11 มี.ค.54 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นที่จ.มิยางิ ของญี่ปุ่น นับเป็นความสูญเสียที่มหาศาล ขณะที่ยังต้องสูญเสียนิคมโรงงานอุตสาหกรรมในไทยจากน้ำท่วมอีก แม้ญี่ปุ่นจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่สัญญาณอื่นๆก็ยังไม่ดี ทั้ง ศก.สหรัฐฯ ค่าเงินเยน รวมทั้งแผนป้องกันน้ำท่วมในไทยปีนี้ แม้ญี่ปุ่นยังไม่ถอนจากเมืองไทย แต่หากเกิดเหตุซ้ำ 2 ญี่ปุ่นคงไม่อุ่นใจที่จะอยู่...
วัน เวลา และความรุนแรงของความแผ่นดินไหว ซึ่งเกิดขึ้นที่จังหวัดมิยางิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้มนุษยชาติในโลกไม่มีวันลืมวันแห่งความโหดร้าย วินาทีแห่งเจ็บปวด และภาพประวัติศาสตร์ที่ต้องจดจำอีกนานแสนนาน แต่หลายคนอาจลืมไปว่า ญี่ปุ่น ไม่ได้เจ็บปวดแต่เพียงวันที่ 11 มีนาคม เท่านั้น ถัดมาอีก 7 เดือน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ช่วงยามดึกตามเวลาในไทย ไม่มีเหตุแผ่นดินไหว แต่มวลน้ำมหาสารเข้าโจมตีทำลายเขตนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ต่อเนื่องไปอีกถึง 7 เขตอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นชั้นนำของโลกในไทย ไม่น่าเชื่อว่า 2 เหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติของโลก ไม่เพียงทำลายล้างมูลค่าเศรษฐกิจยักษ์อันดับ 3 ของโลกในปีที่ผ่านไป ทำให้ภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่หนักลงไปอีก แต่ยังส่งผลกระทบต่อความเสียหายเศรษฐกิจโลก และความเสียหายประกันภัยเป็นอันดับ 1 ในปี 2554 อีกด้วย
สำนักงาน การลดความเสี่ยงภัยพิบัติของยูเอ็น เปิดตัวเลขเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านไปว่า เหตุแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงถึง 23 เมตร และส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ได้สร้างความเสียหายมากกว่า 210,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท ไม่นับรวมประชาชนญี่ปุ่นที่เสียชีวิตมากถึง 15,854 คน หากย้อนไปก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 5 มกราคมของปีนี้ บริษัท มิวนิค รีอินชัวรานซ์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยใหญ่ที่สุดในโลก ได้เปิดเผยว่า มูลค่าความเสียหายด้านประกันภัยอันดับ 1 ของโลก คือ เหตุการณ์ แผ่นดินไหว และสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ความเสียหายในด้านมูลค่าประกันภัย 1.26 ล้านล้านบาท นั่นคือตัวเลขแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นใน 365 วันที่ผ่านมา
แต่ความเป็นชาตินักรบในอดีต สามารถสร้างชาติขึ้นมาใหม่จากเถ้าถ่านที่เกิดขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้ง ที่ 2 และสามารถขึ้นแท่นขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกยาวนานาติดต่อกันถึง 2 ทศวรรษก่อนที่จะเสียตำแหน่งให้กับจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อกว่า 2 – 3 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่นจากรุ่นสู่รุ่น หรือแม้แต่ในจิตวิญญาณของนักการเมืองแดนอาทิตย์อุทัยจากรุ่นข้ามรุ่น ด้วยงบประมาณที่ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านของญี่ปุ่นไม่รีรอที่จะอนุมัติมากถึง 230,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.13 ล้านล้านบาทภายในเวลาอันสั้น และใช้เงินจากงบประมาณสร้างชาติมาจนถึงวันนี้ แม้จะยังมีซากแห่งความเจ็บปวดตกค้างในพื้นที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ก็ตาม
แต่ในแง่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในห้วงเวลานี้บอกตรงๆว่า ไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด หรือตั้งความหวังไว้สูง เมื่อภาวะปัจจุบันญี่ปุ่นเผชิญค่าเงินเยนแข็งค่าอย่างไม่สิ้นสุด เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐ ไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในอีก 3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจกลุ่ม 17 ชาติยูโรก็ได้รับการยืนยันชัดเจนว่าเข้าสู่ภาวะถดถอยเมื่อปลายปี 2554 เศรษฐกิจจีนปีนี้ที่ได้รับการยืนยันชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีจีนว่าชะลอตัวต่ำ สุดในรอบ 8 ปี และฐานการผลิตสำคัญของบริษัทชั้นนำญี่ปุ่นในไทยซึ่งเป็นฐานสำคัญอันดับแนวหน้าของโลก ก็ยังต้องวัดความเชื่อมั่นกับแผนป้องกันน้ำท่วมในไทยปีนี้อีก
จากปัจจัยเสี่ยงที่ผมพูดมา ยังคงทำให้รัฐบาล และเอกชนชั้นนำญี่ปุ่นต้องบริหารจัดการนโยบายเชิงกลยุทธ์การลงทุนข้ามชาติ อย่างรอบคอบ ระมัดระวังมากขึ้นกับภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก ผมยังมองว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว และสึนามิในญี่ปุ่นเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นแรงผลักดันให้โรงงานญี่ปุ่นมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตออกมานอกประเทศมาก ขึ้น แต่ไม่มีวันที่จะย้ายฐานศูนย์กลางงานวิจัยและพัฒนาออกจากแผ่นดินญี่ปุ่นเด็ด ขาด ญี่ปุ่นยังคงรักษาศูนย์กลางด้านวิจัยและพัฒนาไว้ที่ญี่ปุ่น ซึ่งแนวโน้มที่น่าจับตามองคือ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นแก่ประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆที่มีความพร้อม และสร้างความอุ่นใจให้กับญี่ปุ่น แม้จะยังไม่ถอนจากเมืองไทย แต่ภัยพิบัติเกิดขึ้นซ้ำสองอีกครั้ง ญี่ปุ่นก็คงไม่อุ่นใจอีกต่อไปครับ
แหล่งที่่มาข้อมูล http://www.thairath.co.th/
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น