วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภัย!อาคารสูง ผู้ใช้วัดใจเจ้าของ


Pic_244154

“อย่างน้อยสองถึงสามชั่วโมง...โครง สร้างที่เป็นมาตรฐานจะมีเวลาให้เราอพยพในช่วงที่เกิดเพลิงไหม้แรงๆ ก่อนที่โครงสร้างตึกสูงจะพังทลายลงมา”

ดร.ประกิจ เปรมธรรมกร รองอธิการบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร บอกพร้อมยกตัวอย่างกรณีตึกเวิลด์เทรดฯ ระยะเวลาค่อนข้างเป๊ะ 3 ชั่วโมง นั่นก็เป็นมาตรฐาน...

ประเด็นอาคารทนความร้อนได้กี่ชั่วโมงยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายๆอย่าง แต่ถ้าพูดเฉพาะโครงสร้างหลักๆต้องย้ำว่า 3 ชั่วโมงไม่ใช่ปัญหา ยังไม่น่าจะพังครืนลงมาทั้งตึก ซึ่งกรณีอย่างนี้ต้องเป็นการไหม้ที่รุนแรงมากๆ


ประกิจ
ประกิจ
เหล็กโครงสร้างธรรมดามีจุดอ่อนในเรื่องของความร้อน บางคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า เหล็กถ้าโดนอุณหภูมิสูง ระดับ 600 องศาเซลเซียส กำลังจะลดลงมา 60-70 เปอร์เซ็นต์

หมายความว่า...กำลังรับน้ำหนักจะเหลือแค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขที่น่ากลัว แต่เทคโนโลยีวันนี้ก็มีตัวฉีดป้องกันให้ทนความร้อนได้มากขึ้น จนทำให้โครงสร้างในภาพรวมทนไฟโหมได้นานขึ้นด้วยเช่นกัน

วันนี้...ความน่ากลัวสำหรับผู้ที่อยู่บนชั้นสูงๆกับชั้นล่างๆต่างกันแน่ ดร.ประกิจ มองว่า ชั้นบนใช้เวลาในการอพยพนานกว่า แต่ถ้าอาคารสูงมากๆ 30 ชั้นขึ้นไปมีระบบเตือนภัย ป้องกันอัคคีภัยที่ดีพอก็ไม่น่าเป็นห่วง

อาคารมาตรฐานปกติสูง 30 ชั้น ใช้เวลาอพยพลงมาถึงจุดปลอดภัย จะใช้เวลาไม่เกิน 10-15 นาที...สบายๆลงแบบฉุกเฉินแป๊บเดียวเท่านั้น ใช้เวลาน้อยกว่าที่หลายคนคิดเอาไว้เยอะ

“การวิ่ง...อพยพที่ว่านี้ ต้องอยู่ในบรรยากาศที่ไม่มีควันคลุ้ง บันไดหนีไฟอยู่ในสภาพแย่ ไม่กว้างพอที่จะรองรับปริมาณคน จนอาจทำให้เหยียบกันได้”

คนทั่วไปไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิศวกรรม จะรู้ได้อย่างไรว่าตึก อาคารสูงที่พวกเขาแขวนชีวิตเอาไว้มีมาตรฐานความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน?

“สังเกตป้ายอย่างเดียวก็คงไม่ได้” ดร.ประกิจ ว่า “อาคารหลายแห่งจะมีใบรับรองจาก กทม.ผ่านการตรวจมาตรฐานความปลอดภัยแล้วในรอบแต่ละปี ติดเอาไว้ให้เห็น...ปัญหามีว่าใบรับรองก็สร้างความมั่นใจได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ทางที่ดีควรจะดูทางหนีทีไล่เอาไว้ก่อนก็แล้วกัน”

ไม่ต่างกับเวลาเราขึ้นเครื่องบิน เขาก็จะบอกเราว่าประตูฉุกเฉินอยู่ตรงไหน อุปกรณ์ช่วยชีวิตมีอะไรบ้าง อาคารสูงก็เช่นกัน...คุณ? รู้หรือยังว่า บันไดหนีไฟอยู่ตรงไหน

“ผมเชื่อว่าอาจจะถึงครึ่งหนึ่งของคนที่ทำงานตึกสูง ไม่รู้ว่าบันไดหนีไฟอยู่ตรงไหน ชีวิตปกติก็ขึ้นลิฟต์...ลงลิฟต์ วันนี้ให้ลองสังเกตสักนิดว่าบันไดหนีไฟอยู่ที่ไหน ถึงเวลาฉุกเฉินจะได้ไม่ตื่นตระหนกจนทำอะไรไม่ถูก”

ระบบความปลอดภัย...สปริงเกอร์ดับไฟ สังเกตก็อาจจะเห็นว่ามีติดตั้งอยู่บนเพดาน แต่ถามว่าใช้ได้หรือเปล่า?...ก็จะมีรอบในการตรวจสอบ ทดสอบ กรณีอาคารสำนักงาน อาคารสูง จะให้มีการทดสอบเป็นระยะๆ

ที่ง่ายที่สุดก็ระบบตรวจจับควัน กับความร้อน เจ้าหน้าที่ทำการทดสอบไม่ยาก ส่วนระบบสปริงเกอร์ฉีดน้ำค่อนข้างจะทดสอบยากนิดนึง คงต้องอาศัยความมั่นใจมาตรฐานตัวสปริงเกอร์ที่ใช้ในแต่ละจุด

“สปริงเกอร์ถึงมีระบบท่อ แต่ไม่มีน้ำ อะไรทำนองนี้...ระบบจะมีปั๊มน้ำเอาไว้อัดแรงดันน้ำอยู่ตลอดเวลา หลายแห่งอาจจะมีปัญหาปั๊มไม่ทำงาน ก็จะเป็นปัญหาเวลาฉุกเฉิน”

ผู้ใช้อาคาร...ผู้เช่าในแต่ละที่ ถ้าใส่ใจ ช่วยดูแล จะเป็นการกระตุ้นให้เจ้าของอาคารใส่ใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น อาคารสูงแต่ละที่จะไปหวังพึ่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบอย่างเดียว ให้ครบทุกระบบคงไม่ได้แล้วในวันนี้

“ถ้าไม่เกิดเรื่องก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดเรื่องขึ้นมา แล้วอาคารก็มีปัญหาเรื่อง ระบบเตือนภัย...ไม่มีใครคาดเดาผลที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตมากขนาดไหน”

วิศวกรรมโครงสร้างอาคารสูงกับปัจจัยเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ถามว่ากลัวอะไรมากที่สุด? ดร.ประกิจมองว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติในการที่จะเกิดสำหรับเมืองไทย แรงลมก็ไม่เยอะเท่าไหร่ แผ่นดินไหวก็เกิดเฉพาะจุด เช่น ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก อาจจะแรงนิดนึงแต่โดยมาตรฐานเทียบกับต่างประเทศเรายังไม่รุนแรงมากนัก

ถ้าเราออกแบบก่อสร้าง ด้วยความระมัดระวัง โอกาสที่อาคารจะพังครืนลงมาราบเป็นหน้ากลองมีน้อย หรือเรียกว่าแทบจะไม่มีเลย...ฉะนั้น ท้ายที่สุดที่กลัวกันไม่ได้เป็นภัยที่เกิดจากธรรมชาติ แต่เป็นภัยที่เกิดจากมนุษย์ ทำให้มันเกิด ไม่ว่าจะเป็นความประมาทเลินเล่อ ความเก่าของอุปกรณ์ต่างๆตามสภาพของการใช้งาน กรณีไฟฟ้าลัดวงจร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ใช้ไฟเกินมาตรฐานสายไฟ

อีกประเด็นที่เห็นบ่อยในฐานะที่มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาดูแลอาคารสูงหลายแห่ง ที่ผู้ใช้อาคารไม่น้อยมองข้าม นั่นก็คือการเก็บกวาด ดูแลสถานที่

ใต้สปริงเกอร์จะเอาชั้นสูงๆมาวาง เอาของมาไว้เต็มจนเกือบติดเพดาน สปริงเกอร์ทำงานน้ำก็ฉีดกระจายไม่ได้ผลอะไร...อะไรก็ตามที่เป็นวัตถุไวไฟจะต้องไม่เอาเข้ามา เช่น สี น้ำมันไอระเหย แก๊ส...แน่นอนห้ามเอาขึ้นอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องเข้มงวด เพราะไม่ใช่แค่ห้องเราห้องเดียว แต่เกี่ยวกับชีวิตคนจำนวนมาก

ต้นทุนระบบความปลอดภัยในอาคารสูง ค่าใช้จ่ายแปรผันพอสมควร แต่ตัวเลขที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 10–20 เปอร์เซ็นต์ ของตัวอาคาร และอาคารยิ่งสูงก็ยิ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ขณะเดียวกันตัวเลขอาจจะไม่ได้บอกอะไรเราได้ทั้งหมด เพราะขึ้นอยู่กับการออกแบบที่จะต้องดูรายละเอียด

“พุ่งเป้าไปที่ทางหนีไฟ...เวลาเกิดเพลิงไหม้จะดับไฟฟ้าหมด ช่องทางหนีไฟจะเห็นชัดขนาดไหน จะใหญ่ขนาดไหน มีคนที่อยู่ชั้นนั้นขนาดไหน...ถ้ามีห้าร้อยทางกว้างสองเมตร เวลาฉุกเฉินมีปัญหาแน่”
ประเด็นนี้...ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องการออกแบบ ที่มีความพิถีพิถันแค่ไหน ในฐานะอาจารย์  การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะต้องเน้นย้ำนักศึกษาให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่แค่ออกแบบเก่งเท่านั้น ต้องเน้นที่ความปลอดภัยควบคู่ไปด้วย ดร.ประกิจ บอกว่า น่าเศร้าเวลาดูค่าใช้จ่ายเรื่องระบบความปลอดภัย มักจะเป็นส่วนที่ถูกให้ความสำคัญน้อย...แต่จะเน้นเรื่องหน้าตา การใช้สอยพื้นที่เป็นหลัก

ในแง่ความปลอดภัยเราคงต้องปลูกฝังจิตสำนึกให้มากกว่านี้ทุกระดับ ผู้รักษากฎหมายต้องดูแลอย่างเที่ยงธรรมในอาคารที่มีปัญหา ถ้าต้องรื้อก็ต้องทำ ถัดมาเจ้าของอาคารก็ต้องดูแลโดยเฉพาะอาคารสูงยุคแรกๆที่สร้างก่อนที่จะมีกฎหมายควบคุม จะปรับปรุงอะไรได้บ้าง วิธีที่ดีที่สุดคือมองสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริง จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง แล้วจะทำอย่างไรในการอพยพ เพราะสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งก็คือชีวิตคน

สุดท้ายผู้ใช้อาคาร ต้องมีความระวังพอสมควร นั่งทำงานสูง 30 กว่าชั้น...ชั้น 40 ถ้าเราช้าสัก 5 นาทีนั่นก็อาจหมายถึงชีวิตเรา ความปลอดภัยเป็นเรื่องของทุกคน ความไม่ประมาท... เตรียมพร้อมจะลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้.

แหล่งที่มาข้อมูล www.thairath.co.th

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources