ผู้ตรวจฯ หวั่นอนาคตลูกหลานไทยไม่มีแผ่นดินอยู่ แฉต่างชาติฮุบที่กว่า 100 ล้านไร่ จับตานโยบายไทยเป็นครัวโลกสูญที่ทำกินถาวร อ.นิด้า ให้จับตา สิงคโปร์ จ้อง รุกเขมือบหลังเปิด ประชาคมอาเซียนเต็มตัว ในปี 2558...
วันที่ 12 มี.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่องนิติกรรมอำพราง : ต่างชาติกับการถือครองที่ดิน โดยนายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ปัญหาความมั่นคงของประเทศไทยมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1. ความมั่นคงทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติด เพราะกำลังบั่นทอนบุคลากรของประเทศในระยะยาว 2. ที่ดิน โดยมีปัญหาว่าเราส่งต่อให้รุ่นลูกหลานอย่างไร เนื่องจากตอนนี้ที่ดินกว่า 1 ใน 3 ของประเทศไทย หรือคิดเป็นประมาณ 100 ล้านไร่ อยู่ในมือของต่างชาติ แสดงให้เห็นว่าเป็นการแย่งดินแดน โดยใช้ระบบเศรษฐกิจและช่องโหว่ของกฎหมาย ปัญหานี้มีมานานแล้วตั้งแต่อดีต เพราะเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ช่วงปี 2540 ได้เปิดช่องให้ชาวต่างชาติมีเงินเพียง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้ามาถือครองที่ดินได้เป็นกรณีพิเศษ ทำให้ ณ วันนี้ มีที่ดิน 1 ใน 3 ของประเทศถูกถือครองอำพรางโดยต่างด้าว คิดเป็นประมาณ 100 ล้านไร่ ตัวเลขนี้มาจากการทำงานวิจัยของสถาบันการศึกษา ที่น่ากลัวที่สุดคือ ที่ดินแถบชายทะเล เช่น หาดบ้านเพ จ.ระยอง พบว่าเป็นของต่างชาติกว่า 90% เช่นเดียวกับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พัทยา จ.ชลบุรี น่าจะอยู่ในมือต่างชาติประมาณ 30% ส่วนภูเก็ต เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ไม่ต้องพูดถึง
นายศรีราชา กล่าวว่า การถือครองที่ดินของต่างชาติเข้ามาในหลายรูปแบบ เช่น สมรสกับคนไทย หรือตั้งบริษัทไทยและไปแปลงสภาพภายหลัง แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ต่างด้าวถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% แต่ในทางปฏิบัติ กลับพบว่าจำนวนหุ้นอีก 51% ที่เหลือกลายเป็นถือครองในระบบนอมินีแทน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องทบทวนการจำกัดถือครองที่ดินและผลักดันภาษีที่ดิน ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่เรื่องนี้เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เชื่อว่าไปไม่รอดแน่ เพราะคนรวยในระบอบนี้ไม่มีใครยอม รวมทั้งต้องสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องมีสินบนนำจับเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว สภาพแบบนี้เมืองไทยจะไม่มีอะไรเหลือ คนรุ่นหลังจะไม่มีที่อยู่ และต้องจับตาแนวคิดในการเอาไทยเป็นครัวโลก ซึ่งเป็นช่องทางให้เกิดการถือครองที่ดินของต่างชาติ จับตามาตั้งแต่ออสเตรเลียพยายามเอาผลไม้ของเราไปปลูก แต่ทำในประเทศตัวเองไม่ได้ เลยมาขอเช่าที่ดินในไทยแทน ต่อไปจะมีนักการเมืองบางท่านสนับสนุนตะวันออกกลาง ข้าวหอมมะลิจะตรีตราเป็นภาษาตะวันออกกลางทั้งหมด หากไม่สำเหนียกในการคุ้มครองสิทธิชาวนาไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มาจากฝ่ายบริหารที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ปลูกบนที่ดินเราแต่ผลผลิตส่งกลับประเทศเขา คนไทยเป็นเพียงแรงงานเท่านั้น
น.ส.ปิยะนุช โปตะวณิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ปัญหานี้ ส่งผลน่ากลัวอย่างมากในช่วงปี 2558 ซึ่งจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนและเปิดเศรษฐกิจเสรี เพื่อกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค เกรงว่าจะกลายเป็นช่องว่างให้เกิดกระบวนการนิติกรรมอำพรางของต่างชาติ เพื่อเข้ามาถือครองที่ดินในไทย โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ ยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางด้านการเงินมาก จึงจำเป็นต้องลงทุนในด้านอื่น เพื่อทำประโยชน์และสร้างกำไรทางเศรษฐกิจ สิงคโปร์มีเทคนิคสูงมาก ยากต่อการตามให้ทันปัญหา ตอนนี้คือทำอย่างไรให้หน่วยงานตรวจสอบของเรามีความเข้มแข็ง และประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปได้หรือไม่กับการกำหนดข้อห้ามออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร การบูรณาการข้อมูลการเสนอกฎหมาย การกระทำความผิดของตัวแทนกระทำอำพราง รวมไปถึงมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็ง หรือการเนรเทศชาวต่างชาติที่กระทำความผิดในส่วนนี้
นายสุจิต จงประเสริฐ ผอ.สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน กรมที่ดิน กล่าวว่า คนต่างด้าวมีศักยภาพทางการเงินสูง จึงขวนขวายให้ได้มาซึ่งที่ดินจำนวนมาก เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินตรากลับประเทศ ทั้งนี้ การพิสูจน์การถือครองที่ดินของต่างชาติทำได้ยาก เพราะถ้าผู้ที่เข้ามาจดทะเบียนยื่นเอกสารและมีคุณสมบัติตามกฎหมาย เช่น ไม่ใช่เป็นคนต่างด้าว เป็นทรัพย์สินส่วนตัว เป็นต้น ก็สามารถจดทะเบียนได้ ยอมรับว่าตอนนี้มีหลายรูปแบบที่เข้ามาถือครอง เช่น การจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ แต่กระบวนการพิสูจน์ว่าทรัพย์สินที่นำมาซื้อที่ดิน เป็นสินสมรส หรือส่วนตัวประกอบกับกฎหมายปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่สมรสแล้ว สามารถใช้คำนำหน้านามว่านางสาวได้ ยิ่งเป็นปัญหาเข้าไปอีก เพราะตรวจสอบได้ยาก มากว่าเป็นนอมีนีหรือไม่ นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติแต่ละวันมีผู้มาจดทะเบียนกับกรมที่ดินเยอะมาก ดังนั้น การตรวจสอบจึงมีข้อจำกัด
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ปปง. เป็นหน่วยงานที่ต้องรับรายงานการทำธุรกรรมการซื้อขายที่ดินด้วยเงินสด เกิน 2 ล้านบาท แต่ตอนนี้พบว่ามีการเลี่ยงกฎหมายด้วยการทำขนาดของธุรกรรมให้เล็กลง โดยไม่ให้เกิน 2 ล้านบาท เพื่อไม่ต้องรายงาน ปปง. ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับความร่วมมือจากกรมที่ดิน.
แหล่งที่่มาข้อมูล http://www.thairath.co.th/
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น