วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

ปรองดอง บนสถานการณ์ ที่ไม่เห็นฝั่ง ปมใหม่ ตรวจสอบ ระบบการตรวจสอบ


สถานการณ์ ’การเมือง“ ห้วงนี้มีความสงบนิ่งอยู่ แต่เป็นความสงบนิ่งในลักษณะ “น้ำนิ่งแต่ไหลลึก”

ในมุมของรัฐบาล การไป ’โรดโชว์“ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่นของ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น่าจะสร้างความมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า รัฐบาลน่าจะ ’เอาอยู่“ กับอาการหวาดผวาของนักลงทุนที่ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ ’มหาอุทกภัย“ ที่ผ่านมา ให้เบาใจไปได้เปลาะหนึ่งว่า อย่างไรเสียรัฐบาลก็ทำทุกทางเท่าที่จะทำได้เพราะไม่ให้เกิด ’ซ้ำสอง“ ขึ้นเป็นแน่ ขณะที่ ’ฝ่ายตรวจสอบ“ นอกจากจะตั้งคำถามถึงความชัดเจนในแผนสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาล ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับ ’ราคาสินค้า“ ที่ขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ผูกโยงกับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลเป็นสำคัญ

การตอบโต้ การแสดงความเห็นทางการเมืองยังมีอยู่ แต่เปลี่ยนจังหวะจากเรื่อง ’ไกลตัว“ ให้มาอยู่ ’ใกล้ตัว“ เพื่อให้จับต้อง เพื่อให้รู้สึกได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะ ’ความสำเร็จ“ หรือ ’ความล้มเหลว“ ของรัฐบาลถือเป็น ’ปัจจัย“ สำคัญที่จะชี้ว่า การพยายามขับเคลื่อนการเมืองผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่เริ่ม ’เดินเครื่อง“ อยู่ในตอนนี้นั้น จะถึงเป้าหมายที่ตั้งธงไว้หรือไม่

2 เรื่องบนสถานการณ์เดียวกัน อย่างการแถลงของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่พูดถึงรายงานการวิจัย “การสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ของสถาบันพระปกเกล้า ที่เสนอแนวทางไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

’เนื้อหา“ ระบุคร่าว ๆ ว่า แนวทางจัดการ ’ความขัดแย้ง“ ระยะสั้น ต้องทำ 1. จัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย โดยการสนับสนุน คณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ  (คอป.) ให้ค้นหาความจริงให้เสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่ คอป.จะหมดวาระ 2. ให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรม ใน 2 ทางเลือกคือ ก. ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท ข.ออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรมเฉพาะความผิดตาม พ.ร.ก. ทั้งนี้  2 ทางเลือกให้ยกเว้นกรณีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 3. เสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มี 3 ทางเลือกคือ ก. ให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติโดยให้พิจารณาเฉพาะผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นผลลงและโอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ข. ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมดและให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความและ ค. ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและการตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้งและ 4. กำหนดกติกาทางการเมืองรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหลักและรัฐธรรมนูญ

แม้จะเป็น ’ข้อเสนอ“ ที่ยังไม่มีการขานรับจากทุกฝ่ายอย่างจริง ๆ จัง ๆ แต่ก็เป็น ’ข้อเสนอ“ ที่ชัดเจนและตรงประเด็นที่สุดนับตั้งแต่มีการพูดกันว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้จงได้

การสร้างความปรองดองเป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แม้จะยังไม่มีรูปธรรมที่เด่นชัด แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯยิ่งลักษณ์ ’โคลนนิ่งทางการเมือง“ พ.ต.ท.ทักษิณ กับกองทัพในช่วง 6-7 เดือนของการเป็นรัฐบาล ก็ดูจะทำให้ ’ท่าที“ ต่าง ๆ เบาบางลง

การไม่เอาด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ความพยายามปราบปราม ’กระบวนการ“ ละเมิดสถาบันหรือแม้แต่การประกาศว่าจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน เรื่อยไปจนถึงการไม่แก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ’เหล่านี้“ ล้วนเป็นการ ’ชักฟืน“ ออกทั้งสิ้น

คงเหลือก็แต่การแก้ไขภายใต้ระบอบรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลในฐานะเสียงข้างมากคุมความได้เปรียบอยู่หลายขุม ขณะที่ ’นอกสภา“ มวลชนที่พร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลก็ยัง ’หนาแน่น“ กว่า มวลชนที่กำลังจะออกมา ’คัดค้าน“ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ’หลายเท่า“ แต่ทั้ง 2 กลุ่มรวมกันก็ยัง ’น้อยกว่า“ กลุ่ม ’พลังเงียบ“ ที่เฝ้าดูสถานการณ์การเมืองอยู่และพร้อมจะเข้าร่วม หากการแก้ไขไม่เป็นไปตามกติกาและไม่นำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง

การประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อดีตรองประธานสภาผู้แทนฯ เป็นประธานผ่านไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ ’อารมณ์“ ก็ยังไม่เปลี่ยน กล่าวคือ มีการยืนกันคนละมุม โดยที่ยังหา ’จุดลงตัว“ ไม่ได้

ฝ่ายรัฐบาลไม่พยายามเอ่ยถึงเหตุผลและเนื้อหาของการแก้ไข ขณะที่ฝ่ายค้าน ตั้งเป้าหมายที่จะกำหนดกรอบการแก้ไขในครั้งนี้ เพราะมองว่า หากไม่มีกรอบการแก้ไขครั้งนี้ ก็คือ การฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ

กรอบที่ว่าเห็น ’ตรงกัน“ แล้วคือ จะไม่มีการแตะหมวดสถาบัน ส่วนหมวดอื่นซึ่งเป็น ’หัวใจ“ และเป็น ’เป้าหมาย“ ที่แท้จริงของการแก้ไขในครั้งนี้ คือหมวดศาลและองค์กรอิสระทางการเมือง ยังหาทางออกกันไม่เจอ

พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย อธิบายว่า กระบวนการตรวจสอบต้องถูก ’ตรวจสอบ“ ได้ ขณะที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า ความพยายามรื้อการตรวจสอบครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองบางอย่าง

ทำไมศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ จึงอยู่ในบัญชีที่จะมีการแก้ไข ขณะที่ ป.ป.ช.หรือ กกต.ก็อยู่ในบัญชีที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

การที่รัฐบาลมีอำนาจมาก ถือเป็น ’ข้อดี“ ในแง่ของการทำหน้าที่บริหาร ที่ผ่านมาสังคมไทยตระหนักแล้วว่า ตราบใดที่การเมืองเป็นรัฐบาลผสม โอกาสของการแก้ไขปัญหาจะน้อยลงและไม่มีประสิทธิภาพ

แต่อำนาจต้องมาพร้อมกับการ ’ตรวจสอบ“ ยิ่งอำนาจมากยิ่งต้อง ’ตรวจสอบมาก“ ที่สำคัญกระบวนการตรวจสอบนั้นต้องเป็น ’อิสระ“ ปราศจากการครอบงำของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นี่ขนาดมีการ ’ตรวจสอบ“ ที่เข้มข้นขนาดนี้ ประเทศไทยยังถูกจัดอันดับไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดประเทศหนึ่ง

ที่น่ากลัวไปกว่านั้น ’ค่านิยม“ ที่ว่า ใครมาก็คอร์รัปชั่นเหมือนกัน ต่างกันที่ว่ามาแล้วใครทำประโยชน์ให้มากกว่า กำลังจะเป็น ’ที่ยอมรับ“ ในสังคมมากขึ้น

หากยอมรับกระบวนการ ’ตรวจสอบ“ วันนี้สังคมไทยก็อาจจะกลับสู่ความปรองดองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ แต่ที่ยังวนเวียนคาราคาซัง มองไม่เห็นฝั่งอยู่อย่างนี้ เพราะ ’บางฝ่าย“ ไม่ยอมรับการตรวจสอบ ยิ่งกว่านั้นยังพยายามเข้าไปชี้แจงหรือ ’ตรวจสอบ“ กระบวนการตรวจสอบให้มากขึ้น

’ผมไม่ได้ทำอะไรผิด“ คือคำตอบที่อธิบายได้อย่างดีว่า ทำไมต้องรื้อรัฐธรรมนูญและต้องล้างบางองค์กรอิสระทั้งหลายซึ่งเป็น ’หัวใจ“ ของการตรวจสอบในครั้งนี้.

แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources