“โคทม” จัดเวทีถกกระบวนการแก้ไข รธน.
วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม 2555 เวลา 21:42 น.
วันนี้ ( 11 มี.ค.) ที่โรงแรมสยามซิตี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยามหิดลและเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี ได้จัดเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีตัวแทนเครือข่าย 7 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครศรีธรรมราช นราธิวาส อุบลราชธานี และกทม. นำเสนอผลการประชุมในพื้นที่ที่เครือข่ายมีการจัดเสวนาเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมีนายโคทม อารียา ผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนฯ นายนิคม ไวยรัชพานิช สว.ฉะเชิงเทรา ในฐานะรองประธานวุฒิสภา นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) รวมทั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.... ได้แก่ น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วม
นายโคทม กล่าวว่า ข้อเสนอที่ได้ครั้งนี้จะรวบรวมให้คณะกรรมาธิการฯ เพื่อเป็นทางเลือกและร่วมพิจารณาในการแก้ไขมาตรา291 รวมถึงจะเป็นการช่วยเพิ่มเนื้อหาในส่วนความคิดเห็นจากประชาชนอีกทางหนึ่ง เพราะที่ผ่านคณะกรรมาธิการฯ ไม่มีโอกาสได้รับฟังประชาชนมากนัก ทั้งนี้ผลจากการรับฟังความคิดเห็นก็ได้ข้อสรุปร่วมกันในหลักใหญ่ๆ คือ จำนวน ส.ส.ร ทั้งหมด ที่ควรอยู่ในระดับประมาณ 150-200คน และมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังขอเวลาในการยกร่างมากกว่า180วัน และมีกรอบระยะเวลาจัดทำรัฐธรรมนูญอย่างน้อย1ปี หรือมากกว่าด้วย สำหรับข้อสรุปของร่างเวทีถกแถลงแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก 7 จังหวัดนั้นจะยื่นต่อคณะกรรมาธิการฯ ภายใน2 สัปดาห์นี้ พร้อมทั้งจะหารือร่วมกับตัวแทนของผู้ที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างด้วย
ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลถกเถียงกันถึงกันวางกรอบก่อนที่จะมี ส.ส.ร.โดยเฉพาะการวางกรอบห้ามแก้ไขในประเด็นศาลและองค์กรอิสระนั้น นายโคทม กล่าวว่า ยังไม่อยากพูดถึง เพราะขณะนี้ควรจะพิจารณาในประเด็นมาตรา291 ก่อน แต่โดยส่วนตัวถ้าจะให้เขียนเป็นหลักการว่าห้ามเลยคงไม่ได้ มิเช่นนั้นสิ่งที่ ส.ส.ร.ดำเนินการ อาจจะขัดกับหลักการภายหลัง และอาจทำให้ตัวแทนประชาชนไม่สามารถเสนอความต้องการได้อย่างที่ควรจะเป็น
ด้านนายวิรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้แขวนหลักการและเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะต้องไม่มีการแก้ไข 3 หมวด ได้แก่ 1.หมวดสถาบัน 2. หมวดศาลและองค์กรอิสระ และ 3. จะต้องไม่แก้ไขเพื่อช่วยคนหนึ่งคนใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเสียงข้างมากนั้นได้ยอมที่จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดสถาบันแล้ว แต่ในส่วนของประเด็นอื่นนั้นยังไม่มีความชัดแจน ส่วนที่มาของส.ส.ร.ต้องมาจากจังหวัดละ1คนนั้น ตนเห็นด้วย แต่จะต้องคำนึงถึงหลักจำนวนประชากร ซึ่งใช้แบบของการเลือกตั้งส.ส.ร. 40 จะง่ายที่สุด เพราะเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง แต่สุดท้ายก็มีการแขวนไว้ เพราะรัฐบาลต้องการให้มีส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 99 คน และส.ส.ร.ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 22 คน โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ใช่เร่งรีบ ที่ผ่านมารัฐบาลเร่งดำเนินการในทุกกระบวนการ ซึ่งเกรงว่าอาจจะไม่ตอบสนองประชาชนได้ สำหรับระยะเวลาของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ควรจะน้อยกว่า 1 ปี ทั้งนี้ความคิดที่จะแก้ไขในส่วนของศาลและองค์กรอิสระนั้นก็เพื่อต้องการปรับเปลี่ยนการตรวจสอบ ถ่วงดุล และปิดช่องทางที่ประชาชนเคยใช้ต่อสู้กับอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตามถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ถูกทิศทางก็จะสร้างความแตกแยกให้ประเทศชาติได้
ขณะที่นพ.เชิดชัย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาฯ สามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เอง แต่ก็ไม่ทำ เพราะเราเป็นพรรคที่มาจากประชาชนและมีความใจกว้างคืนอำนาจให้กับประชาชน พรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะไม่เตะต้องหมวดสถาบัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 291/10 ก็ได้ห้ามเตะต้องหมวดสถาบัน แต่ในหมวดศาลและองค์กรอิสระนั้นก็มีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็นได้ เนื่องจากได้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ซึ่งก็เป็นเรื่องของส.ส.ร. นอกจากนี้ในส่วนของกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและต้องการให้แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนก่อนนั้น ตนเห็นว่าอย่าไปคิดแบบเด็ก เพราะประเทศของเราก็มีคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ดูแลอยู่แล้ว ขณะนี้สังคมพร้อมแล้ว ส่วนที่มีหลากหลายความคิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรเกิดความรุนแรง
นายอุดมเดช กล่าวว่า เรื่องกรอบระยะเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นที่ผ่านมาไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดใช้เวลาจัดทำนานเป็นปี ส่วนที่มีการเสนอให้ใช้กรอบระยะเวลา 240 วันนั้น ตนเห็นด้วยและกำลังดำเนินการรองรับแนวความคิดนี้อยู่ ส่วนระยะเวลา 180 วันนั้นถือว่าน้อยไป ทั้งนี้กระบวนการทำประชามตินั้นยอมรับว่าต้องทำให้เกิดความชอบธรรม สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนานั้นยังตอบโจทย์นี้ไม่ได้ แต่กระบวนการเชื่อมโยงส.ส.ร.จะทำอย่างไรให้กลับมาที่รัฐสภาได้ ส่วนเรื่องกังวลว่าส.ส.ร.จะไปแตะหมวดสถาบัน รัฐธรรมนูญมาตรา 291/11 บัญญัติว่าเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ส.ส.และส.ว.สามารถลงมติคว่ำได้เลย โดยการเปิดประชุมพิจารณาเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้อง สำหรับการที่สภาฯพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่รอร่างของประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อนั้น เนื่องจากประชาชนไม่สามารถเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการฯได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้เฉพาะส.ส.และส.ว.เท่านั้น ซึ่งประชาชนก็เข้าใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อสรุปของร่างเวทีถกแถลงแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก 7 จังหวัดจะยื่นต่อคณะกรรมาธิการฯ มีดังนี้ เรื่องที่มาของส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยคำนวณจากจำนวนประชากร อยู่ในกรอบประมาณ 175 – 225 คน ซึ่งส.ส.ร. 1 คน แทนจำนวนเสียงประชากร ประมาณ 3-4 แสนคน ส่วนประเด็นเรื่องการมีผู้เชี่ยวชาญนั้น ที่ประชุมฯ เห็นควรว่าจะต้องมีที่มาเป็นไปได้สองทางเลือก คือเสนอชื่อคัดสรรแล้วให้ประชาชนเลือก และเสนอชื่อคัดสรรแล้วให้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการเลือกอีกที ทั้งนี้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ร.มีเลือกได้เพียงเสียงเดียวเท่านั้น ด้านคุณสมบัติของส.ส.ร.จะต้องไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ถือสัญชาติไทยอย่างน้อย ๕ ปีและอายุอย่างน้อย 25 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามส.ส.ร.สามารถดำเนินการหาเสียงได้โดยการแสดงวิสัยทัศน์ โดยให้กกต.ทำหน้าที่จัดเวที สำหรับระยะเวลาร่างนั้นใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นให้มีการลงประชามติภายใน 90 วัน นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดเวทีการประชุมร่วมกับกรรมาธิการเพื่ออภิปรายถึงที่มา และหลักการเหตุผล เกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ อาจจะจัดที่รัฐสภา ถ่ายทอดสดผ่านสื่อ โดยมีตัวแทนของทุกเวทีในจังหวัดต่างๆเข้าร่วม พร้อมกับเสนอให้ตัวแทนแต่ละจังหวัดไปจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ในพื้นที่ของตนอย่างต่อเนื่อง
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น