วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

'ปิติพงษ์'เผยแผนรับมือน้ำระยะ3เดือน


'ปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา' : แผนรับมือน้ำระยะเร่งด่วน 3 เดือน : สัมภาษณ์พิเศษ โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง , เตชะวัฒน์ สุขรักษ์ สำนักข่าวเนชั่น
         หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปีและสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างมากมายมหาศาล "รัฐบาลยิ่งลักษณ์"ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่งกยน.ก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการประธานคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น ที่มี นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน

 
             "ปิติพงษ์"ให้สัมภาษณ์กับ"สำนักข่าวเนชั่น" ถึงแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะเร่งด่วน 3 เดือนเพื่อรับมือกับน้ำในปีนี้ ทั้งการบริหารน้ำในเขื่อน หลังเขื่อน การบริหารน้ำแถวอยุธยาลงมา รวมถึงระบบบริหารข้อมูลเกี่ยวกับการเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 จะปรับตัวเลขในเขื่อนได้หรือไม่          
             ก็คงจะต้อง...จะปรับวูบวาบไม่ได้ ผมก็บอกเขาไปว่าควรจะทำ Scenario (การวางแผนด้วยภาพอนาคต) สัก 2-3 Scenario เสนอ กยน.หรือ กนบช. ให้รู้เรื่องไปว่าในที่สุดจะทำอย่างไร เพราะต้องมอนิเตอร์ข้อมูลทุกวัน คือการระบายน้ำมีแผนได้ แต่จะฟิกซ์ไม่ได้ เพราะว่าน้ำใช้เพื่อการเกษตรประมาณ 70% ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม ประมาณ 10% ที่เหลือเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งการดันน้ำเค็ม น้ำสกปรก การทำให้พอดีระหว่างการใช้น้ำทั้ง 3 อย่าง เมื่อสมัยก่อนใช้เป็นหลัก และเพื่อป้องกันน้ำท่วมด้วย ก็ต้องใช้ทั้ง 4 แฟกเตอร์ มาดูว่าจะบริหารน้ำอย่างไร เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง ถ้าปล่อยน้ำน้อยเกินไปในช่วงฝนตกเหนือเขื่อน ก็จะระบายน้ำไม่ทัน แต่ถ้าระบายน้ำมากเกินไปแล้วฝนไม่ตก มันไม่ได้เกิดผลเฉพาะปีนี้ เพราะน้ำสะสมต้องไปใช้ปีหน้า ทางภาคเกษตรก็จะมีผล


# Scenario ที่จะเสนอมีอะไรบ้างที่เป็นแผนควรเตรียมไว้

             ก็ควรต้องดูปริมาณน้ำฝน ที่คาดการณ์จะตกเหนือเขื่อนและตกท้ายเขื่อนจะเป็นอย่างไรบ้าง ขณะนี้ก็ไม่มีใครรู้จะเป็นอย่างไร ก็ต้องกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ไทม์ ว่าตกเท่ากับปีที่แล้ว ตกต่ำกว่าปีที่แล้ว 5 % 10 % จะระบายอย่างไร ตกเหนือเขื่อน ตกท้ายเขื่อนทำอย่างไร ตกในเวลาที่ควรจะหรือตกในเวลาที่ไม่ควรจะตก จะทำอย่างไร


# ถ้าเป็นอย่างนี้ก็หลาย Scenario

             ไม่ใช่ ... ที่พูดเป็นพารามิเตอร์ เพราะ Scenario คือการน้ำพารามิเตอร์ หลายๆ พารามิเตอร์มาคำนวนว่าควรเป็นอย่างไร คือมี 3 dimension(ขอบเขต) คือ เวลา ปริมาณ และสถานที่ การคิด Scenario ต้องใช้ทั้ง 3 ส่วนนี้


# ที่บอกมามี 2 แนวทาง หรือมากกว่านี้

             อาจจะมากกว่า หรือ 3 แนวทาง ซึ่งกำลังให้เจ้าหน้าที่ไปทำเพิ่มเติม โดยมีกรมชลประทานไปทำอยู่ แต่ผู้บริหารไม่ใช่กรมชลประทาน โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ด้วย เพราะเป็นคนใช้น้ำในการปั่นไฟ มี 2 เขื่อนใหญ่หลัก และยังมีเขื่อนเล็ก อีก 3-4 เขื่อน ถ้ามีการประชุมครั้งต่อไป อาจจะเอาเรื่องนี้มาดูว่าจะทำอย่างไร


# เขื่อนแม่งัดที่ จ.เชียงใหม่ จะทำอย่างไร

             เขื่อนแม่งัด เป็นต้นน้ำ ที่จะต้องดูคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นหลัก แต่ที่ลุ่มน้ำยมไม่มีโครงสร้างที่จะต้องทำก็คืออาจจะต้องเริ่งระบายน้ำก่อนฤดูฝน เท่าที่น้ำตกลงมาก็รีบระบายออกมา อย่าให้ไปค้างคาอยู่ ซึ่งเป็นแผนเร่งด่วน ซึ่งต้องเร่งระบายน้ำให้มาสะดวกยิ่งขึ้น อย่าให้ไปค้างคาอยู่แถวนั้น เพราะไม่มีโครงสร้างการควบคุม จะมีทางเดียวก็ให้น้ำไหลมาเร็วๆ อย่าให้ถึงเวลาจนกระทั่งน้ำเอ่อไปหมด


# ตัวแม่น้ำยม จะปล่อยไหลมาอย่างเดียว หรือมีจุดพักเหมือนแก้มลิงหรือไม่

             คงจะมีอยู่บ้าง แต่ว่าแก้มลิงเหล่านั้น เป็นพื้นที่ที่เป็นเมือง น้ำท่วมอยู่แล้ว ทั้งสุโขทัย พิจิตร และตามแม่น้ำยม ไม่มีอะไรที่จะเป็นโครงสร้างควบคุมได้ ผมเข้าใจตอนนี้คนสับสนระหว่างระยะสั้นกับระยะยาว ทั้งที่ทุกอย่างเป็นระยะสั้นเกือบหมด ระยะยาวจะทำฟลัดเวย์ ปลูกป่า สร้างเขื่อน แต่ระยะสั้นการบริหารน้ำที่เขื่อน การบริหารน้ำหลังเขื่อน การบริหารน้ำแถวอยุธยาลงมา รวมทั้งการจัดการเรื่องข้อมูล ที่ต้องทำทุกปี


# ข้อมูลควรจะรวมอยู่ที่เดียวหรือไม่

             ข้อมูลขณะนี้ที่คิดกันไว้ ก็คือจะตั้งคลังข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับน้ำที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และปรับปรุงเรื่องการบริหารข้อมูลกับการเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเรียกว่าสั้นหรือยาวก็ไม่รู้ แต่ต้องทำ ข้อมูลที่ต้องการมากที่สุดขณะนี้คือ ระดับของพื้นที่ดินในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด เพราะเท่าที่มีอยู่ ละเอียดไม่พอ ทำมาหลายปีแล้ว พวกเขื่อน คันกั้นดิน อาคารต่างๆ ไม่มีระดับพื้นที่ก็จะทำให้การคำนวนทางน้ำไม่ค่อยแม่นยำ อย่างกรณีปีที่แล้วที่มีการพูดถึงว่าน้ำจะไปที่ย่ายพระราม 3 แต่น้ำก็ไม่ไป เรื่องนี้มอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมมอบให้หน่วยงานในกระทรวงฯ 2-3 หน่วยที่จะทำ


# ตัวละเอียดความสูงของพื้นดินเท่าไหร่

             ทุก 10 ซม. ถ้าระดับพื้นที่ หรือระดับคันอ่างสูงจากระดับ 10 ซม.ก็จะมีการเขียนเป็นเส้นคอนโทรลไลน์ จะรู้ว่าทางน้ำไปอย่างไร ข้อมูลจะมี 2 อันคือ 1.ทายให้ถูก ผมก็ไม่รู้ อยู่ที่กรมอุตุฯ เรื่องฝนตกได้รู้ว่ามาตอนไหน มาทางไหน 2.ข้อมูลระดับพื้นที่ จะได้รู้ว่าน้ำจะมาที่ไหน มาเมื่อไหร่ เร็วช้าอย่างไร จะเป็นเครื่องมือสำหรับการเตือนภัย การบริหารจัดการน้ำ

           
# ปีที่แล้วที่น้ำท่วมมาก เป็นปริมาณน้ำในเขื่อนหรือน้ำท้ายเขื่อน

             ทั้ง 2 อย่าง คือบนเขื่อนก็ตกเยอะ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่จำความได้ก็ไม่เคยเต็ม แต่ปีที่แล้วมันเต็ม ขณะเดียวกันน้ำในทุ่งก็มีปริมาณสูงมาก เพราะว่ามันตกเลยมาถึงเดือนต.ค.-พ.ย. ไม่มีใครรู้จะตกขนาดนี้

             พื้นที่ด้านบนจะมีการตัดยอดน้ำ ประมาณฯ 10,000 ล้าน ลบ.ม. แล้วเก็บน้ำไว้ในเขื่อน หลังจากนั้นก็เป็นการบริหารจัดการทุ่ง โดยมี 2 ประเภท คือ ทุ่งธรรมชาติที่เป็นบึง ที่ถูกบุกรุกไป บึงพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นบึงธรรมชาติ ส่วนทุ่งทิ้งน้ำ ที่ธรรมดาในฝั่งขวาของแม่น้ำจะเป็นทุ่งทิ้งน้ำตามปกติ ตามทุ่งบางบาล สิ่งที่กำลังพูดถึงไม่ได้หมายความว่าทุ่งพวกนี้น้ำไม่เคยท่วมเลย มันท่วมโดยปกติอยู่แล้ว แต่ปีที่แล้วมันท่วมสูงและท่วมนาน สิ่งที่เราพยายามจะทำในปีนี้ พยายามรักษาระดับน้ำในทุ่งให้อยู่ระดับประมาณ 2 เมตร ในเวลา 20 วันจนถึงเดือนกว่าๆ แล้วแต่สภาพของทุ่ง ก็ต้องสำรวจจะเอาน้ำเข้าไปอย่างไร ซึ่งแนวรับน้ำทั้งด้านบนและด้านล่างประมาณ 4.6 ล้านไร่ และด้านล่างจะตัดยอดน้ำอีกประมาณ 10,000 ล้าน ลบ.ม. เป็นพื้นที่หน่วงน้ำให้ไหลลง ทำเดือดร้อนน้อยที่สุด หน่วงเรื่อยๆ

# ภาระหนักจะอยู่ที่ไหน

             ถ้าถามผม พื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 4.60 ล้านไร่ จะหนักที่สุด แต่ถ้าน้ำไม่มากเหมือนปีที่แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะปลายน้ำใช้วิธีขุดลอกหมดแล้ว



# การหน่วงน้ำ เมื่อน้ำค่อยๆ ไหลลงมา ข้างบนก็ต้องแห้งเต็มทีที่สุดพิจิตร อุตรดิตถ์ จะต้องท่วมกี่วัน

             ถ้าที่เรากำหนดไว้ ถ้าเป็นพื้นที่ที่มี" สโลปคอมเพลท" น้ำไปได้น่าจะ 20 วัน แต่ในส่วนที่น้ำไปไม่ได้อยู่แล้ว เป็นที่ทิ้งน้ำอาจจะ 1 เดือนหรือ 2 เดือน แต่เราก็กำหนดไว้ในแผนว่าจะต้องคุยกับชาวบ้านให้ทำนา 2 ครั้งไปก่อน ส่วนครั้งที่ 3 เป็นความก็อยู่ที่ชาวนาจะทำนาหรือไม่ เพราะพื้นที่หน่วงน้ำด้านล่างจะทำนาน 3 ครั้ง ช่วงประมาณ ก.ย.-ต.ค.


# ประมาณการน้ำเผื่อน้ำที่อยู่ด้านนอก หรือไม่

             ใช่...เป็นโชคดีของเรา หรือโชคร้ายไม่รู้ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาจะมี โครงสร้างชลประทานไว้หมดแล้ว แต่ที่พิจิตรจะมีโครงสร้างน้อย คาดว่าในส่วนนี้จะบริหารจัดการได้ คือจุดนี้มีพารามิเตอร์หลายตัว ทั้งในระดับความสูง คลอง คันกั้นน้ำทั้งที่เราทำและชาวบ้านทำ

           
# หากดำเนินการตามนี้แสดงว่าน้ำจะไม่เข้ากรุงเทพฯ เลยหรือไม่

             ก็อาจจะเข้าบ้าง หากคันกั้นน้ำเพราะมีมนุษย์ไปทำให้พัง หรือที่พังโดยธรรมชาติในบางคัน คันที่ทำใหม่ไม่จำเป็นต้องทำเป็นคอนกรีต แต่ในระยะสั้นที่คิดไว้ว่าคันกั้นน้ำจะต้องปรับให้สูงขึ้น หรือเสริมถนนเดิมให้สูงขึ้น ที่จะทำใหม่ภายใน 3 เดือนนี้ให้เลิกคิด ทำไม่ได้ แต่ก็ห่วงเรื่องมวลชนจะพังคันกั้นน้ำ แต่จะทำอย่างไรได้


# คิดเรื่องรัฐบาลกลางบริหารจัดการน้ำ ยังไม่ได้ก้าวไปถึงรัฐบาลท้องถิ่น เช่น กทม.ว่าจะต้องอย่างไรบ้าง

           
             เราประสานงานกันอยู่แล้วกับรัฐบาลท้องถิ่น เพราะรัฐบาลจัดงานให้พันกว่าล้านที่จะลอกคูคลองทั้งหมด ขณะนี้เราก็ประสานงาน เป็นครั้งแรกที่ผมคิดว่าเขาก็อยากจะทำงาน ดูจากหน้าตามเจ้าหน้าที่ว่ายังดีใจขึ้นมาว่าอยากทำงานร่วมกันบ้าง แต่ในชั้นของงานก่อสร้าง ผมยังติดตามอยู่ว่าจะไปแค่ไหน เพียงใด เพราะมีเป็นร้อยโครงการ เพราะเป็นครั้งแรกที่เรียกมา ที่จริงไม่มีหน้าที่ต้องไปตามงานพวกนี้ แต่ผมรู้สึกเป็นห่วงว่าเราเป็นคนทำแผน งานทางด้านนี้ต้องทำให้เสร็จ หากไม่เสร็จก็ต้องบอกรัฐบาลว่าหากทำไม่เสร็จแล้วจะแก้อย่างไร ซึ่งต้องรายงานอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์นี้


# ในส่วนอาจารย์ดูเรื่องข้อตกลงค่าชดเชยหรือไม่

             เรื่องชุมชนมี 2 เรื่อง เรื่องแรก เรื่องข้อตกลงกับพื้นที่หน่วงน้ำซึ่งเป็นภาระของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งบอกไว้ว่าช่วงต้นเดือนคงได้ โซลูชั่น จะจ่ายอย่างไร จะช่วยเหลืออย่างไร แบบไหน คือการจ่ายก็เป็นการจ่ายเงิน แต่เรื่องความช่วยเหลือที่ต้องตามมา เช่น การให้ทำนา 2 ครั้งจะทำอย่างไรในเวลาที่เปลี่ยนไป การที่จะช่วยชุมชนที่ติดอยู่ในน้ำเป็นเดือนให้สามารถเข้าออกได้ หรือสามารถมารับความช่วยเหลือได้ โดยไม่ต้องพายเรือมาจะต้องทำอย่างไร หลังจากน้ำลงแล้วจะช่วยเรื่องอาชีพอย่างไร อันนี้เป็นข้อตกลงระหว่างชุมชนกับกระทรวงเกษตรฯ ส่วนเรื่องที่ 2 ที่เรียกว่าแผนเผชิญเหตุ อันนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงทรัพยากรฯ กำลังประชุมอยู่กับกรมชลประทาน และจังหวัด ส่วนนี้เป็นเพียงส่วนที่เตรียมการไว้ล่วงหน้าว่าถ้าจะมีน้ำท่วมในพื้นที่ หลักในจังหวัดด้านล่างจะมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ และเท่าที่รายงานมานั้นอาจจะซ้อมในช่วงกลางเดือนหรือปลายเดือนเม.ย.นี้ โดยเป็นการซ้อมระบะเตือนภัย ระบบอพยพ ระบบโลจิสติค ระบบการเคลื่อนย้ายเครื่องมือที่จะไปช่วยเหลือการสูบน้ำ รวมทั้งการป้องกันปัญหาน้ำเน่า ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทรวงทรัพยากรฯ จะเข้าไปดูแล แผนนี้เป็นแผนสุดท้ายที่ผมและคณะกรรมการฯ คิดขึ้นว่าจะต้องมี เช่นพื้นที่


# กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้กำหนดพื้นที่ต่างๆ ใช่หรือไม่

             ไม่ใช่กำหนด แต่เป็นการเจรจาให้ได้พื้นที่ตามที่ต้องการ ผมยังมองไม่เห็นเหตุผลว่าจะไม่ได้พื้นที่นั้นยังไง เพราะเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมอยู่แล้ว หากมีปัญหาก็ต้องไปคุยกัน ต้องมีโซลูชั่น อย่างไรก็ตามต้องปรับทั้ง 3 ส่วนถ้าตรงไหนได้น้อย ก็ต้องไปปรับอีกด้านหนึ่ง ทั้ง 3 ตอน ตอนเขื่อน ตอนกลางและตอนระบายน้ำข้างล่าง ผังระบายน้ำแบบ Emergency ก็มีอยู่ ถ้าเกิดเมื่อไหร่น้ำที่นครสวรรค์ มาที่ 4,600 ลบ.ม.ต่อวินาที การเตือนทุกอย่างต้องเริ่มทันที คงจะใช้บบระบายน้ำที่เป็นส่วนข้างล่างทั้งหมด  แล้วน้ำส่วนหนึ่งก็ยังต้องท่วมที่ทุ่งอยู่ดี แต่จะเป็นการท่วมแบบไม่มีระบบหากไม่มีใครยอม จะเกิดความมั่ว แต่ถ้าการจัดการท่วมอย่างมีระบบก็จะบอกได้ว่าเมื่อไหร่ เท่าไหร่ จะนานแค่ไหน ถ้าเกิดยอมรับระบบก็ดี และถ้ามาอย่างปีที่แล้ว หากตอนกลางอ่อน ข้างล่างก็ต้องเข้มแข็ง ถ้าอ่อนหมดก็ตัวใครตัวมัน แต่ผมไม่เชื่อว่าจะอ่อนหมด เพราะได้เตรียมการไว้มากพอสมควร ทางเอกชนก็พยายามเตรียมการในส่วนของเขา แม้ว่าเราจะพยายามทำโปรเฟคทีพไดร์ไว้หมดแล้ว


# แล้วในส่วนของแบริเออร์

             ตัวแบริเออร์ทั้งหลายจะส่งผลแน่นอน ถึงได้บอกว่าแผนที่มีความสำคัญ เพื่อเราจะได้บอกได้และปรับผังน้ำได้ว่าควรไปด้านไหนให้เหมาะสม คือการบริหารจัดการน้ำเราก็จะมีผังน้ำเป็นข้อมูลที่เป็นสถิติแผน ถ้าเรากำหนดไว้เป็นแบบจำลองที่เลวร้ายที่สุดน้ำที่จุดนครสวรรค์ น้ำเข้ามา 4,600 เท่ากับปีที่แล้วเราจะบริหารจัดการยังไง ไปที่เขื่อนเจ้าพระยาแค่ไหน ไปลุ่มน้ำน้อยแค่ไหน ไปทางสุพรรณบุรีแค่ไหน ไปทางคลองชัยนาท-ป่าสักแค่ไหน ทุกจุดจะเป็นจุดที Alert ว่าถ้ามันเกินเท่านี้แล้วมันจะมีปัญหา ถ้าเผื่อข้างบนไม่มีประสิทธิภาพเลยน้ำก็ต้องท่วมแถวนี้(กลางน้ำ) อยู่ดี แต่จะเอาแบบไม่มีระบบหรือไม่มีระบบก็ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง


# คน Alert คือกรมชลประทาน?

             ก็กรมชลประทานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่เขาคงจัดการกันเองมั๊ง


# ปีที่แล้วคน Alert แต่ Alert ผิดหรือเปล่า

             ไม่รู้ มี Alert หลายคนตอนที่ผมนั่งเป็นกรรมการอยู่ จนมึนไปหมดเลย  กูจะฟังใครดีวะ บ้านผมเกือบท่วม แบกเกือบตาย น้ำก็ไม่มา


# ในส่วนของถนนมีข้อมูลหรือยังว่าต้องเจาะทะลุกี่เส้น

             ปีที่แล้วถ้าเขาไม่มีข้อมูลผมว่าเขากลับไปนอนบ้านได้แล้ว ต้องรู้แล้วสิว่าตรงไหน แต่ที่ผมมีข้อมูลเป็นปึ๊งเลยแต่ไม่สามารถจะให้ได้เพราะไม่แน่ใจว่าเขาปรับ ข้อมูลหรือยัง คือเรื่องข้อมูลถ้าเป็นข้อมูลทางการอุตุฯ และทางน้ำ แนะนำให้ไปถามนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส่วนเรื่องโครงการที่อนุมัติของหน่วยงานต่างๆต้องถามนางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าตรงไหนได้รับอนุมัติเท่าไร โครงการอะไรบ้าง “แผนระยะสั้นและผังน้ำเสร็จมาตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2554 “


# แล้วได้คุยถึงแม่น้ำป่าสัก2 ที่มีข่าวว่าจะขุดเลียบชัยนาท-ป่าสัก

             ไม่มี เท่าที่ทราบ แต่ไม่ใช่ไอเดียของผม แต่เขื่อนป่าสักสามารถเก็บน้ำได้เพียงครึ่งเดียวของปริมาณน้ำที่มา ถ้าพระเจ้าอยู่หัวไม่ทำ ป่านนี้กรุงเทพไม่รู้เป็นยังไง เขาก็พยายามดูว่าออฟชั่นของป่าสักควรจะทำยังไง แต่สำหรับผมคิดว่าป่าสักส่วนหนึ่งน่าจะเอาใช้ทำประปาในกรุงเทพแทนที่จะใช้ คลองระพีพัฒน์ แต่นี่ก็ไม่ใช่ไอเดียผมคนเดียว แต่ผมก็ไม่ทราบว่าในระยะยาวเขาจะทำยังไง


# ที่เราพูดเนี่ยพูดแค่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่อีก 2-3 ลุ่มน้ำที่เป็นปัญหาที่เราต้องดูแลในระยะยาว

             “ถ้าถามเฉพาะงานนี้ทำยังไงให้ประเทศรอดจากน้ำท่วม ให้มีความสูญเสียน้อยที่สุด งานที่ออกไปเป็นการลดระดับความเสียหาย แต่ไม่ใช่เป็น Total Protection คือ ป้องกัน 100% หรือปรับตัว ถ้าเป็นเรื่องของการปรับตัวในระยะยาวพื้นที่ทิ้งน้ำทั้งหมด ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นอุตสาหกรรมก็มี กลายเป็นคันกั้นน้ำเป็นอะไรทั้งหมด ต้องปรับหมด ต้องอะแด๊ปให้มันเข้ากับที่ทิ้งน้ำได้ยังไง


# รอบนิคมฯที่ทำคันสูงๆเราต้องทำทางเบี่ยงน้ำไหม

             ใช่ คือสิ่งที่จะต้องทำจริงๆแล้วควรจะต้องเตรียมการตั้งแต่ปีนี้ก็คือว่ามันจะ ต้องจัดการเทศบัญญัติ หรือการจัดการเรื่องผังเมือง เกี่ยวกับระดับคันคูน้ำที่สร้างเสริมขึ้นมา เพราะไม่เช่นนั้นถ้าทุกคนสร้างคันหมดโดยไม่คำนึง คุณคิดว่าอีก5ปีจะเกิดอะไรขึ้น


# พื้นที่ที่อยู่ข้างล่างก็ท่วมตายสิ

             ก็ทางน้ำมันจะไปทางไหนละ คือเรื่องนี้ผมคิดว่าระยะยาวผมไม่แน่ใจในเรื่องข้อบัญญัติของจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลก็ดีหรือกทม.ซึ่งเป็นองค์กรพิเศษน่าจะใช้อำนาจ โดยใช้พระราชบัญญัติผังเมืองเป็นแม่ในการที่จะออกพระราชบัญญัติผังเมือง เฉพาะพื้นที่ของตัวเอง เพราะว่าส่วนนี้จะต้องทำประชาพิจารณ์อีกเยอะ ไม่ใช่ของง่ายๆที่จะทำ


# ประชาชนที่รุกน้ำบึงอะไรต่างๆจะทำยังไง

             คือเรื่องบึงเนี่ยนะ เรื่องคลองมันมีเจ้าของหลายคน ถ้าเป็นคลองที่มนุษย์ทำขึ้น ใครทำก็เป็นเจ้าของ หรือถ้าไม่มีใครดูแลก็ต้องอนุมานว่าเป็นที่ราชพัสดุ ส่วนคลองธรรมชาติขณะนี้เท่าที่ได้ตรวจสอบกันมาผู้ดูแลก็คือองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น กทม.ก็เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาตำบลก็เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลก็เป็น ฉะนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับประเภทของคลองว่าอยู่กับใคร ทีนี้จะทำได้หรือไม่ก็อยู่ที่ผู้ดูแลว่าจะกำหนดมาตรการได้แค่ไหนกฎหมายแข็ง แรงแค่ไหน การบังคับใช้กฎหมายเป็นยังไง

             ในทางเทคนิคมีเทคนิคหลายอย่าง เช่น ถ้าในกทม.มันทุบทิ้งไม่ทัน ทุบทิ้งไม่ได้ก็สูบข้ามมันไปเลย และผมก็คิดว่าก็คงต้องทำ คือถ้าแก้ในทางกฎหมายไม่ได้ก็ต้องมีทางแก้ในทางวิศวกรรม “ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้ นอกจากการสู้กับธรรมชาติ”


# แล้วคลองเปรมประชากร

             ก็มีสิทธิ์จะทำแบบนี้ หรือทำบายพาสอะไรสักอย่าง


# แล้วอย่างบ้านที่รุกเข้ามาในคลองเกือบครึ่งจะทำยังไง

             ก็นี่ไงก็ถึงบอกว่ามันมีวิธีการที่จะต้องทำ แต่มันจะเปลือง



# เรื่องเตือนภัยเป็นหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์

             ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงวิทย์ ที่ตอนนี้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์กำลังเซ็นกับหลายหน่วยงาน เพราะคราวที่แล้วเตือนกันเยอะ ไม่รู้จะฟังใคร ผมก็มึน จะเอายังไงกับกูแน่วะ ขนของสองหน นี่หนที่สองยังไม่เอาลงเลยนะยังอยู่บนบ้าน บ้านผมอยู่คลองแสนแสบเขาบอกว่ามาแล้วภายใน3วัน


# แสดงว่าจากนี้ก็จะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้นที่เป็นคนเตือน

             ใช่ ต้องเป็น อย่างนั้น ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็ไม่ได้ แต่นักวิชาการจะมาพูดก็อีกเรื่อง แต่หน่วยงานของรัฐต้อง Say yes or no ส่วนใครจะมาด่าหรือยังไงเพราะเราเป็นสังคมเปิดก็ว่าไป แต่ผมยังคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อราชการอยู่ แต่ว่าผู้บริโภคข่าวสารก็ใช้ดุลพินิจของตัวเอง


# แต่ถ้ายังต่างคนต่างเตือนเหมือนครั้งที่แล้วก็จะเละอีกรอบ

             ไม่ได้หรอก ให้เกิดไม่ได้หรอก แต่ตอนนี้ผมยังรู้สึกว่าฝนมันจะตกหรือไม่ตกกันแน่ มันก็ต้องทำอะไรสักอย่างกับเรื่องพวกนี้


# ที่บอกว่าอีก2สัปดาห์จะสรุปแล้วจะมีการเสนอ

             คือถ้าเขามีการประชุมกยน.อีก ผมก็จะเสนอว่าอะไรที่ยังเป็นอุปสรรคที่ต้องแก้ไข อะไรที่ทำไปตามแผนแล้วก็ถือว่าดีไป ส่วน scenario ที่ให้ไปทำก็น่าจะอีก 2 อาทิตย์ ก็ต้องเอามาดูกันอีก และวันนั้นต้องหวังว่า เอลนินโญ่ รานินญ่า ฝนตกไม่ตกก็ต้องชัดขึ้นบ้าง ผมไม่ค่อยแน่ใจเวลาที่ผมพิจารณาร่วมกับทุกคนในเรื่องนี้ ผมก็พยายามเซฟคอร์ส อะไรที่ไม่ควรทำเยอะแยะก็ไม่ต้องทำ แต่ว่าการเซฟคอร์สมันก็เสี่ยงกับพวกผม เพราะกลายเป็นว่าความเสี่ยงมันก็ไปอยู่ที่ตรงนั้นนี้ก็ไม่อยากจะเอาเงินมา

             “จริงๆแล้วต้องไม่ลืมว่าบ้านเรานั้นไม่เคยมีน้ำท่วมมานาน ถ้าวันนึงเราลงทุนอะไรไปแล้วมันไม่ท่วมอีก 10 ปี จะโดนด่าไหมเนี่ย ถ้าอีก10ปีน้ำท่วมกรุงเทพนี่สิเป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะว่าสัญญาณมันค่อนข้างชัดเจน มันคงจะทั้งระดับน้ำทะเลและคลื่น อย่างอังกฤษเขาปิดแม่น้ำเทมส์ไว้ตั้ง20ปีก็โดนด่ารึเปล่าไม่รู้ แต่อย่างเราคิดว่าเราจำเป็นจะต้องเริ่มคิด จะย้ายเมืองหลวงมันก็ไม่มีความหมายหรอกสำหรับผม”

             ถ้าประเทศเข้มแข็งอย่างออสเตรเลียที่เมืองหลวงอยู่แคนเบอร่าก็มีคนจิ๊ดเดียว ไม่มีใครไปอยู่เพราะมันอยู่กลางประเทศ เมืองใหญ่ๆในโลกมันอยู่ริมทะเลหมด เพราะต้องใช้เรือ ต้องขนของ ด้านการเงินกดเครื่องอัตโนมัติได้แต่ว่าdelivery and good service มันไม่ได้ มันต้องลงเรือ เพราะฉะนั้นการย้ายเมืองหลวงเป็นเพียงการนำข้าราชการและนักการเมืองไปกองรวม กัน แล้วต้นทุนทางสังคมของเราในกรุงเทพจะตามไปหรือ ฉะนั้นเราถ้าไม่หาทางก็ต้องปรับตัว ปรับเรื่องผังเมือง เรื่องการสร้างอาคาร การสร้างคันกั้นน้ำ


# คณะอนุกรรมการคิด กรรมการคิด แล้วคนที่จะปฏิบัติตามเขาแอคทีฟหรือไม่

             คราวนี้ผมก็เห็นความพยายาม แต่ว่ามันจะติดอะไรตรงไหนบ้าง เช่น ทุกคนจะลอกคูหมด แล้วจะเอาแบ็กโฮมาจากไหนในประเทศนี้ คิดดูสิ ทหารจะลอกคู ชาวบ้านก็จะลอก องค์กรปกครองท้องถิ่นก็จะลอกคู กรมชลประทานก็จะลอก แล้วจะเอารถที่ไหน อย่างทหารเขามีบริการของเขาอยู่แล้ว แต่ว่าคนอื่นเรื่องจ้างจะระดมยังไง เนี่ย ปัญหาอย่างนี้ถามว่าใครรู้ไหมว่าขณะนี้มีแบ็กโฮที่ทำบริการแบบนี้เท่าไรใน ประเทศไทย ไม่มีใครรู้เพราะไม่ได้จดทะเบียน มันไปทำงานในป่าไม่ได้จดทะเบียนก็ไม่ต้องเสียภาษี “คราวนี้เรื่องทั้งดีและห่วยคงเกิดขึ้นเยอะ”



.....................

(หมาย เหตุ : "ปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา : แผนรับมือน้ำระยะเร่งด่วน 3 เดือน : สัมภาษณ์พิเศษ โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง , เตชะวัฒน์ สุขรักษ์  สำนักข่าวเนชั่น)

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources