วันนี้ ( 6 มี.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน เพื่อรับฟังคำแถลงการณ์ปิดคำร้องและคำโต้แย้งคำร้องด้วยวาจาของฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ในกรณีที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย พร้อมคณะส.ส.เพื่อไทย 129 คน ยื่นคำร้องขอให้วุฒิสภามีมติให้นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา248 แต่ก่อนเข้าสู่การพิจารณานายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้ขอให้ประธานฯสั่งการให้ตรวจสอบกรณีมีบุคคลนำเอกสารมาแจก ส.ว.โดยอ้างว่าเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาถอนถอนนายภักดี ซึ่งไม่ได้อยู่ในขั้นตอนที่วุฒิสภาได้พิจารณาไปแล้ว ตามข้อบังคับไม่สามารถทำได้ อยากถามว่าประธานฯได้อนุญาตหรือไม่ ถ้าไม่ ขอให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาดำเนินคดี ซึ่งน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวสนับสนุนว่า ได้รับเอกสารนี้เช่นกัน สอบถามชื่อคนแจกทราบว่าชื่อ น.อ.กิตติทัศน์ นาเจริญ อยากให้ประธานฯสอบถามผู้ร้องว่าเป็นเครือข่ายเดียวกันหรือไม่ เพราะมียศ น.อ.เหมือนกัน ซึ่ง พล.อ.ธีรเดช กล่าวว่า จะให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาตรวจสอบ ทั้งนี้ น.ส.รสนาอภิปรายด้วยว่า มีส.ว.คนหนึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่ามีพยานฝ่ายผู้ร้องคนหนึ่ง ติดต่อกับส.ว.คนหนึ่ง ขอให้เป็นผู้รวบรวมเชิญ ส.ว.ไปรับประทานอาหารที่บ้านของพยานคนนั้น ก็ฝากไว้เป็นข้อมูลด้วย
จากนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ ได้แถลงการณ์ปิดคดีพร้อมฉายวีดีทัศน์ที่เป็นการเรียบเรียงพฤติกรรมของนายภักดี ตามข้อกล่าวหาว่ากระทำขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยในประเด็นสำคัญ คือ การรับเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์ในกระทรวงสาธารณสุขของนายภักดี ทั้งที่ตัวเองเคยเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดทำทีโออาร์ ของบประมาณ และขออนุมัติโครงการจัดซื้อจัดจ้างจาก ครม. เท่ากับรู้เห็นเหตุการณ์คดีที่ตัวเองรับไต่สวนมาตั้งแต่ต้น ถือว่าขัดต่อพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. มาตรา 46 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และนายภักดีไม่ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการบริษัท ไทยวัฒนา ฟาร์มาซูติคัล เด็กซ์โทรส จำกัด ตามระยะเวลาที่ประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 กำหนด จนถึงปัจจุบันนายทะเบียนกรมธุรกิจการค้ายังยืนยันว่านายภักดีคงเป็นกรรมการฯอยู่ ถือว่ากระทำขัดพ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา11(3) นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าไปเป็นประธานกรรมการมูลนิธิวิจัยและพัฒนาระบบยา ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของรัฐ ร่วมทำกิจกรรมมาตลอด ถือว่าขัดต่อพ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 11 (2) และยังมีชื่อนายภักดีได้รับโบนัสจากองค์การเภสัชกรรมในปี2551 กว่า 88,000 บาท นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ถูกแต่งตั้งเมื่อวันที่22 ก.ย.2549 แต่นายภักดียังลงนามในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จนถึงวันที่ 29 ก.ย.2549 ทั้งที่มีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว การไปลงนามดังกล่าวกระทำในสถานะไหน
นายภักดี โพธิศิริ ป.ป.ช. แถลงคำโต้แย้งว่า ยืนยันว่าไม่มีพฤติกรรมตามที่ถูกกล่าวหา โดยข้อกล่าวหาว่ายังดำรงตำแหน่งใน บริษัทไทยวัฒนาฯนั้น เมื่อได้รับโอกาสเป็น ป.ป.ช. ต้องรีบทำตามกฎหมายกำหนด คือรีบลาออกทันทีผ่านองค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งตน มีสมุดบันทึกรับส่งเป็นเอกสารหน่วยราชการถูกต้อง มีการตอบรับที่ทำการไปรษณีย์ดุสิต และการรับเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนนั้น เพราะตนยังไม่มีส่วนรู้เห็นในการประกวดราคา และมีคำสั่งยกเลิก โดยใช้หลักการของศาลที่เคยพิพากษาไว้ คือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง และไต่สวนโดยยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด การแถลงปิดคำร้องผู้ร้องได้ยกพยานหลักฐานใหม่มาอ้าง ข้อกล่าวหาว่ารับโบนัสจากองค์การเภสัชกรรมนั้น เป็นการทำตามขั้นตอนปกติที่รัฐวิสาหกิจต้องส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาผลงาน ก่อนที่รับอนุมัติจ่ายโบนัสให้คณะกรรมการฯ ภายใน 1 ปี ซึ่งการจ่ายเงินโบนัสดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. เงินโบนัสปี 2551 เกิดจากมีการคำนวณตัวเลขเงินโบนัสปี 2550 ผิดพลาดจึงต้องแก้ไข ไม่ใช่การรับเงินโบนัสหลังพ้นตำแหน่งไปแล้ว และยอมรับว่าได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการมูลนิธิวิจัยและพัฒนายาจริง แต่มูลนิธิดังกล่าวจดทะเบียนชัดเจนไม่ใช่องค์กรที่แสวงหากำไร ซึ่งตนได้รับทาบทามจาก นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ให้มารับหน้าที่ต่อ แต่มูลนิธินี้ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
นายภักดีกล่าวต่อว่า เชื่อว่าฝ่ายผู้ร้องและพวกซึ่งเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง มีเจตนารมณ์ยับยั้งกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีทุจริตคอมพิวเตอร์กระทรวงสาธารณสุข ผลการพิจารณาของวุฒิสภา หากเป็นไปตามที่ผู้ร้องและพวกคาดหวัง การไต่สวนคดีดังกล่าวต้องถูกระงับและทบทวนพยานหลักฐานใหม่ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ร้องและพวกจะไม่หยุดอยู่ที่ความพยายามให้ตนพ้นจากตำแหน่งเท่านั้น หากผลการพิจารณาของวุฒิสภาเป็นไปตามที่คาดหวัง ผู้ร้องและพวกจะมีความพยายามก้าวต่อไป ในการบั่นทอนทำลายองค์กร ป.ป.ช. โดยการดำเนินการในทำนองเดียวกันกับ ป.ป.ช.ที่เหลือ เป็นเรื่องน่าห่วง เพราะได้ดำเนินการเป็นขั้นตอนเพื่อทำลายองค์กรป.ป.ช. ตั้งแต่ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้องอาญา ป.ป.ช. ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อไม่สำฤทธิ์ผลจึงใช้วุฒิสภาเป็นเครื่องมือ โดยอาศัยอิทธิพลทางการเมืองของพวก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายภักดีแถลงคำโต้แย้งคดีจบ พล.อ.ธีรเดชได้นัดประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ ในวันที่ 9 มี.ค. เพื่อให้ส.ว.ลงมติต่อไปว่าจะให้นายภักดีพ้นจากตำแหน่งหรือไม่
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น