวลาดังกล่าว และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการ รักษาความสงบหรือยุติเหตุการณ์นั้น "
ด้านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวว่า การเสนอร่างกฎหมายต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยต้องให้ประชาชนเข้าชื่อ 15,000 คนเพื่อเสนอกฎหมาย หรือให้รัฐบาล หรือให้ส.ส.และส.ว. เข้าชื่อเสนอ ซึ่งของนายอุกฤษ เป็นส่วนภาคประชาชน ก็สามารถเสนอได้ เมื่อถามว่าช่วงเวลานี้เหมาะสมที่จะพูดถึงการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายเจริญ กล่าวว่าหากสังคมร่วมพิจารณาว่าเป็นทางออกและแนวทางที่จะไปสู่การพัฒนา ประเทศ ถือว่ามีความเหมาะสม แต่ขณะนี้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยังวิตกกังวลว่าการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมจะทำเพื่อประโยชน์ของบุคคล กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ดังนั้นต้องพิจารณาดูหลักการเหตุผลมากกว่าใช้ความรู้สึก แต่หากสังคมยังแบ่งฝ่ายเรื่องนี้ก็จะสำเร็จได้
ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว มี ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ 1.การกำหนดช่วงเวลา ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทุกกลุ่มทุกสี ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ 2. บุคคลที่จะได้รับสิทธิ์นิรโทษกรรม จะรวมถึงแกนนำผู้ชักชวน ยุยง ปลุกปั่นด้วยหรือไม่  ซึ่งประเด็นดังกล่าวต้องพิจารณาให้รอบคอบ ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือตีความภายหลัง  สำหรับห้วงเวลาที่เหมาะแก่การพิจารณา ช่วงนี้ก็สามารถพูดคุยกันได้ หากไม่มีนัยยะแอบแฝง..

ระทึกสิบล้อบรรทุกแก๊สแอลพีจีคว่ำ


เมื่อเวลา 14.40 น. วันนี้ (24 ม.ค.) พ.ต.ท.สุรศักดิ์  นุ่มกัน   สว.เวรสอบสวน สภ.สวนพริกไทย อ.เมือง จ.ปทุมธานี รับแจ้งมีอุบัติเหตุรถบรรทุก 10 ล้อ เสียหลักชนเสาไฟฟ้าแล้วพลิกคว่ำ บนถนนรังสิต-ปทุมธานี หน้าร้านถึงพริกถึงขิง หมู่ที่ 5 ต.บ้านกลาง อ.เมืองปทุมธานี จึงนำกำลังไปที่เกิดเหตุพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู พบรถบรรทุก10ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ สีขาว ของบริษัทอา เอร์ โลจิสติกส์ ด้านหลังมีถังบรรจุแก๊สแอลพีจีน้ำหนัก 6 ตัน โดยบรรทุกแก๊สมาเต็มคันรถ เสียหลักชนเสาไฟฟ้าแล้วเกิดพลิกคว่ำจนหัวรถหมุนกลับทาง ชิ้นส่วนรถกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณและตกลงไปในคูน้ำข้างทาง ใกล้กันมี นายสุเทพ  อินทนัย อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 6/2 หมู่ที่5 ต.ผักไหม อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ผู้ขับรถบรรทุกแก๊สยืนรอให้การกับตำรวจอยู่ ในที่เกิดเหตุไม่พบว่ามีแก๊สรั่วไหลออกจากถังที่บรรทุก ตำรวจจราจรของสภ.สวนพริกไทยต้องกันไม่ให้ผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าใกล้ พื้นที่ที่เกิดเหตุเพื่อป้องกันอันตราย
สอบสวน นายนายสุเทพ  ให้การว่า กำลังขับรถนำแก๊สไปส่งที่ปั๊มแก๊สในพื้นที่  อ.เมือง จ.ปทุมธานี แต่พอถึงที่เกิดเหตุมีฝนตกและมีรถเทรลเลอร์ขับมาปาดหน้าจึงหักรถหลบจนเสีย หลักไปชนกับเสาไฟฟ้าริมทางก่อนที่รถจะหมุนพลิกตะแคงไปสงบอยู่ข้างทาง โชคดีที่ไม่มีแก๊สรั่วออกมาจากถังบรรทุก เบื้องต้นได้ประสานไปที่บริษัทต้น สังกัดเพื่อนำรถเครนขนาดใหญ่ มาเคลื่อนย้ายรถออกจากผิวจราจรแล้ว..

ระบุกลไกราชการ ศธ.ดื้อเงียบ เน้นแก้ข่าว-ไม่เน้นแก้ไข


จากการเสวนา นโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ผ่านมานั้น เหมือนจะมาถูกทางแต่ก็พบกับดักทางการศึกษา คือ 1.การควบคุมคุณภาพการศึกษา โดยกำหนดให้ครูทุกคนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และทำผลงานเพื่อขอวิทยฐานะ ซึ่งดูเหมือนจะมาถูกทางแต่มีกับดักคือ ทำให้ครูทำแต่ผลงานวิชาการ และทิ้งห้องเรียน ส่วนการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็ไม่ได้ทำให้ครูมีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะครูรุ่นเก่าจำนวน 3 แสนคนที่อยู่ในระบบการศึกษาขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นครูประจำการที่ได้รับใบอนุญาตฯ ทันที ขณะที่การผลิตครูใหม่ 5 ปี ก่อนได้รับใบอนุญาตฯ นั้น ขณะนี้ผลิตได้เพียง 20,000 คน ที่เป็นเลือดใหม่ ซึ่งสัดส่วนตรงนี้ต่างกันมาก ที่สำคัญเมื่อผลิตครูรุ่นใหม่ออกมาก็เจอกับปัญหาโรงเรียนใช้ไม่ตรงสาขาที่จบ เอกมาจึงกลายเป็นปัญหาด้านคุณภาพอีกเช่นกัน 2.เรื่องการกระจายอำนาจของ ศธ. ปัจจุบันในเขตพื้นที่จะมีคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการเขตพื้นที่ และ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ซึ่งการจัดสรรอำนาจไม่สอดคล้องกับการทำงานจริง คือ อ.ก.ค.ศ.มีอำนาจในการโยกย้ายครู โดยที่ ผอ.เขตพื้นที่มีหน้าที่เหมือนตรายาง ทั้งนี้ตนจึงเสนอว่า ต้องกระจายอำนาจให้คณะบุคคล ไม่ใช่บุคคลคนใดคนหนึ่ง และควรยุบกรรมการทั้ง 2 ชุดให้เหลือเพียงชุดเดียว และ3. ศธ.ควรปรับปรุงการขอคืนอัตราเกษียรให้มีการเสนอขอคืนอัตราล่วงหน้าก่อนสิ้น ปีเกษียร เพื่อแก้ปัญหาขาดครูในโรงเรียน
"ที่ผ่านมา ศธ.เสนอขอคืนอัตราเกษียร หลังจากวันที่ 30 ก.ย.ของทุกปี และขั้นตอนการคืนอัตราเกษียร ก็ล่าช้า ทำให้โรงเรียนขาดครูที่จะมาทดแทน ที่สำคัญ ศธ.เล่นการเมืองมากไป มุ่งจะขออัตราคืนในช่วงเวลาใกล้เปิดเทอม เพื่อเป็นการบีบให้รัฐบาลเร่งคืนอัตรา ทั้งที่ก็รู้อยู่แล้วว่า ในแต่ละปีมีครูเกษียรกี่คน ดังนั้นควรวางแผนการขอคืนอัตราเกษียรตั้งแต่เดือน พ.ค. ของทุกปี เมื่อครูเกษียรก็จะมีครูใหม่เข้ามาทำงานแทนได้ทันที" ศ.ดร.พฤทธิ์ กล่าว
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตนขอฝากประเด็นให้รมว.ศธ. เร่งดำเนินการ ดังนี้ 1.การปฎิรูปโครงสร้าง ให้เน้นห้องเรียนและเด็กเป็นหลัก โดยมองว่าโครงสร้างที่ปรับเปลี่ยนจะลงไปสู่เรื่องการเรียนการสอนในห้องเรียน ได้อย่างไร  2.ลดภาระงานทำเอกสารของครู ลดงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ตอนนี้มี 10 กระทรวงที่สั่งให้ครูทำงาน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ทั้งที่ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง แต่กลับไม่มีสิทธิ์ปฎิเสธงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง พร้อมกันนี้ควรกำหนดหลักสูตรใหม่ เน้นการเรียนจากเนื้อหา ร้อยละ 60 และเน้นทำกิจกรรมร้อยละ 40 โดยอาจมอบหมายให้ทางคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินการออกแบบหลักสูตร ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่การแสดงออก ทำให้เด็กมีทั้งความฉลาดทางสมอง(ไอคิว)และความฉลาดทางอารมณ์(อีคิว) 3.เสนอ ให้มีการสับโขกระบบกลไกลราชการ เพราะขณะนี้กลไกราชการ ศธ.มีการต่อต้านเงียบๆ แก่ผู้บังคับบัญชา ด้วยการไม่ปฎิบัติตามสิ่งที่รัฐบาลกำหนด แต่เมื่อเกิดปัญหาทางการศึกษา ระบบกลไกราชการจะใช้วิธีแก้ข่าว แต่ไม่ได้คิดแก้ไขหรือปฎิรูปหรือเปลี่ยนแปลงอะไร ยังคงดำเนินการตามนโยบายของตนเอง ทั้งนี้หากข้าราชการฝ่ายการเมืองไม่มีความจริงจัง คือไม่กำหนดชัดเจนว่าหากทำไม่ได้ต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้าง ปัญหาก็จะไม่มีการแก้ไข
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า 4.เรื่องโครงการตำราแห่งชาติ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่ทำจะเกิดโครงการตำราผี ยัดเยียดตำราที่ด้อยคุณภาพให้แก่ผู้บริหาร แล้วกินค่าคอมมิสชั่น ร้อยละ 30-40 เวลานี้โรงเรียนเอกชนหลายแห่งทำแบบนี้ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งแก้ด้วยการนำโครงการตำราแห่งชาติ ควบคู่กับการผลิตหลักสูตรการเรียนรู้ผ่านแท็บแล็ต โดยต้องดำเนินการไปพร้อมกัน พร้อมกันนี้ต้องยกระดับผู้ตรวจราชการ ศธ.ให้รายงานผลตามความเป็นจริง จากเดิมที่การรายงานสถานการณ์จะรับเฉพาะเรื่องดีๆ อะไรไม่ดีห้ามรายงาน ทำให้ข้อบกพร่องต่างๆ ในระบบการศึกษาไม่เคยถึงหูนักการเมือง รมว.ศึกษาธิการ ทำให้นักการเมือง ไม่รู้สึกเลยว่าการศึกษาไทยแย่  จากนั้นเมื่อมีผลประเมินผลการศึกษาออกมาไม่ดี ข้าราชการก็ใช้วิธีแก้ข่าว แต่ไม่ได้แก้ที่โครงสร้างทางวิชาการ
“นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพของเด็กในต่างจังหวัด เด็กในโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะเด็กกลุ่มนี้มีถึงร้อยละ 80 ขณะที่เด็กในเมืองมีเพียงร้อยละ 20 ซึ่งหากไม่พัฒนาคุณภาพการศึกษา เด็กต่างจังหวัด คุณภาพการศึกษาไทยก็ตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่ และควรให้ความสำคัญเด็กตามแนวตะเข็บชายแดนของประเทศ ที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงจะต้องเตรียมความพร้อมกรณีการหลั่งไหลเข้ามาของนักเรียนจากประเทศ เพื่อนบ้านในละแวกนั้นๆ ว่ามีการจะมีหลักสูตรอะไร จัดการศึกษาอย่างไร เรื่องนี้ยังไม่มีใครพูดถึงเลย” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว.

ให้เจ้าของเหมืองแร่ปลูกป่าทดแทน 25 เท่า


วันนี้ (24 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2556 ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยต่อไปนี้การขอสัมปทานในเรื่องใดก็ตาม ทั้งกรณีที่ได้รับประทานบัตรไปแล้วและจะขอใหม่นั้น จะไม่สามารถยื่นคำขอประทานบัตรล่วงหน้าหลายปีก่อนที่ประทานบัตรหมดอายุ ที่ประชุมจึงได้กำหนดให้มีการปรับปรุงในเรื่องระยะเวลาการยื่นคำขอประทาน บัตรก่อนที่จะหมดอายุ โดยไม่ให้มีการล่วงหน้าเป็นเวลานาน และเมื่อขออนุมัติจะได้รับคำตอบเมื่อใด อีกทั้ง ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการอนุมัติไปตามปกติแล้ว แต่จากนี้ไป ผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีหน้าที่ฟื้นฟูและจ่ายทดแทนบนสมมติฐานที่ว่าแผ่นดินนี้เป็นของประชาชน ทุกคน เช่น ผู้ที่ทำเหมืองแร่ต้องปลูกป่าทดแทน 25 เท่าของพื้นที่ที่ใช้ และในระหว่างที่ดำเนินงานนั้น ถ้าเราตรวจพบว่าการประกอบกิจการนั้นๆทำให้สิ่งแวดล้อมและประชาชนได้รับความ เสียหายอย่างรุนแรง เราจะสั่งยกเลิกสัมปทานนั้นทันที
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว ที่ประชุมฯได้มีข้อกำหนดให้มีการประเมินติดตามอย่างละเอียดตลอดเวลา โดยมอบหมายให้ โดยกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องมีหน่วยงานในการประเมินติดตามตลอดแล้วรายงานกลับมาที่คณะกรรมการสิ่งแวด ล้อมแห่งชาติให้ได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนได้สั่งการให้มีการรายงานผ่านเว็บไชต์ อีกทั้งในการอนุมัติทุกโครงการ เจ้าของโครงการ/กิจการจะต้องมาชี้แจงด้วยตัวเองทุกครั้ง..

เตรียมเคาะสวัสดิการ-เบี้ยเสี่ยงภัยครูใต้


วันนี้ (24 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการเยียวยาบุคคลากรทางการศึกษาและ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการพิจารณาเรื่องเบี้ยเสี่ยงภัย ว่า  เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีเรื่องสวัสดิการของครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ เรื่องเบี้ยเสี่ยงภัย ซึ่งได้ข้อสรุปในหลายประเด็น ซึ่งจะเสนอให้คณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดภาคใต้(กพต.)ให้ความ เห็นชอบต่อไป จึงถือว่าเรื่องนี้มีความคืบหน้าไปมาก และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว เราจะแถลงให้ทราบรายละเอียดต่อไป  เมื่อถามว่างบประมาณที่จะต้องใช้ในเรื่องเบี้ยเสี่ยงภัย นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ประมาณหลักร้อยล้านบาท เมื่อดูตามข้อเสนอของครูที่ขอเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัย จากเดือนละ 2,500 บาท เป็น 3,500 บาท แต่ที่ประชุมยังไม่สรุปเป็นมติว่าตัวเลขจะออกมาอย่างไรขอให้ผ่าน กพต.ก่อน ทั้งนี้ ถ้าจะปรับเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยให้กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ก็ต้องพิจารณาครอบคลุมไปถึงหน่วยงานอื่นๆด้วย
              
เมื่อถามกรณีที่โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายแห่ง ประกาศปิดทำการเรียนการสอน เพราะหวั่นว่าจะเกิดเหตุขึ้นนั้น ได้ประสานเพื่อขอให้เร่งเปิดทำการสอนหรือไม่  นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ต้องดูความปลอดภัยของครูและนักเรียนเป็นสำคัญ ถ้าโรงเรียนบางแห่งมีความไม่มั่นใจและจะหยุดการสอนไปบ้าง ทางกระทรวงฯก็เข้าใจ และเราจะประสานงานกลับไปว่าครูในพื้นที่นี้ต้องการมาตรการอะไรเพิ่มเติม หรือสามารถร้องขอกำลังเจ้าหน้าที่ไปให้ดูแลคุ้มครองโรงเรียน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีความปลอดภัย และเปิดทำการสอนได้ตามปกติ ส่วนโรงเรียนที่หยุดก็ต้องทำการสอนชดเชย
นายพงศ์เทพ ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีปราสาทเขาพระวิหาร ว่า  นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมในวันที่ 25 ม.ค.นี้ เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตนจะสรุปประเด็นที่ไทยเตรียมยกเป็นข้อต่อสู้หลักในการชี้แจงด้วยวาจาต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก)ในคดีปราสาทพระวิหาร รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ ซึ่งมีหลายประเด็น อาทิ ประเด็นที่ว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ศาลโลกจะวินิจฉัย เพราะไม่ใช่การตีความคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม คณะทำงานเรื่องนี้ประกอบด้วย นักกฎหมายที่เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีประสบการณ์สูง และมีนักกฎหมายระดับอาจารย์สอนกฎหมายในต่างประเทศ อีกทั้งเคยทำคดีในศาลโลกมาแล้วจำนวนมาก เราถือว่ามีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ และตนยืนยันว่าเราสู้ทุกประเด็น
เมื่อถามว่าข้อกังวลว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาล กัมพูชา อาจทำให้ไทยอ่อนข้อกับกัมพูชา นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ต้องแยกแยะเรื่องความสัมพันธ์กับการปกป้องประโยชน์ของประเทศ  ความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและคนไทยทุกคน แต่ขณะเดียวกันเราต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศเกี่ยวกับคดีนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาก็ต้องแยกแยะเช่นเดียวกันด้วย และแต่ละฝ่ายต้องรักษาประโยช์ของประเทศตัวเองเต็มที่..

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources