วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

สถาบันศึกษาพัฒนาประชาธิปไตยจัดเวทีถก "รัฐธรรมนูญเสียงข้างมากกับการปรองดอง"


วันนี้ (1 เม.ย.)ที่โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ สถาบันศึกษาพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาวิชาการ “รัฐธรรมนูญเสียงข้างมากกับการปรองดอง”  โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับที่ผ่านมา ถูกฉีกทิ้ง 8 ครั้ง ร่างใหม่ 10 ครั้ง หากร่างใหม่โดยไม่มีการหาสาเหตุก็ไม่มีประโยชน์ ตนต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นสุดท้าย ทำไมประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาสูงสุดในการอยู่ร่วมกันของเจ้าของประเทศถึงล้มเหลว เพราะเราไม่ปฏิบัติตามกติกา เราฉีกกติกาแล้วมาร่างใหม่ ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญวิเศษ หรือเขียนให้เลอเลิศขนาดใด แล้วคนไม่ทำตามก็ไม่มีความหมาย
"รัฐธรรมนูญ 40 ทำหน้าที่เป็นสัญญาประคมใกล้เคียงที่สุด ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขว้างแม้จะไม่ได้มีการลงประชามติ แต่ประชาชนรู้สึกว่านี่คือรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ส่วนรัฐธรรมนูญ 50 ผ่านการลงประชามติ แต่คนเสื้อแดงกลับรู้สึกว่าไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญของเขา เพราะมีที่มาที่แก้ไขไม่ได้ การเขียนกติกาและผู้ที่เลือกคนร่างก็มาจากการยึดอำนาจ  อีกทั้งการทำประชามติก็ไม่สมบูรณ์ เพราะปกติกติกาการลงประชามติทั่วโลกมีความชัดเจนว่าหากประชาชนเสียงข้างมากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือจะกลับไปใช้ฉบับเก่า แต่ตอนนั้นของเราไม่มีข้อนี้ ทำให้คนที่รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญ 50 ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เนื่องจากมีที่มาแบบรับไว้ก่อนแล้วแก้ไขทีหลัง เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปก่อน"อาจารย์ธรรมศาสตร์กล่าว

นายปริญญา กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ50 กับการปรองดองนั้น พรรคเพื่อไทยบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับเสียงข้างมากนั้น รัฐธรรมนูญ 50 ก็มาจากเสียงข้างมาก ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องยอมรับด้วย ถ้าครั้งนี้ใช้เสียงข้างมากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากเสียงข้างมาก ปัญหาก็จะเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 50 เพียงแต่กลับข้างกัน ทีใครที่มัน ทั้งนี้ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นการปกครองที่ฟังแต่เสียงข้างมาก แต่จะต้องคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย ซึ่งทั้งเสียงข้างมากและข้างน้อยต้องเคารพกัน เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะไม่มีทางจบ คงรอให้มีการฉีกทิ้งหรือร่างใหม่อีกครั้งในอนาคตข้างหน้า

“ประชาธิปไตยเปรียบเสมือนการแข่งกีฬาที่ทั้งคู่ต่างอยากชนะ แต่การแข่งกีฬาต้องมีกติกา หากทุกคนอยู่ภายใต้กติกา แต่ปัญหาของเราคือทุกคนไม่อยู่ใต้กติกา คนเล่นไม่เคารพกติกา กรรมการไม่ตัดสินตามกติกา กองเชียร์ตีกันจนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องออกมาหยุดก็เหมือนกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต่อให้ดีแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ รวมทั้งกติกาควรจะมีไม่มากเกินไป เพื่อให้คนดูเข้าใจ รัฐธรรมนูญไทย 2475 เป็นต้นมาถึง 2534 มีความหนาโดยเฉลี่ยมี 15,000 คำ  รัฐธรรมนูญ 40 มี 30,000 คำ เพราะเพิ่มองค์กรอิสระมาบังคับให้นักการเมืองทำตามกรอบกติกา แต่ก็ความล้มเหลว รัฐธรรมนูญ 50 ก็เพิ่มความหนาขึ้นอีก ผมถามว่ารัฐธรรมนูญ 55 จะหนาเท่าไหร่ กติกายิ่งมากประสิทธิภาพการบังคับใช้น้อย ผมถามว่าทำไมกรรมการตัดสินการแข่งกีฬาไม่สามารถตัดสินผิดไปจากกติกาได้ เพราะคนดูรู้กติกา คนดูเป็นผู้ควบคุม รัฐธรรมนูญ 40 เพิ่มข้อห้ามมากเท่าไหร่ยิ่งบังคับใช้ได้น้อย ทำให้ล้มเหลว รัฐธรรมนูญ 50 เมื่อองค์กรอิสระล้มเหลวจึงมีศาล เมื่อกฎหมายบังคับใช้ไม่ได้เพิ่มองค์กรตรวจสอบเรื่อยๆ ทำให้ซับซ้อนมากขึ้น หากจะร่างใหม่ต้องทำให้รัฐธรรมนูญไม่เป็นระบบที่ซับซ้อนและหนาเกินไป เพราะอำนาจจะถ่วงดุลกันเอง การหาองค์กรตรวจสอบนั้น ผมถามว่าแล้วใครจะตรวจสอบองค์กรที่ตรวจสอบ ทำให้คนดูไม่เชื่อว่าการตัดสินเที่ยงธรรมจึงเป็นจุดพลาดของรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งนี้อย่าไปสรรหาของวิเศษมาอีกเลย ของวิเศษที่สุดของประชาธิปไตยคือประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง ไม่จำเป็นต้องมี องค์กรอิสระมากขนาดนี้” นายปริญญา กล่าว
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th 

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources