วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

อุทธรณ์ยืนจำคุก 5 ปี อดีตสารวัตรเรียกรับสินบน


ที่ห้องพิจารณาคดี 902 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 14 มี.ค. ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ อ.1902/2550 ที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.สรศักดิ์ บุตรสุวรรณ อดีตพนักงานสอบสวน สน.หลักสอง เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนกระทำผิดเรียกรับทรัพย์สินฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 และ 201
ตามฟ้องโจทก์สรุปความผิดจำเลยว่า ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.- 6 เม.ย.44 จำเลยได้เรียกรับเงินผู้เสียหายที่ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อจำเลย ที่ขณะนั้นเป็นพนักงานสอบสวน สน.หลักสอง เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.เช็ค โดยจำเลยเรียกรับเงินจากผู้เสียหายเป็นค่าดำเนินการติดตามคดี ครั้งละ 2,000 บาท รวม 3 ครั้ง คิดเป็นเงิน 6,000 บาท อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ โดยผู้เสียหายเห็นว่าหากยังคงติดต่อเรื่องคดีกับจำเลยต่อไป คงจะถูกเรียกรับเงินไม่จบสิ้น จึงตัดสินใจร้องเรียนกับผู้บังคับบัญชาของจำเลยตามลำดับชั้น ทั้งที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จนกระทั่งต้นสังกัดมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนเพื่อชี้มูล ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงสรุปว่า จำเลยมีความผิดตามข้อร้องเรียน โดย ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดดังกล่าวและส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการสั่งคดี ซึ่งอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องและยื่นฟ้องจำเลย เหตุเกิดที่ สน.หลักสอง แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กทม. โดยจำเลยให้การปฏิเสธ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 7 พ.ย.51 ว่าจำเลยกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนกระทำผิดเรียกรับทรัพย์สินฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 201 ให้จำคุก 5 ปี จำเลยอุทธรณ์
 
จากนั้นศาลอุทธรณ์ได้ประชุมปรึกษาหารือ และตรวจพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เมื่อจำเลยคัดค้านว่าหนึ่งในคณะอนุกรรมการไต่สวนป.ป.ช.เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของจำเลย ซึ่งอาจมีส่วนได้ส่วนเสียในคดีทำให้ขัดต่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 46 อนุ 1 ซึ่งข้อคัดค้านดังกล่าวจำเลยได้ยื่นให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณา แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากการตั้งคณะกรรมการสอบสวนของ ป.ป.ช. มิชอบนั้น แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานในชั้นศาลปกครองและในศาลยุติธรรม อาจมีความแตกต่างกันโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
 
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยกระทำผิดตามศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ เห็นว่าพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายเบิกความว่า ได้เข้าแจ้งความกับจำเลยเมื่อ 30 มี.ค.44 เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับพ.ร.บ.เช็ค โดยจำเลยเรียกรับเงินจากผู้เสียหายเป็นค่าดำเนินคดี 2,000 บาท ต่อมาวันที่ 5 เม.ย. ผู้เสียหายได้ไปพบจำเลยอีกครั้ง จำเลยได้พูดขอเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการติดตามคดีอีก พร้อมนัดผู้เสียหายมาพบในวันที่ 6 เม.ย. และได้เรียกรับเงินจากผู้เสียหายอีกรวมเรียกรับเงิน 3 ครั้ง เป็นเงิน 6,000 บาท ผู้เสียหายจึงนำเรื่องมาร้องเรียนต่อสตช. จนมีการส่งเรื่องไปที่ป.ป.ช. นอกจากนี้โจทก์ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบสอบสวนทางวินัยจำเลย เบิกความสนับสนุนสอดคล้องคำเบิกความของผู้เสียหาย พยานโจทก์ไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่าเบิกความไปตามข้อเท็จจริง พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ที่จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายมอบเงินให้เพราะได้ขอร้องค่าช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว ไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางคดีนั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างได้ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยเรียกรับเงินเป็นการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ศาลอุทธรณ์เห็นฟ้องด้วยจึงพิพากษายืน.

แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources