วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

ชก "วรเจตน์" หมัดสะท้อนจุดเสื่อมเสรีภาพ-วิกฤตสังคมไทย?



 รณี 2 คนร้ายคู่แฝดบุกทำร้าย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ถึงในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพราะไม่พอใจการเคลื่อนไหวแก้ไขมาตรา 112 นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้กำลังตัดสินบุคคลที่มีความเห็นแตกต่าง

 แวดวงวิชาการมีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวไว้อย่างสนใจดังนี้ 

-----------

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 

 ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวคนที่ใช้กำลังทำร้ายนายวรเจตน์

 แต่อยู่ที่สังคมไทยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมากำลังเผชิญกับบรรยากาศที่คนในสังคมถูกทำให้เกลียดชังกัน

 เป็นบรรยากาศที่น่ากลัว มีการยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงกับคนที่เห็นต่าง ไม่ว่าสื่อ นักวิชาการ นักการเมือง และองค์กรประชาชน ซึ่งมีส่วนต่อการสาดน้ำมันเข้ากองไฟ คนและกลุ่มคนเหล่านี้สมควรอย่างยิ่งที่จะถูกประณาม

 คนส่วนมากในสังคมต้องช่วยกันทำให้บรรยากาศแห่งความรุนแรงในสังคมหมดไป พวกที่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทำร้ายฝ่ายตรงข้ามต้องหยุดคิด

 ความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สามารถถกเถียงกันได้ตามเหตุและผลที่แต่ละฝ่ายเชื่อ ส่วนความแตกต่างที่ดำรงอยู่ในสังคมจะนำไปสู่การรัฐประหารหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้

 เเต่นาทีนี้ไม่มีทหารคนไหนกล้าทำรัฐประหาร เพราะรัฐประหารปี 2549 เป็นเครื่องยืนยันเเล้วว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาความแตกแยกทางสังคมได้ ถูกคนจำนวนมากต่อต้าน และไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมโลก

 การรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ของนิติราษฎร์ที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวตามกรอบที่กฎหมายกำหนด แสดงความคิดเห็นที่สุจริตตรงไปตรงมา คนที่ไม่เห็นด้วยควรอดทนและมีขันติธรรมอย่างสูงกับคนที่เห็นต่าง

 ที่สำคัญต้องหัดศึกษาและเรียนรู้ความเห็นต่างอย่างเข้าใจ หวังว่ากรณีนายวรเจตน์จะเป็นตัวอย่าง

 การแสดงความคิดเห็นของนิติราษฎร์ต่อจากนี้สามารถทำได้ ตราบใดที่ความคิดเห็นนั้นไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือให้ร้ายใครแต่ผู้เคลื่อนไหวต้องประเมินสถานการณ์ความของปลอดภัยด้วย 

 การแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยของม.ธรรมศาสตร์เป็นสิ่งถูกต้อง แต่มหาวิทยาลัยต้องเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันทุกๆ เรื่องอย่างเสรี ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม



กิตติศักดิ์ ปรกติ 
คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

 หากเป็นการคุกคามของผู้ที่มีความเห็นต่าง พฤติกรรมเช่นนี้เป็นอันตราย ขัดต่อพื้นฐานการปกครองเพราะสังคมประชาธิปไตยยอมรับการอยู่ร่วมกันด้วยความเห็นที่แตกต่าง ยอมรับความเห็นใหม่ๆ

 เหตุการณ์ที่เกิดในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ แต่เป็นการคุกคามที่บั่นทอนความเชื่อถือและความไว้วางใจ ในฐานะผู้แสวงหาความรู้

 ความผิดลักษณะนี้ในทางกฎหมายอาญา ต้องได้รับบทลงโทษหนักที่สุด และด้วยมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่สงวนไว้ให้ศึกษาหาความรู้ จึงเป็นยิ่งกว่าการทำร้ายโดยทั่วไป นอกจากนี้คู่กรณียังไตร่ตรอง วางแผน และเตรียมการไว้ล่วงหน้าด้วย

 สังคมต้องช่วยกันสั่งสอนให้รู้ว่าการกระทำดังกล่าวทำให้เสรีภาพแคบลงอย่างเห็นได้ชัด แต่คงไม่ถึงขั้นซ้ำเติมรอยร้าวเพราะความแตกแยกของสังคมมีอยู่นานแล้ว

 เป็นการส่อพฤติกรรมที่ด้อยการศึกษาและป่าเถื่อนของบุคคลมากกว่า หรือส่วนหนึ่งอาจมาจากการยุยงของสังคมที่ส่งเสริมทัศนคติหรือสิ่งผิดๆ ให้กับบุคคลที่อ่อนปัญญา กระทั่งถูกจูงใจให้กระทำการอันไม่ควร

 ไม่เกี่ยวกับการแสดงความเห็นทางวิชาการ หลายประเด็นทั้งล่อแหลมและไม่ล่อแหลม โดยพื้นฐานแล้วต้องนำหลักการมาร่วมกับการแสดงแนวความเห็นของประเด็นนั้นๆอยู่แล้ว

 แม้บางครั้งอาจมีประเด็นที่มาจากกระแสความขัดแย้งหรือความเห็นที่ต่างกัน แต่นั่นคือสิ่งที่ประชาธิปไตยยอมรับ เพื่อนำไปเป็นข้อโต้แย้งในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า

 มหาวิทยาลัยจะเป็นกำลังใจให้นายวรเจตน์ ให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้คงต้องดูแลความสงบเรียบร้อยให้มากขึ้น

 อาจจัดระเบียบการเฝ้าระวังความไม่สงบขึ้นใหม่ได้


ทวี สุรฤทธิกุล
สาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช 

 กรณีนายวรเจตน์สร้างความสะเทือนขวัญให้คนในแวดวงวิชาการ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ออกแถลงการณ์เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการคุกคามและสร้างความรุนแรงให้โหมกระพือ จงใจยั่วยุให้ปะทะกัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

 แต่คงไม่นำไปสู่ความรุนแรงของคน 2 กลุ่มที่คิดเห็นแตกต่างกัน เป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล การเลียนแบบก็คงยาก อยู่ที่นิสัยของคนมากกว่า

 อย่างคู่แฝดที่ทำร้ายนายวรเจตน์มีนิสัยก้าวร้าว นักเลง มีประวัติในเรื่องความรุนแรง ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ใช้ความรุนแรง การออกมาชุมนุมประท้วงก็เพื่อแสวงหาความรู้ความเข้าใจมากกว่าออกไปหาเรื่อง

 คงไม่ถึงขั้นเกิดวิกฤตความขัดแย้งจนนำไปสู่การรัฐประหาร กรณีนายวรเจตน์จะทำให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดดูแลรักษาความปลอดภัย

 ความอดทนเป็นทางออกของปัญหาความแตกแยก ขอให้เราฟังคำอธิบายและเหตุผลของฝ่ายตรงข้ามอย่างตั้งอกตั้งใจ อย่าใช้อารมณ์ปลุกระดมกันให้ใช้ความรุนแรง

 กรณีสังคมออนไลน์เห็นด้วยกับการทำร้ายนายวรเจตน์นั้น คนพวกนี้ก็เป็นพวกหลบเลี่ยงความรุนแรงอยู่เเล้ว การแสดงอารมณ์ดังกล่าวเพื่อระบายอารมณ์มากกว่า

 การเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์เป็นเสรีภาพที่กระทำได้ แต่ที่ผ่านมาเสรีภาพของพวกเขาไปกระทบกับคนอื่นในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนบางส่วนในสังคมไม่ยอมรับ

 ส่วนการเคลื่อนไหวประเด็นล่อแหลม เช่น ม.112 นั้น ควรนำเสนอเป็นเอกสารจะปลอดภัยที่สุด หรือทำใส่แผ่นซีดี ผ่านเว็บไซต์ แต่หากจัดอภิปรายหรือชุมนุมคนขึ้นมาจะมีการเรียกแขก มีคนแทรกซึม เกิดปัญหาก่อกวน เกิดการปะทะกันได้


พวงทอง ภวัครพันธุ์ 
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 

 กรณีนายวรเจตน์น่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

 1.ผลจากกระแสการให้ข้อมูลที่ผิดๆ

 และ 2.สังคมไม่เปิดใจรับฟังหรืออ่านข้อเสนอต่างๆของนิติราษฎร์แล้วตัดสินว่าเป็นการล้มเจ้า ส่งผลให้คนบางกลุ่มเคลื่อนไหวกดดัน

 ถือเป็นวิกฤตของสังคมที่คับแคบทั้งจิตใจและสติปัญญา การใช้อารมณ์และความเกลียดชังซึ่งอาจเป็นที่มาของการทำร้ายนายวรเจตน์ เชื่อว่าน่าจะมีผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

 เพราะในโซเชี่ยลมีเดียแสดงความชื่นชอบกันเยอะมาก เป็นเรื่องที่น่ากลัว คุกคามสิทธิเสรีภาพ ใช้ความรุนแรงปิดกั้นการแสดงความเห็นที่แตกต่าง

 จะมีการลอกเลียนแบบเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ไม่ทราบ แต่ฝากเตือนว่าอย่าทำเลย คนเรามีทั้งคนรักและคนเกลียด เช่นเดียวกับนายวรเจตน์ที่มีทั้งคนที่รักและคนที่เกลียด ทั้งหมดนี้อาจนำพาไปสู่การตอบโต้ที่รุนแรงได้

 ขอถามกลับว่าปัญญาชนคนไทยหมดปัญญาที่จะถกเถียงกันด้วยปัญญา หลักการและเหตุผลแล้วหรือถึงใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาหรืออารมณ์

 แม้รอยแตกร้าวของสังคมจะมีมาตลอดและมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การตอบโต้หรือใช้ความรุนแรงไม่ได้นำไปสู่ทางออกที่ดีได้

 ที่ผ่านมาการแสดงความเห็นทางวิชาการล้วนมีหลักการมารองรับกับประเด็นนั้นๆอยู่แล้ว ซึ่งหลักการหนึ่งที่ถือเป็นจรรยาบรรณของนักวิชาการคือ การไม่โจมตีบุคคลหรือสถาบันเป็นการส่วนตัว

 หลังจากนี้มหาวิทยาลัยควรสร้างมาตราการทางด้านความปลอดภัยให้มากขึ้น แต่อาจไม่ง่ายนักเพราะธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเปิด และเป็นเอกลักษณ์ที่ใครจะเดินเข้าออกได้ตลอดเวลา แต่ก็ควรจะทำ

 นอกจากนี้คณะนิติศาสตร์ควรเข้าไปช่วยดูแลคดีของนายวรเจตน์ด้วย 




  • ภาพ : วรเจตน์ ภาคีรัตน์

  • 0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

    แสดงความคิดเห็น

    หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

    Blog Archive

    Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources