วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

ยังคาดการณ์ 'น้ำ' ไม่ได้ กษ.เร่งพร่องน้ำ 2 เขื่อนหลัก



รมว.เกษตรฯ รับสภาพคาดการณ์ "น้ำ" ไม่ได้ ตั้งเป้าพร่องน้ำ 2 เขื่อนหลักสิริกิติ์, ภูมิพล ให้เหลือ 45% หวังที่ว่างรับน้ำ 1.2 หมื่นล้าน ลบ.ม. ...


เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน เพื่อพิจารณากระทู้ถามด่วนการดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยนายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า วิกฤติอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ เมื่อปี 2554 สร้างความเสียหายต่อภาครัฐและประชาชนไม่ต่ำกว่า 1.44 ล้านล้านบาท ปีนี้เหลืออีกเพียง 3 เดือน ก็จะถึงเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นเดือนแรกของฤดูฝนได้มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำว่าจะเท่ากับปีที่แล้ว รัฐบาลต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติอุทกภัยซ้ำอีก

ทั้งนี้ จึงอยากทราบว่ามีนโยบายการพร่องน้ำจากเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อย่างไรมีการขุดลอกคูคลอง แม่น้ำ ประตูระบายน้ำเพื่อรับน้ำ และระบายน้ำออกสู่ทะเลแล้วหรือไม่ และมีแนวทางแก้ไขปัญหาการสร้างบ้านเรือน บุกรุกแนวคลอง บึง ลำน้ำสาธารณะแม่น้ำอย่างไร ขณะที่งบซ่อมแซมได้อนุมัติบางส่วนแล้ว แต่ยังมีความไม่พร้อมของหน่วยงาน ราชการ อาทิ กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทรัฐบาลมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะใช้แนวทางจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ 

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า วันนี้ยังไม่มีใครคาดการณ์ระดับปริมาณน้ำได้ แต่รัฐบาลไม่ได้ประมาท โดยตั้งสมมติฐานว่า ถ้าน้ำมากเท่าปี 2554 คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้วางกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนหลักไว้ตามปกติ มีเกณฑ์ควบคุมที่เรียกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำทั้งตัวบนและตัวล่าง โดยยึดหลักสมดุลของน้ำ คือต้องดูว่าปริมาณน้ำไหลเข้าและระบายออกสมดุลอย่างไร เช่น การระบายน้ำกับการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอุตสาหกรรม ระบบนิเวศ และพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำในฤดูฝนโอกาสความเสี่ยงที่น้ำจะเต็มอ่างก็พอมีบ้าง ส่วนพื้นที่ด้านล่างก็มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำเช่นกันแต่อยู่ในภาวะรับได้ รัฐบาลมีเป้าหมายว่าต้นฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนทั้งในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมชลประทาน ใกล้เคียงหรือเท่ากับระดับกักเก็บน้ำต่ำสุดที่เราวางไว้ แต่สามารถปรับเปลี่ยนตามเป้าหมาย

นายธีระ กล่าวต่อว่า เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เรามีข้อตกลงว่าจะใช้เกณฑ์กักเก็บน้ำ 45% แบ่งเป็นเขื่อนภูมิพลมีน้ำในเขื่อนประมาณ 6,000 พันล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนสิริกิติ์เหลือน้ำประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. โดยรัฐบาลวางแผนเอาไว้ว่า ณ วันที่ 1 มี.ค. เขื่อนภูมิพลจะให้มีน้ำในเขื่อนประมาณ 71% ส่วนเขื่อนสิริกิติ์จะให้เหลือ 70% และ ณ วันที่ 1 เม.ย. เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ เราหวังว่าจะมีน้ำเหลือประมาณ 58% โดยวันนี้การระบายของทั้งสองเขื่อนกำลังดำเนินการอยู่ เขื่อนภูมิพลระบายวันละ 60 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์วันละ 40 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับว่า ณ วันที่ 1 พ.ค. เขื่อนสิริกิติ์จะมีพื้นที่ว่างรองรับน้ำได้ 5,200 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล ประมาณ 7,400 ล้าน ลบ.ม. ทั้ง 2 เขื่อนรวมกันมีพื้นที่ว่างรับน้ำได้ประมาณ 12,000 ล้าน ลบ.ม. คิดว่าเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนได้ ส่วนพื้นที่ฟลัดเวย์ยังไม่มีการกำหนด ต้องรอผลการศึกษาให้ขอบเขตผลกระทบที่แน่ชัดก่อน

นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ กรมทางหลวงชนบทได้จัดเตรียมงานทุกอย่าง เพื่อกันไม่ให้น้ำหลงเข้าทุ่งคราวที่แล้วพบน้ำล้นเข้ามา ปีนี้คงไม่เกิด ซึ่ง กยน.เตรียมการไว้ทุกรูปแบบ ส่วนกรณีการปลูกสิ่งก่อสร้างบ้านเรือนบุกรุกคูคลองกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าเร่งดำเนินการแล้ว แต่ปัญหาเกิดมานาน เราออกสำรวจทั่วประเทศได้สั่งให้จังหวัด อำเภอ และท้องถิ่นสำรวจ โดยได้ประสานการเคหะแห่งชาติช่วยจัดหาที่พักรองรับ

ด้าน พล.ต.ท.ชัจน์ กุลดิลก รมช.คมนาคม กล่าวว่า กรมเจ้าท่ามีโครงการขุดลอกคูคลอง 7 ลุ่มน้ำ 26 ต้นน้ำ ระยะเวลาดำเนินการตามแผน 8 เดือน ให้แล้วเสร็จเดือน ก.ย.2555 วงเงิน 1,215 ล้านบาท ทำการว่าจ้างบริษัทแล้ว จะเริ่มดำเนินการได้ต้นเดือน มี.ค.นี้ โครงการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน วงเงิน 277 ล้านบาท โครงการขุดลอกแม่น้ำสายหลัก 2 ลุ่มน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำยม 418 ล้านบาท ส่วนการดำเนินการกับผู้บุกรุกแนวลำน้ำสาธารณะได้จัดทำปักหมุดจีพีเอส ผ่านระบบดาวเทียม 18,000 หลักทั่วประเทศ ใน 5 ปี โดยปี 2555 เฉพาะพื้นที่ภาคเหนือจะปักหมุดได้ 1,200 หลัก ขณะนี้อยู่ระหว่างหาผู้รับจ้าง ซึ่งจะปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์กฎกระทรวงและระบบผังเมืองของท้องถิ่น.
แหล่งที่่มาข้อมูล http://www.thairath.co.th/

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources