วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

จิ้มพื้นที่แก้มลิง3.7ล้านไร่ ยกถนนทำฟลัดเวย์


วันนี้ (6 มี.ค.) นายสมเกียรติ ประจำวงศ์ ผอ.สำนักบริหารโครงการชลประทานขนาดใหญ่ กรมชลประทาน ในฐานะคณะทำงานจัดหาพื้นที่รับน้ำนอง เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานฯว่าพื้นที่รับน้ำนองหรือแก้มลิง ได้สรุปพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นที่พักน้ำหลากชั่วคราวได้แล้ว มีจำนวน 3.7 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทุ่งนาในพื้นที่ลุ่มต่ำสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 1 ล้านไร่ และพื้นที่ทุ่งนาเจ้าพระยาตอนล่างอีก 2.7 ล้านไร่ ซึ่งเป็นที่มีศักยภาพและมีระบบชลประทานควบคุมน้ำไหลเข้าและไหลออกได้ และสามารถระบายออกได้อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำในพื้นที่รับน้ำเหล่านี้มีปริมาณน้ำที่สูงเกินไป ซึ่งศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าวสามารถพักน้ำไว้ได้ 3 เดือนโดยเฉลี่ยความลึกแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันตั้งแต่ระดับ 50 เซนติเมตรถึง 2.50 เมตร ยืนยันว่าในปี 2555 หากการบริหารจัดการน้ำเป็นตามแผนทั้งหมดแม้ว่าจะเกิดพายุ 2 ลูก เข้าประเทศไทย ปริมาณน้ำจะไม่สูงมากจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน หรือท่วมหนักเท่ากับปี 2554 แน่นอน ทั้งนี้ได้มอบให้ได้ให้สถาบันเอไอที นำไปทำแบบจำลองลักษณะการไหลของน้ำ ปริมาณน้ำ การระบายน้ำ เพราะไม่ต้องการให้พื้นที่รับน้ำนอง มีปริมาณน้ำสูงเกินไปอาจจะเสี่ยงเข้าท่วมชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจได้ เมื่อได้ความชัดเจนในเรื่องระดับน้ำและมาตรการเยียวยาให้กับเกษตรกรที่เหมาะสม ก็พร้อมนำเสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายหลังกลับจากไปเยือนประเทศญี่ปุ่นทันที

เมื่อถามว่า ชาวบ้าน อ.บางปะหัน อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต่างเร่งยกบ้านหนี้น้ำ เพราะกลัวว่าน้ำจะเข้าท่วมมากกว่าปี 2554เนื่องจากต้องเป็นที่รับน้ำนองด้วยนั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ชาวบ้านแตกตื่นกันมากเกินไป ควรจะรอให้เกิดความชัดเจนว่าพื้นที่ตรงไหน ต้องรับน้ำเท่าไหร่ ภายในสัปดาห์หน้ากระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ จะลงพื้นที่ทั้งหมดเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงมาตรการทั้งหมด ขณะนี้รอเพียงระดับน้ำที่จะเข้าไปในแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจนก่อน จะมีการกำหนดออกมาเป็นแต่ละตำบลแต่ละพื้นที่อย่างละเอียด อย่างไรก็ตามพื้นที่เหล่านี้เป็นที่ท่วมประจำทุกปีเมื่อมีแผนบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนแล้วมั่นใจว่าปริมาณน้ำไม่มากเพราะได้เฉลี่ยน้ำอยู่ในทุ่งถึง 19 จังหวัด รับปริมาณน้ำ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
รายงานข่าวเปิดเผยว่าพื้นที่รับน้ำนอง 3.7 ล้านไร่ประกอบด้วย 19 จังหวัด 93 พื้นที่ 609 ตำบล ได้แก่ กำแพงเพชร มีพื้นที่รับน้ำ 3 อำเภอ 5 ตำบล ฉะเชิงเทรา 2 อำเภอ 8 ตำบล ชัยนาท 4 อำเภอ 25 ตำบล นครนายก 1 อำเภอ 5 ตำบล นครปฐม 3 อำเภอ 27 ตำบล นครสวรรค์ 7 อำเภอ 39 ตำบล ปทุมธานี 3 อำเภอ 6 ตำบล พระนครศรีอยุธยา 14 อำเภอ 143 ตำบล พิจิตร 10 อำเภอ 61 ตำบล พิษณุโลก 6 อำเภอ 38 ตำบล ลพบุรี 3 อำเภอ 34 ตำบล สมุทรปราการ 1 อำเภอ 6 ตำบล สระบุรี 7 อำเภอ 28 ตำบล สิงห์บุรี 6 อำเภอ 43 ตำบล สุโขทัย 5 อำเภอ 7 ตำบล สุพรรณบุรี 7 อำเภอ 52 ตำบล อ่างทอง 7 อำเภอ 73 ตำบล อุตรดิตถ์3 อำเภอ 7 ตำบล และอุทัยธานี 1 อำเภอ 2 ตำบล

พร้อมกันนี้แหล่งข่าวได้เปิดเผยกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่าได้แนวฟลัดเวย์แล้วนั้น เป็นแนวฟลัดเวยตามข้อเสนของทนายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดยอยู่บริเวณด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มต้นจากแนวคลองรังสิต ประยูรศักดิ์ จะทำเป็นฟลัดวอลล์ หรือกำแพงกันน้ำท่วมซึ่งเป็นแนวใหม่เพิ่มจากแนวคันพระราชดำริ และเสริมถนนแนวคันกันน้ำต่อไปยังถนนเลียบคลอง 7 ออกถนนลำลูกกา วิ่งตามแนวถนนนิมิตรใหม่ วิ่งไปออกถนนรามอินทรา จากนั้นเป็นทางน้ำตรงขนานกับถนนมอเตอร์เวย์ ไปออกทะเล

ด้านแนวฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน โดยนายชูเกียรติ จะทำคันล้อมพื้นที่ห้ามท่วมโดยใช้การเสริมถนนแนวคลองพระยาบันลือ แนวคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ให้สูงขึ้นอีกประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้แม่น้ำท่าจีน ไหลบ่าเข้าไปท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ห้ามท่วม ซึ่งแนวฟลัดเวยทั้งสองฝั่งจะเป็นการป้องกันพื้นที่ห้ามท่วม 6 จังหวัด คือเขตเศรษฐกิจ เขตนิคมอุตสาหกรรม เขตชุมชนที่พักอาศัย ในจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร โดยกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ตั้งงบประมาณไว้ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า หลังจากได้พื้นที่แก้มลิงทั้งหมดและกำหนดมาตรการเยียวยาที่เป็นธรรมแล้ว มีแผนจะนำเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าในวันที่ 12 มี.ค. และนำเข้า ครม ในวันที่ 20 มี.ค. เพื่อเห็นชอบแนวทางการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและประกาศห้ามทำการเกษตร 3 เดือน แต่ขณะนี้มีปัญหาทางข้อกฎหมายว่าจะประกาศกฎหมายอะไรที่สามารถใช้อำนาจประกาศ บังคับให้เกษตรกรพักทำการเกษตรในพื้นที่รับน้ำนองเป็นเวลา 3 เดือนได้ จะเป็นการรอนสิทธิประชาชน โดยมีการหารือกันแล้วสรุปว่าไม่สามารถใช้อำนาจของรัฐมนตรีเกษตรหรือกฎ กระทรวงในประกาศการห้ามทำนาไม่ได้ จึงต้องใช้ประกาศตามอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องไปดูว่าจะใช้กฎหมายใดมาบังคับได้ในขณะนี้กำลังหาทางออกเรื่องนี้ว่า จะใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ เพื่อการประกาศออกเป็นมติ ครม.ออกมารองรับห้ามเกษตรกรทำนาและอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาได้
แหล่งที่มาข้อมูลเดลินิวส์

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources