วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

ข้อสอบโอเน็ตสุขศึกษา สะท้อนทัศนะทางเพศของสังคมจริงหรือ?

Pic_242620

ในที่สุดการสอบวัดผลทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ของนักเรียนระดับชั้น ม.6 ประจำปีการศึกษา 2554 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ เด็กนักเรียนที่เข้าสอบทั้งหมด ก็จะต้องมานั่งลุ้นผลคะแนนกันว่าจะได้กันเท่าไหร่ เพื่อนำคะแนนที่ได้ ไปยื่นสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยผ่านระบบกลางรับนักศึกษา หรือ “แอดมิชชั่น” และอาจเป็นธรรมเนียมไปแล้วหรืออย่างไรว่า หลังการสอบเสร็จสิ้น มักจะมีข้อสอบที่หลุดออกมาจากห้องสอบโดยนักเรียนที่เข้าสอบเอง ซึ่งปีนี้ก็มีข้อสอบที่หลุดออกมาประมาณ 6 ข้อ โดย 4 ใน 6 ข้อ ก็เป็นข้อสอบวิชาสุขศึกษาเสียส่วนใหญ่...

ทั้งนี้ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกมาระบุแล้วว่าข้อสอบดังกล่าวออกตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2554 ของผู้เรียนจบช่วงชั้นที่ 4 (ม.6) โดยเรียกผู้ออกข้อสอบวิชาสุขศึกษามาชี้แจงกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่าเนื้อหาข้อสอบเป็นไปตามหลักสูตรที่ สทศ. เคยประกาศลงเว็บไซต์

พร้อม กับที่ นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทศ. เปิดเผยว่า การออกสอบเป็นการวัดความรู้ความจำพื้นฐาน ซึ่งตรงตามหลักสูตรพื้นฐานชัดเจน แต่อาจมีการใช้ถ้อยคำที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าไม่สุภาพ ขณะที่ในบางข้ออาจจะถามตรงๆ แต่บางข้อก็มีการถามเพื่อให้นักเรียนได้คิดถึงเหตุและผลก่อนจะตอบ ซึ่งการฝึกให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ เป็นแนวทางที่ รมว.ศึกษาธิการ และ สทศ.ต้องการพัฒนาให้เกิดขึ้น

จากเหตุการณ์และลักษณะของข้อสอบที่ เกิดขึ้น เราได้หอบเอาข้อสอบวิชาสุขศึกษาที่หลุดออกมาทั้งหมดไปถาม อาจารย์นคร สันติโยธิน อาจารย์ประจำวิชาสุขศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็ได้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ลักษณะคำถามที่อยู่ในข้อสอบ เป็นเรื่องของทัศนคติในการดำเนินชีวิต แต่ถ้าตามหลักวิชาการ ก็ต้องไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เพื่อลดความต้องการทางเพศ

“ในโลกความ จริงนั้น เด็กนักเรียนจะคิดยังไง ต้องขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเด็ก ว่าจะมีวิธีการจัดการอย่างไรกับตัวของเด็ก ทั้งนี้อยู่ที่ตัวของเด็กนักเรียนว่า จะได้ข้อมูลเรื่องเพศศึกษามาครบถ้วนและรอบด้านขนาดไหน ซึ่งถ้าข้อสอบตัวจริงมีการใช้คำเชื่อมที่มีปัญหา ก็อาจทำให้เกิดการตีความไปอีกแบบหนึ่งก็ได้ แต่สามารถบอกได้ว่า ข้อสอบลักษณะนี้เป็นการถามถึงทัศนคติ และความเชื่อในเรื่องของเพศศึกษา ว่าเด็กเชื่ออย่างไร”

และสิ่งที่น่าสังเกตว่าข้อสอบวิชาสุขศึกษาที่ มีปัญหาทุกปีนั้น อาจารย์นครได้สะท้อนถึงสังคมในปัจจุบัน ว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ และสื่อทุกวันนี้ใกล้ตัวเด็กมากขึ้น รวมทั้งลักษณะคำถามที่เหมือนว่า ผู้ใหญ่พยายามที่จะเปิดกว้างเรื่องเพศศึกษามากขึ้น ซึ่งจะเป็นการดึงให้ผู้ใหญ่หันมาสนใจปัญหาของเด็กนักเรียน

“ในแง่ ของการสอนเพศศึกษา ข้อสอบลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ดี ที่ข้อสอบได้ถามความรู้สึกของคน แต่คำตอบที่ถูกต้อง ควรจะมีความหลากหลาย และเปิดโอกาสมากกว่านี้ เราต้องดูความรู้สึกของมนุษย์จริงๆ กับความต้องการคำตอบเพื่อให้เหมาะสม ทุกวันนี้การแสดงออกของวัยรุ่น กับความพยายามของผู้ใหญ่ ที่จะทำให้เด็กอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณี มันสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งอย่างน้อยการที่ข้อสอบสุขศึกษามีปัญหามาตลอด เป็นการกระตุ้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองหันมาสนใจปัญหาชีวิตของเด็กนักเรียนอีก ด้วย”

ทั้งนี้ อาจารย์นครยังกล่าวถึงทิศทางของการสอบวิชาสุขศึกษาในการสอบโอเน็ตครั้งต่อไป ว่า ควรจะครบถ้วนและรอบด้าน โดยเฉพาะ ถ้าจะกล่าวถึงเพศศึกษา ก็ต้องกล่าวว่า สัมพันธภาพทางเพศเป็นอย่างไร พัฒนาการเป็นอย่างไร เรื่องของสุขภาพ และพฤติกรรม ทักษะ สังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างไรบ้าง และข้อสอบควรจะเป็นการวิเคราะห์ โดยกำหนดสถานการณ์ออกมา ซึ่งคำถามที่ออกมาไม่น่ากลัวว่าจะถามแบบไหน แต่คำตอบที่ออกมาควรจะมีความชัดเจนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ เด็กนักเรียนต้องรู้จักคิดเป็น และวิเคราะห์ได้             

เห็น ชัดว่าข้อสอบวิชาที่ถูกกล่าวถึง อย่างวิชาสุขศึกษา อาจเป็นการเปิดประตูบานสำคัญ ที่ทำให้เรื่องเพศศึกษาในประเทศไทย เป็นเรื่องต้องห้ามมาตลอด กลายเป็นเรื่องที่เปิดกว้างมากขึ้น เพราะการที่ข้อสอบออกในลักษณะนี้ อาจเป็นการสะท้อนสังคม และเกิดการกระตุ้นครั้งที่ทำให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หันมาสนใจชีวิตของลูกตัวเองมากยิ่งขึ้น เพื่อที่ลูกของตัวเองจะได้ไม่หลงผิด คิดทำในสิ่งที่ไม่ควรก่อนเวลาอันควร แต่สิ่งที่สำคัญคือ เด็กไทยทั้งประเทศ ก้าวข้ามการเรียนไปสู่การคิดวิเคราะห์ได้แล้วหรือยัง.

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources