วันนี้ (9 มี.ค.) ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ นายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอนุภาพ เกสรสุวรรณ์ รองอธิบดีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พ.ต.อ.ศุภพล อรุณสิทธิ์ รอง ผบก.ทท. เดินทางมาเยี่ยมอาการชาวต่างชาติ 2 รายที่มาพักรักษาตัวจากกรณีเหตุไฟไหม้ ที่โรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว ซอยสุขุมวิท 22 เมื่อกลางดึกของวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมาโดยมี ผศ.นพ.อภิชัย อังสพัทธ์ ผช.ผอ. รพ.จุฬาฯ ด้านผู้ป่วยวิกฤติแพทย์เจ้าของไข้ รอต้อนรับและร่วมกันตรวจเยี่ยมผู้ป่วยชาวต่างชาติ 2 ราย
ผศ.นพ.อภิชัย เปิดเผยว่า รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้รักษาผู้ป่วยชาวต่างชาติจากเหตุไฟไหม้โรงแรม แกรนด์ ปาร์ค อเวนิว เมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. (วันที่ 8 มีนาคม 2555) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้รับผู้ป่วยชาวต่างชาติจำนวน 2 ราย และผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย ผู้ป่วยรายแรกเป็นหญิงชื่อ มารีนา แชร์คาชิน อายุ 54 ปี สัญชาติรัสเซีย มีอาการสำลักควัน มีแผลฉีกขาดเล็กน้อยที่ศีรษะ มีแผลที่แขนด้านขวา มีรอยแดง (Burn ระดับ 1) บริเวณหลัง และมีปัญหาการเต้นของหัวใจ ขณะนี้รักษาตัวอยู่ ห้องสังเกตุอาการ ตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ ชั้นที่ 3
ผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชาย ชื่อ นายเยฟกานี เซอร์จิน อายุ 39 ปี มีอาการหนักกว่ารายแรก เนื่องจากสูดควันไฟเข้าไปเป็นจำนวนมาก ดูดเสมหะออกมามีเขม่าควันไฟติดออกมาด้วย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและคงต้องใส่อยู่อย่างน้อยอีก 3 วัน เพื่อช่วยเรื่องของระบบทางเดินหายใจจากควันไฟ แต่ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่ตึกมงกุฎเพชรรัตน ชั้นที่ 3
ส่วนผู้เสียชีวิตเป็นหญิงชาวต่างชาติ ไม่ทราบชื่อและสัญชาติ เสียชีวิตแล้วเมื่อมาถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กำลังรอการชันสูตรจากแพทย์ของศูนย์อำนวยการชันสูตรพลิกศพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้านนายสุวัตร เผยว่า จากเหตุไฟไหม้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 20 คน และมีผู้เสียชิวิตหญิง 1 คน แต่ไม่ทราบชื่อและสัญชาติ นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบรายชื่อของนักท่องเที่ยวอีกหลายคน วันนี้ตนและคณะเดินทางมาดูนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่บาดเจ็บได้รับสิทธิ และให้มั่นใจ ผู้บาดเจ็บกระจายพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.กล้วยน้ำไท รพ.เทพธารินทร์ รพ.กลาง และ รพ.จุฬา ส่วนใหญ่จะสำลักควันและถูกไฟลวกตามร่างกาย ทางกระทรวงจึงเดินทางมาดูแลสวัสดิการต่างๆ และจะประสานกับบริษัททัวร์ที่คนเจ็บเป็นลูกทัวร์ให้เข้ามาดูแลเรื่องตวามสะดวก ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเองไม่ผ่านบริษัททัวร์ ซึ่งเป็นจุดบอดของ พรบ.ธุรกิจท่องเที่ยว แต่อุบัติเหตุครั้งนี้ทางโรงแรมมีประกันฯอยู่แล้วดังนั้นผู้บาดเจ็บทุกรายไม่ต้องวิตกเรื่องค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเร่งจัดหาล่ามแปลภาษาเนื่องจากคนไข้ไม่สามารถสื่อสารกันได้
ส่วนความคืบหน้า ที่ โรงแรมแกนด์ ปาร์ค อเวนิว กรุงเทพ ยังคงปิดให้บริการ โดยมีการนำเชือกมากั้นบริเวณหน้าทางเข้าเอาไว้ไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป ส่วนลูกค้าที่เข้าพักในโรงแรม แล้วไม่ได้รับบาดเจ็บก็ได้ทยอยกันเช็กเอาท์ เก็บข้าวของออกจากโรงแรม มีบางรายที่ต้องการพักอยู่ที่โรงแรมต่อ ซึ่งทางโรงแรมได้ย้ายให้ไปพักอยู่ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนสปาร์ค ก่อน
ขณะเดียวกันทางสำนักงานเขตคลองเตยได้นำประกาศเรื่องห้ามใช้อาคารอันอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน มาติดไว้โดยรอบโรงแรม โดยมีข้อความระบุว่า "เนื่องจากได้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว กรุงเทพ สูง 15 ชั้น ตั้งอยู่เลขที่ 30 ซอยสุขุมวิท 22 แขวงคลองเตย และเขตคลองเตย ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัย เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2555 สำนักงานเขตคลองเตยจึงแจ้งความมายังเจ้าของหรือผู้ครองครองอาคารดังกล่าวว่าห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหรือใช้อาคารตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบอาคารด้านความปลอดภัยจากวิศวกรโยธา ผู้เชี่ยวชาญหรือสถาบันที่เชื่อถือได้ หากฝ่าฝืนมีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละสามหมื่นบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน"
ด้าน นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ ผอ.เขตคลองเตย พร้อมเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตคลองเตย เจ้าหน้าที่สำนักการโยธาฯ เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เจ้าหน้าที่จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางเข้าตรวจสอบบริเวณจุดเกิดเหตุบนห้องจัดเลี้ยงบนชั้นที่ 5 ของโรงแรม เพื่อหาสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งความเสียหายของโรงแรมที่ถูกเพลิงไหม้ โดยภายหลังเปิดเผยว่า ต้นเพลิงอยู่บริเวณห้องจัดเลี้ยงชั้นที่ 5 เพลิงไหม้วัสดุอุปกรณ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ตกแต่ง รวมทั้งพรม โดยขณะเกิดเหตุห้องจัดเลี้ยงดังกล่าวนั้นถูกปิดอยู่ ไม่ได้ใช้งาน เพลิงไหม้ทำให้เกิดควันจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ได้รับบาดเจ็บสำลักควันจำนวนมาก
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่า กทม.เดินทางเข้ามาตรวจสอบภายในโรงแรมที่เกิดเหตุ โดยใช้เวลาในการตรวจประมาณ 1 ชั่วโทง ก่อนเปิดเผยว่า จากการเข้าตรวจสอบของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญแล้วพบว่า อาคารดังกล่าวสูง 17 ชั้น มีการขออนุญาตต่อเติมในปี 2532 หลังจากนั้นก็ยื่นหนังสือขอดัดแปลงอาคารในปี 2535 โดยทางกทม.ได้อนุญาตในปี 2536 ในการต่อเติมส่วนอื่นๆ ทั้งนี้จากการตรวจสอบห้องพักและบริเวณอื่นๆ ในโรงแรมนั้นพบว่ามีสปริงเกอร์ทั้งหมด แต่จุดเกิดเหตุภายในห้องจัดเลี้ยงนั้นไม่มีสปริงเกอร์ รวมทั้งความสูงระหว่างพื้นและเพดานนั้นเตี้ยมากจนผิดสังเกตุ ด้านหลังของห้องนั้นสามารถทะลุเข้าไปยังลานจอดรถได้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการแอบต่อเติมดัดแปลงในภายหลัง จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักการโยธาเข้าไปตรวจสอบอีกครั้งว่ามีการต่อเติมหรือไม่
นายธีระชน ยังกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับกรณีที่ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้นั้น ผู้ตายเพิ่งมาเสียชีวิตในช่วงเช้า เนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยช่วงเกิดเหตุที่ได้นำส่งโรงพยาบาลไปนั้นยังหมดสติอยู่ นอกจากนี้ยังพบคราบเลือดติดอยู่ภายในโรงแรมด้วย ซึ่งคาดว่าผู้ได้รับบาดเจ็บน่าจะทุบกระจกหลบหนีออกมา ทั้งนี้ทางกทม.จะตั้งชุดตรวจสอบอาคารจำนวน 50 ชุด ประกอบด้วย 4 ส่วนด้วยกันคือ เจ้าหน้าที่การโยธาฯ เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่เทศกิจ และสำนักงานเขตฯ ร่วมกับภาคเอกชน เข้าไปตรวจสอบอาคารทั้งหมดที่สร้างก่อนและหลังปี 2535 โดยภายในใน 1 ต.ค.นี้ จะเริ่มทำการตรวจสอบอาคารทั้งหมด 50 เขต ว่ามีใบอนุญาตใบดัดแปลงหรือต่อเติมอาคารหรือไม่ หากไม่พบก็จะมีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ถ้าเป็นรายวันก็ปรับวันละ 10,000 บาท ทั้งนี้ทางกทม.จะรอผลการประชุมของสภากทม.ว่าควรจะมีการกำหนดโทษเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ยื่นแบบดัดแปลงอาคารแล้วยังไม่ปฏิบัติแก้ไขตัวอาคารตามที่ได้ยื่นแบบหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นมาอีก เนื่องจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้นั้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ด้านนายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วันนี้ทางวิศวกรรมสถานฯนั้น จะเข้ามาตรวจดูว่า ทำไมเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้นั้น ควันไฟจึงแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วจนทำให้เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายราย ซึ่งจากการตรวจสอบก็พบว่า มีบันไดทางขึ้นลงหลักของโรงแรมติดอยู่กับลิฟท์และห้องจัดเลี้ยง แต่ไม่มีผนังหรือประตูกั้นบริเวณบันไดระหว่างชั้นจึงทำให้ควันไฟลอยขึ้นไปยังชั้นอื่นและกระจายไปทั่วโรงแรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือว่าเป็นข้อบกพร่องของอาคารเก่าที่บันไดไม่มีประตูหรือผนังกั้นบันไดทางขึ้นหลักอยู่
นายพิชญะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่าห้องพักแต่ละชั้นนั้นแบ่งโซนออกเป็น 3 ฝั่ง แต่บันไดหนีไฟของโรงแรมที่มีอยู่นั้นมีอยู่เพียงฝั่งเดียว และมีลักษณะไม่ถูกต้องเนื่องจากแคบ ส่วนห้องพักอีก 2 ด้านนั้น ไม่มีบันไดหนีไฟอยู่ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้จึงทำให้แขกที่พักอยู่ในห้องอีก 2 ฝั่งนั้น ต้องวิ่งออกมาหาบันไดหนีไฟที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมีความห่างเกิน 10 เมตร ไม่ถูกต้องถามกฎข้อบังคับของกทม.ปี 2544 อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบในเรื่องความเสียหายเบื้องต้นพบว่า ห้องจัดเลี้ยงจุดเกิดเหตุนั้นเสียหายมากที่สุด นอกจากนั้นก็บริเวณชั้น 5-6 ส่วนชั้นอื่นๆ นั้นได้รับความเสียหายไม่มากนัก ส่วนความเสียหายในเรื่องโครงสร้างนั้นต้องให้ทางวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงสร้างอาคารเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น