วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

สถาบันพระปกเกล้าเสนอร่างรายงานการวิจัย 6 แนวทางสร้างความปรองดอง


วันนี้ (6 มี.ค.) ที่รัฐสภา  พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) สภาผู้แทนราษฎร  ได้แถลงผลการประชุมว่า สถาบันพระปกเกล้า ได้นำเสนอ (ร่าง)รายงานวิจัยฉบับย่อ “การสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ต่อ กมธ.ปรองดอง โดยกมธ.จะนำมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปที่สมบูรณ์ นำสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป  ทั้งนี้ กมธ.จะได้ขอขยายเวลาการประชุมออกไปอีก 30 วัน นับจากวันที่ 16 มี.ค.นี้   

นายชวลิต วิชยสุทธิ์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการ กมธ.ปรองดอง แถลงว่า ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า เห็นว่าสาเหตุแห่งความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยมาจากปัญหากลางที่ประกอบด้วย มุมมองต่อประชาธิปไตยที่แตกต่างกันทั้งขั้นอุดมการณ์และขั้นผลประโยชน์  ปัญหาพื้นฐานคือความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีตัวแปรคือการใช้อำนาจที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าไม่ชอบธรรม เช่น  การแทรกแซงกลไกการตรวจสอบ การรัฐประหาร ฯลฯ และความรุนแรงแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมวลชน สื่อมวลชน และกลุ่มต่างๆ เช่น นักการเมือง กลุ่มทุน นักวิชาการ แกนนำชุมชน ฯลฯ สำหรับแนวทางการสร้างความปรองดองคือ 1.รัฐบาลควรแสดงเจตจำนงทางการเมืองรวมทั้งมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างความปรองดองในชาติโดยเร็ว  2.รัฐบาลควรสร้างความตระหนักของทุกภาคส่วนในสังคมให้เห็นความสำคัญของการสร้างความปรองดองในชาติ  3.รัฐบาลควรเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในรูปของตัวเงินและความรู้สึก เช่น การยกย่องให้เกียรติผู้สูญเสีย หรือการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นที่ระลึกต่อบทเรียนต่อเหตุการณ์ทางการเมืองของสังคมไทย
นายชวลิต กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งคณะผู้ศึกษาได้เสนอแนวทางในระยะสั้น 4 แนวทาง คือ 1.การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย โดยการสนับสนุนคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ดำเนินการค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จภายใน6เดือน  ควรเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่ไม่ระบุตัวบุคคลในระยะเวลาทีเหมาะสม 2.การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดถึงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยใช้การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท  แต่คดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง จะไม่ได้รับการยกเว้น เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน  หรืออีกทางเลือก คือ การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้ง2ทางเลือกให้ยกเว้นกรณีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยให้กรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
นายชวลิตกล่าวต่อว่า 3. การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ถุกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความมเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยกำหนดทางเลือกคือ  ทางเลือกที่ 1ให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติโดยให้พิจารณาเฉพาะผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นผลลงและโอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ทางเลือกที่ 2 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ  ทางเลือกที่ 3 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและการตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใดจะต้องไม่มีการฟ้องร้อง คตส.ในเวลาต่อมา  4. การกำหนดกติกาทางการเมืองรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหลักและรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาหาข้อสรุปต่อประเด็นที่อาจจะขัดต่อหลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตย
นายชวลิต  กล่าวต่อว่า ระยะยาว มี 2 แนวทาง คือ1.การสร้างการยอมรับในมุมมองต่อประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน  2.การวางรากฐานของประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การเสริมสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมือง และการอยู่ร่วมกันในความแตกต่างควบคู่กันไป

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources