วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศาลรธน.นัดแรก"จรัญ"ถอนตัวเผยไม่สบายใจ


วันนี้ (5 ก.ค.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพยานบุคคลเข้าไต่สวน กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ จำนวน 7 ปากซึ่งเป็นในส่วนของผู้ร้อง  ประกอบด้วย
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม
นายวันธงชัย ชำนาญกิจ
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ
นายวรินทร์ เทียมจรัส
นายบวร ยสินทร
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา
นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยการไต่สวนพยานนั้น คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ได้อนุญาตให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังได้ ซึ่งห้องสามารถรองรับคนได้ประมาณ 50 คนเท่านั้น นอกจากนี้ตุลาการฯยังได้อนุญาตให้มีการเผยแพร่สัญญาณภาพไปยังสถานีโทรทัศน์ ที่ได้มีการขออนุญาตไว้
สำหรับบรรยากาศการรักษาความปลอดภัย เบื้องต้นทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยทางกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ได้ส่งเจ้าหน้าที่กองผสม จากหน่วยปราบจราจลจำนวน 1 กองร้อย หรือ150 นาย รวมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่สน.ทุ่งสองห้อง และในช่วงเวลาที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนได้ตัดสัญญาณโทรศัพท์ รวมทั้งทำการตรวจค้นผู้ที่เข้าไต่สวน และรับฟัง เพื่อไม่ให้นำโทรศัพท์ เครื่องอัดเสียง และอาวุธใดเข้าไปในห้องพิจารณา
ขณะเดียวกันมีกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) จำนวนเกือบ 300 คน มาปักหลักรอฟังการพิจารณาไต่สวน เพื่อให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่ อยู่ที่บริเวณศาลรัฐธรรมนูญ   นอกจากนี้ยังมี น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสีพร้อมด้วยประชาชนจำนวนหนึ่ง เดินทางมาปราศรัยและให้กำลังใจตุลาการฯด้วย
ต่อมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนได้ออกนั่งบัลลังก์ โดยนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เริ่มกระบวนการไต่สวน และแจ้งให้ทราบว่าจะให้การนายนุรักษ์ มาประณีต และนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ทำหน้าที่  โดยนายนุรักษ์ ได้แจ้งต่อผู้ร้องและผู้ถูกร้องว่า การเบิกความต่อศาลกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ เป็นการเบิกความในแง่ของข้อกฎหมาย และความเห็นไม่จำเป็นต้องสืบทุกปากตามที่ได้ยื่นพยานไว้  จึงกำหนดเท่าที่จำเป็น

อย่างไรก็ตามศาลได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาไว้แล้ว 4 ประเด็นคือ  1 อำนาจในการฟ้อง ที่มีข้อโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาได้ ตามมาตรา 68 วรรคสอง หรือไม่  2 .ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไป คือเรื่องมาตรา 291 ว่า จะยกเลิกแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่ ประเด็นที่ 3 ปัญหาในเรื่องมาตรา 68 วรรคหนึ่งถือเป็นการล้มล้างหรือได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ และประเด็นที่ 4 .ผลการกระทำเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคหรือไม่ โดยช่วงเช้าไต่ส่วนได้เพียง 3  คน ประกอบด้วยพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ผู้ร้องที่1 นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ พยานของผู้ร้องได้ขึ้นไต่สวนตามา และต่อด้วยนายวันธงชัย ชำนาญกิจ ผู้ร้องที่ 2 และได้ทำการไต่สวน
โดย พล.อ.สมเจตน์ ได้เบิกความคนแรก  กล่าวทำนองว่า  ที่ผ่านมาได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดเพราะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยน แปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แตกต่างจากการรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ เพียงแต่การรัฐประหารใช้ปืน แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ใช้ข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระบวนการไต่สวนนั้นศาลก็ได้เปิดโอกาส ให้ผู้ถูกร้องที่ได้มอบหมายนายชูศักดิ์ ศิรินิล ตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาทำหน้าที่ในการซักค้านผู้ร้อง และพยานผู้ร้องว่า ถึงการที่มองว่าการดำเนินการเป็นการล้มล้างอย่างไร เพราะก่อนในรัฐธรรมนูญก็ได้เปิดทางให้การแก้ไข และการที่ดำเนินการครั้งนี้ก็เป็นการดำเนินการมาตามแนวทางประชาธิปไตย โดยการผ่านกระบวนการตามขั้นตอนและส.ส. ส.ว. ก็เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการด้วยเช่นกัน ถือว่าเป็นการเริ่มกระบวนการแล้ว จนเป็นเหตุให้พาดพิงถึง นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก่อนหน้านี้ ได้เคยเป็นส.ส.ร.ปี 50 เคยให้สัมภาษณ์ว่าให้รับรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อนแล้ว ค่อยไปแก้ไขทีหลัง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการได้ ทำให้นายจรัญต้องชี้แจงระหว่างทำหน้าที่อยู่บนบัลลังก์ขณะทำหน้าที่ต่อ เรื่องดังกล่าว
แนะให้แก้รายมาตรา
โดยนายจรัญ ชี้แจงว่า การพูดว่าให้รับรัฐธรรมนูญปี 50 ไป ก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลังนั้นเป็นการพูดต้องการให้สังคมรับรัฐธรรมนูญเพื่อ หลุดจากอำนาจรัฐประหาร ไม่ได้หมายความว่า จะให้แก้ไขเพียงมาตราเดียวเพื่อล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ต้องเสนอเป็นรายมาตราเพื่อให้สังคมได้มีส่วนร่วมจะแก้ 100 มาตราก็ไม่มีปัญหา
สำหรับการไต่สวนในช่วงบ่าย คณะตุลาการได้เริ่มในเวลา 14.00 น. ซึ่งช้ากว่าที่กำหนดไว้ 30นาที เมื่อคณะตุลาการฯออกนั่งบัลลังก์ ก็ได้แจ้งคู่กรณีว่าเหตุที่ออกนั่งบัลลังก์เช้า ก็เนื่องมาจากกรณีที่มีการอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อครั้งเป็นส.ส.ร. ซึ่งทำให้นายจรัญไม่สบายใจ และขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้ ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการก็อนุญาต  แต่นายชูศักดิ์ ก็ได้ชี้แจงว่าการที่ตนเองอ้างคำสัมภาษณ์ของนายจรัญ ไม่ได้เป็นการคัดค้านการเป็นองค์คณะ
ทั้งนี้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า การขอถอนตัวเกิดจากการที่นายจรัญ ไม่สบายใจ โดยบอกเหตุผลว่า ถ้าท่านร่วมในการที่จะตัดสินใจ ก็เท่ากับว่าคนรู้ความเห็นของท่านล่วงหน้าแล้ว ท่านก็ต้องตัดสินไปตามสิ่งที่ท่านเคยแสดงความคิด ความเห็นเอาไว้ การที่ท่านชี้แจงขณะไต่สวน ก็เหมือนท่านเปิดเผยความเห็นของท่านไปแล้ว ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการฯก็เห็นด้วยจึงอนุญาตให้ถอนตัวจากการเป็นองค์คณะ
จากนั้นจึงได้เริ่มการไต่สวนในช่วงบ่ายต่ออีก 4 คน ได้แก่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ร้องที่ 3 ซึ่งนายวิรัตน์ ได้ขอนำคลิปวีดีโอเพื่อแสดงให้เห็นว่าประธานรัฐสภาไม่เป็นกลาง รวมทั้งคลิป พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดง ที่มีความพยายามในการล้มล้างการปกครอง แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตเพราะอาจส่งผลกระทบต่อหลายส่วน อีกทั้งยังไม่ได้ตรวจสอบความเหมาะสมเนื้อหามาก่อน ทั้งนี้ในการชี้แจงตอนนี้นายวิรัตน์ ได้ยืนยันถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์รวมเป็นกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากจะได้นำข้อเท็จจริงมาตีแผ่ ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นการเห็นชอบหรือสมรู้ร่วมคิดมาตั้งแต่ต้น
นายสุรพล พยานของผู้ร้องที่ 3 ในฐานะอดีต ส.ส.ร.ปี 50 กล่าวตอนหนึ่งว่า ตามมาตรา 68 เขียนขึ้นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และสามารถรับวินิจฉัยตามมาตรานี้ได้ อีกทั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับน่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ 2550 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ผ่านการทำประชามติ มีประชาชน 15-16 ล้านคน ให้ความเป็นชอบ ทำให้ศักดิ์ศรีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญปกติ ดังนั้นถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีการไปขอลงประชามติก่อนว่าควรจะมี การยกเลิกหรือไม่

จากนั้นก็ต่อด้วยนายวรินทร์ เทียมจรัส ผู้ร้องที่4 และนายบวร ยสินทร ผู้ถูกร้องที่ 5 ซึ่งให้การยื่นยันไปในทิศทางเดียวกันว่าการดำเนินการของผู้ถูกร้องนั้น เป็นการกระทำการไปในทางล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยการเปิดทางให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาเขียนใหม่ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญไม่ต่างอะไรกับการทำรัฐประหาร และมีความไม่สบายใจหากมีการกระทำไปในทางที่ตั้งข้อสังเกตไว้
สำหรับในวันที่ 6 ก.ค.ตั้งแต่เวลา 09.30 น.จะเป็นการไต่สวนฝ่ายผู้ถูกร้องประกอบด้วย ตัวแทนรัฐสภา คณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งหมด 8 คน

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงสถานการณ์ความร้อนแรงทางการเมืองในขณะนี้ว่า  ไม่ได้ทำให้ตนเสียสมาธิในการทำงาน  ซึ่งมั่นใจว่าคำชี้แจงของพยานฝ่ายรัฐบาลต่อศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามคงไม่ก้าวล่วงศาล เมื่อถามว่าข้อมูลที่จะไปชี้แจงเป็นข้อมูลเดิมที่เคยชี้แจงผ่านสาธารณชนมา แล้วใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ เป็นหลักข้อเท็จจริงมากกว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจน เมื่อถามว่ามีเสียงวิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี อึ้งไปก่อนตอบว่า ความจริงหลายคนก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ไปแล้ว ซึ่งเราไม่ขอยุ่งเกี่ยว และถือว่าทุกหน่วยงานก็ควรจะต้องทำหน้าที่ของตนเอง
เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาโยงเรื่องคลิปเสียงของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่แสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังอยู่เบื้องหลังในการบริหารประเทศและจัดการเรื่องต่าง ๆ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องให้นายสมศักดิ์ชี้แจงเอง  สำหรับตนขอยืนยันว่า ทำงานอยู่บนขั้นตอนและภายใต้คณะรัฐมนตรี  ( ครม. ) ส่วนเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญก็อยู่ในขั้นตอนของสภาฯ ซึ่งก็ต้องให้กลไกของสภาฯเป็นผู้ตัดสิน
            
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ  แถลงถึงคลิปเสียงคล้ายนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเนื้อหาพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาบงการพรรคเพื่อไทยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ปรองดอง ว่า พรรคประชาธิปัตย์ หวังทำลายความน่าเชื่อถือ พ.ต.ท.ทักษิณ  ทั้งๆที่พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เกี่ยวข้อง ส่วนตัวเชื่อว่า เนื้อหาในคลิปจะไม่มีผลต่อการพิจารณาไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งหวังว่าว่าศาลจะตัดสินอย่างถูกต้อง ให้กระบวนการประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป เมื่อถามว่ามีการเตรียมความพร้อมอะไรหรือไม่ หากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาในทางลบ นายนพดลกล่าวว่า ไม่ได้เตรียมพร้อม เราไม่ได้ไปรบกับใคร จึงไม่ต้องเตรียมดาบ ยังเชื่อมั่นว่าถ้าความยุติธรรมมี ความสามัคคีจะตามมา ถ้าไม่มีความยุติธรรมความสามัคคีก็ไม่เกิด
ขณะที่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง ในวันที่ 6 ก.ค.ว่า สิ่งผู้ร้องเป็นการคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งเราสามารถชี้แจงได้ การที่จะนำเหตุการณ์ที่อยู่ในอนาคตและยังไม่เกิดมาลงโทษหรือให้ร้ายคนที่ อยู่ในปัจจุบัน ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และคงเป็นเรื่องที่ยิ่งผิดไปจากการตัดสินย้อนหลังด้วยซ้ำ จึงมั่นใจในการไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้ไม่นาน  เมื่อถามว่ามีการมองว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้กลับไปจัดทำร่างรัฐ ธรรมนูญใหม่เป็นรายมาตรา คิดว่าจะรับฟังได้หรือไม่ นายวรวัจน์ กล่าวว่า ไม่มีใครรู้ว่า ส.ส.ร.จะยกร่างเป็นอย่างไร ซึ่งวิธีการของเขาก็อาจทำเป็นรายมาตราก็ได้ ไม่มีใครบอกว่าเขาจะยกร่างเป็นแบบไหน

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources