วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

"เราไม่จำเป็นต้องเป็นเสือตัวจริง..."คำชี้แจงจากผู้ตรวจการแผ่นดิน 'ประวิช รัตนเพียร'



Pic_243788

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงนี้ที่คนพูดถึงกันอยู่คือการตรวจสอบเรื่อง ''จริยธรรม'' ของนักการเมืองที่เป็นถึงรัฐมนตรีในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยองค์กรที่กำกับ ไว้คอย ''ควบคุม'' ไม่ให้เกิดการประพฤติที่มิชอบอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่เห็นสมควร และชื่อขององค์กรแห่งนี้ก็คือ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่กำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งในครั้งนั้นยังคงเป็นชื่อ ''ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา'' จนกระทั่งได้ตัดคำว่า ''ของรัฐสภา'' ไป เหลือไว้แต่เพียงผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อเพิ่มอำนาจขององค์กรแห่งนี้ให้มากขึ้น

''ไทยรัฐออนไลน์'' ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 1 ใน 3 ท่าน ของผู้บริหารองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เพิ่งเข้ามาร่วมงานใหม่ภายใต้ชายคาองค์กรแห่งนี้ เพื่อเปิดวิสัยทัศน์การทำงาน และอธิบายถึงขอบเขตอำนาจกับองค์กรที่หลายคนค่อนแคะว่าเป็นเสือกระดาษ หรือราชสีห์ที่หลับใหล ยังไม่ตื่น ว่าความเป็นมา หน้าที่ มีที่มาหรือที่ไปอย่างไรบ้าง

ความเป็นมาและข้อควรรู้หน้าที่ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน...

นายประวิช กล่าวถึงองค์กรสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะที่เพิ่งมารับตำแหน่งไม่กี่เดือนในองค์กรแห่งนี้ว่า ก่อนเข้ามาทำงานตรงนี้เรามีความตั้งใจจริง และมีการแสดงวิสัยทัศน์ไว้เยอะว่า เราอยากเห็นอะไรสำหรับหน่วยงานนี้ เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ มันเป็นงานที่ต้องใช้ความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แต่เราก็มีอำนาจน้อยมาก การตั้งเรื่องตั้งประเด็นให้หน่วยงานอื่นรับไปปฏิบัตินั้นสำคัญมาก สามารถที่จะทำได้ทุกรูปแบบ

องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งนี้มีรูปแบบที่รับมาจากประเทศแถบยุโรปทางเหนือ สวีเดนก็คือประเทศต้นแบบขององค์กรแห่งนี้ Ombudsman เป็นศัพท์ของผู้ตรวจการแผ่นดินในภาษาสวีเดน ให้หน่วยงานแห่งนี้มาเป็นหน่วยงานที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ของพี่น้องประชาชน เป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องประชาชน และของเราก็ตั้งมาแล้ว 12 ปีด้วยกัน ซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็ให้เราทำหน้าที่นี้ จริงๆ ในการเป็นผู้แทนราษฎร เวลาลงพื้นที่ก็จะมีประชาชนฝากเรื่องราวมาให้ช่วยเป็นประจำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความพยายามที่จะให้ผู้แทนราษฎรนั้นมาควบคุมในเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ ควบคุมรัฐบาล และความเห็นชอบเรื่องงบประมานแผ่นดิน เขาต้องการไม่ให้มาก้าวก่ายการทำงานของราชการประจำมากขึ้น มันก็เลยมาลงตัว ถ้ามีหน่วยงานที่ลงตัวเป็นกลาง

แต่เดิมคือหน่วยงานชื่อว่า ''ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา'' คือมารับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชน และไปดำเนินการถามไถ่ให้พี่น้องประชาชนต่างๆ ต้องให้คนกลางไปทำหน้าที่ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ ต้องเร็ว เป็นตัวแทนประชาชนที่ต้องไปคุยกับหน่วยงานของรัฐให้เร็ว เราแสดงวิสัยทัศน์ว่า ''ต้องเร็ว'' เลยจะต้องมาขอทบทวนการทำงานของหน่วยงานของรัฐที่นี่ว่าเราจะทำงานกันอย่างไร

"...เสือกระดาษที่ไม่ธรรมดา เราไม่จำเป็นต้องเป็นเสือตัวจริง...เขาออกแบบมาเพื่อแบบนี้ ไม่ให้มีหน้าที่ในการสั่งการ"
ส่วนเรื่องที่มีคนมองว่าผู้ตรวจการแผ่นดินทำหน้าที่ได้เพียงแค่เสือกระดาษนั้น แบบนั้นก็ถูกต้อง เพราะว่า เป็นเสือกระดาษที่ไม่ธรรมดา คือการทำหน้าที่ของเราอย่างหนึ่งก็คือ คล้ายๆ กับว่าถ้ามีคนร้องเรียนว่าหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมีปัญหา เราก็จะเชิญเขามา ซึ่งเราไม่มีหน้าที่ไปบังคับหน่วยงานให้ไปทำอย่างไรอย่างหนึ่ง เขาออกแบบมาเพื่อแบบนี้ ไม่ให้มีหน้าที่ในการสั่งการ แต่เขาให้บอก ให้แนะนำว่าจะทำอย่างไรอย่างหนึ่ง แต่ถ้าหน่วยงานทำไม่ได้ก็ขอให้บอก ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรก็ว่ากันไป เรามีหน้าที่ติดตามอย่างนี้ไปเรื่อย แต่ไม่ได้มีหน้าที่อำนาจเหมือนศาลปกครอง ที่จะบังคับหรือพิจารณาวินิจฉัยได้ ซึ่งเป็นการออกแบบที่ออกแบบมากันคนละอย่าง แต่กระบวนการของศาลปกครองต้องมีความละเอียดรอบคอบมาก แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินแค่เดินมาบอก ส่งจดหมายมาเล่าให้ฟัง เราก็รับเรื่องได้หมด เป็นการคลายทุกข์ขั้นต้น ซึ่งหากพูดถึงเรื่องดังกล่าวว่าเป็นเสือกระดาษในความหมายนั้นก็ถูกต้อง

เราไม่จำเป็นต้องเป็นเสือตัวจริง เพราะประชาชนต้องการความรวดเร็ว การที่เป็นเสือตัวจริงคือการแก้ไขปัญหาเป็นที่ตั้ง และแก้ปัญหาในพื้นฐานที่จะช่วยได้อย่างรวดเร็วเสียก่อน ถ้าคนที่มาร้องที่เราแล้วไม่พอใจ ก็สามารถไปร้องศาลปกครองเพิ่มเติมได้อีก ไปร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้เหมือนกัน การมาร้องที่เราไม่ได้เป็นการร้องตัดสิทธิ์ที่อื่น การมาที่เราเพื่อเป็นปากเสียงแทนเขาก่อนในเบื้องต้น หากหน่วยงานของเราขอความร่วมมือแล้วไม่เป็นผล ก็สามารถเอาเรื่องทั้งหมดที่เรารวบรวมนั้น แล้วส่งเรื่องไปหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจกว่าก็ได้

การที่จะเปลี่ยนจากเสือกระดาษไปเป็นคนที่มีอำนาจบังคับใครนั้น ไม่มีความจำเป็นกับระบบทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน และทุกแห่งทั่วโลกของผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะเป็นเหมือนกันเช่นนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่ลงไปใช้อำนาจบังคับใคร แต่จะลงไปประสาน เป็นตัวกลางให้ประชาชน

ต่อข้อถามเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวจริยธรรมนักการเมืองที่เป็นเรื่องอยู่ในขณะนี้นั้น นายประวิช กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา พอเราใช้ รธน.ใหม่ที่เป็นตัวของปี 2550 นี้ เดิมเราเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ปัจจุบันนี้เอาคำว่า ''ของรัฐสภา'' ออก เหลือเพียงแค่ผู้ตรวจการแผ่นดินเฉยๆ เพราะเขาเพิ่มอำนาจและหน้าที่อีกสองเรื่อง คือดูแลเรื่องจริยธรรมของนักการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันที่สองคือดูแลเรื่องการติดตามการใช้รัฐธรรมนูญปี 50 หรือมีประเด็นไหนบ้างที่เป็นปัญหาอุปสรรคที่เขาให้เพิ่มเข้ามา ซึ่งมีอำนาจมากกว่าทุกประเทศที่มีองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินในโลกนี้เสียอีก คำถามที่ว่าเรื่องจริยธรรมไม่เห็นมีบทบาทอะไรเลย เวลานี้เราก็กำกับอยู่ การที่นักการเมืองมีประมวลจริยธรรม อันนี้เกิดจากการกำกับแต่บทบาทยังไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก

ในการติดตามเรื่องจริยธรรมของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปสั่งการ ให้คนที่อยู่เป็นหัวหน้าบังคับใช้เป็นหน้าที่ ในกรณีของนักการเมือง คือประธานรัฐสภาเป็นคนดูแลเรื่องจริยธรรมของส.ส. เราก็จะบอกถ้ามีคนร้องเรียนเข้ามา รายงานเข้ามา เราก็จะรวบรวมและวินิจฉัยให้ อย่างนายกรัฐมนตรีก็เป็นประธานในด้านประมวลจริยธรรม

"เรานี้ต้องเดินเป็นกลาง...การหรี่ตาข้างหนึ่ง ถ้าขืนไปทำอย่างนั้นทุกอย่างก็จะทำงานได้ยากหมด"

การที่ดำเนินงานเรื่องจริยธรรมของนักการเมืองของผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ได้ติดขัดอะไร เราถือว่าการดำเนินการ เรานี้ต้องเดินเป็นกลาง เนื้อหาอะไรเข้ามาก็ต้องว่ากันไปตามนั้น ไม่มีการมองเห็นคนนั้นหรือมองเห็นคนนี้ เป็นการหรี่ตาข้างหนึ่ง ถ้าขืนไปทำอย่างนั้นทุกอย่างก็จะทำงานได้ยากหมด ผู้ตรวจการทั้งสามคนก็เห็นพ้องด้วยกัน ถ้าเป็นเรื่องนักการเมืองจำเป็นต้องมีความเห็นร่วมกัน ตอนนี้ยังไม่เห็นมีการรายงานเรื่องที่ติดปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานเรื่องจริยธรรม เพราะอาจจะมีเรื่องร้องเรียนไม่เยอะ หรือบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินอาจจะไม่ค่อยมีคนทราบ อาจเพราะไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดหรือสร้างเรื่องได้ แต่เราก็สามารถตั้งเรื่องเพื่อส่งให้ ป.ป.ช. วินิจฉัยได้

จุดอ่อนของอำนาจสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ในแง่ของผม เรามีทั้งศาลปกครองและองค์กรของผู้ตรวจการแผ่นดิน จำเป็นที่จะต้องมีบทบาทต่างกัน ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไปทำตัวเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยด้วยเอง กระบวนการทุกอย่างก็จะสามารถทำโดยเร็วไม่ได้ กระบวนการจะต้องซับซ้อน ก็คงจะกลายเป็นศาลปกครองขึ้นมาอีกแห่ง ซึ่งหลายประเทศนั้นจะมีการเลือกว่าจะมีเพียงศาลปกครองหรือองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ในเมื่อกรณีที่มีด้วยกันทั้งสององค์กร ก็จำเป็นที่ที่จะต้องเสริมซึ่งกันและกัน มากกว่าที่จะมีอำนาจ แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องปรับให้กระบวนการนั้นมีความรวดเร็วเสียมากกว่า คือการใช้อำนาจที่มีอยู่แล้ว เช่น อำนาจเรียกคนมาพบ เรียกวัตถุพยานเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อวินิจฉัย และอีกอย่างที่ควรปรับก็คือการได้รับหลักฐานต่างๆ แล้ว และควรมีความเห็นอย่างไร ควรจะให้ถือว่าอันนี้เป็นเอกสารตั้งต้น เพื่อไม่ให้ไปเสียกระบวนการอื่นๆ อย่างนี้ ถ้าเห็นบทบาทที่เสริมซึ่งกันและกันแบบนี้ เราก็ควรจะใช้ความสามารถขององค์กรในประเทศ


ต่อคำถามที่ไทยรัฐออนไลน์ทิ้งท้ายไว้ว่าอีก 5 ปีนับจากนี้ คาดหวังจะสร้างอะไรไว้บ้างในองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน นายประวิช กล่าวว่า เราจะทำให้องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เป็นองค์กรที่มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นแบบอย่าง องค์กรที่ขจัดปัญหาปัดเป่าให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว อันนี้คือสิ่งที่เป็นหัวใจและให้ประชาชนพึ่งได้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปส่งเสริมจริยธรรมด้วยตัวเราเอง เพราะเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเขามีหน่วยงานและงบประมาณ มีกำลังพลที่พร้อมจะทำอยู่แล้ว แต่เราจะไปดู ไปเฝ้าระวัง เราจะเตือนก่อนในการที่จะกระทำผิดจริยธรรม เราจะทำหน้าที่ส่งเสริมยกย่ององค์กรที่ดีในเรื่องจริยธรรม นี่คือองค์กรดีเด่น นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าจะเห็นภายใน 5 ปี ต่อจากนี้ ในองค์กรของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เราคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาในเรื่องของจริยธรรมได้ในระยาวต่อไป

แหล่งที่มาข้อมูล www.thairath.co.th

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources