วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปิดทริปทัวร์ลุ่มน้ำ-ยันไม่ท่วมเหมือนปี54


วันนี้ ( 14 มิ.ย.) เวลา 11.15 น. ที่สันเขื่อนภูมิพล จ.ตาก  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยใน พื้นที่ปลายน้ำ กลางน้ำ และต้นน้ำ 4 เป็นเวลา 4 วัน ว่า การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนโดยรวม ทั้งสิ่งก่อสร้างและการขุดลอกคูคลองทำได้ร้อยละ 60-70 ของทั้งประเทศ  ซึ่งความคืบหน้าอยู่กลางน้ำและปลายน้ำ ส่วนพื้นที่ต้นน้ำนั้น ตนยอมรับว่าช้ากว่าแผน แต่ได้มีการเร่งรัดในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน บางครั้งอาจเลยกำหนดเวลาไปบ้าง
โดยแนวทางของพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งจะเป็นส่วนการชะลอน้ำให้มากที่สุด ได้มีการเร่งรัดทำฝายชะลอน้ำ ซึ่งมีทั้งฝายกึ่งถาวรและฝ่ายถาวร รวมทั้งหมดฝายกึ่งถาวร รวมทั้งหมด 2,200 แห่ง  ฝายถาวร 610 แห่ง ใน 6 ลุ่มน้ำหลัก คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นเดือน ก.ค. ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯรับเป็นเจ้าภาพ โดยจะใช้ระบบจีพีเอสในการตรวจ ซึ่งเป็นแผนระยะสั้น  ส่วนในระยะยาวจะมีการทำเวิร์คช็อปการกำหนดพื้นที่และพันธุ์ไม้ รวมทั้งวิธีการปลูกป่าเพื่อชะลอน้ำ จะทำตั้งแต่พรุ่งนี้(15 มิ.ย.)ในพื้นที่ของต้นน้ำทั้งหมด และจะบูรณาการลงในรายจังหวัดร่วมกับภาคประชาชนและเอกชน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  ส่วนพื้นที่กลางน้ำ คือการเชื่อมน้ำยมไปแม่น้ำน่าน ต้องมีการปรับหรือพร่องน้ำในเขื่อนเพื่อปรับสมดุล ขุดลอกคูคลองเพื่อการระบายน้ำ ขณะที่แผนระยะยาวต้องมีการบูรณาการทั้งหมด และหาพื้นที่แก้มลิงเพื่อรับน้ำในส่วนการระบายน้ำยม สำหรับพื้นที่ปลายน้ำนั้น ได้ดำเนินการขุดลอกคูคลองแล้ว และเพิ่มเครื่องสูบน้ำในจุดที่ยังท่วมขัง ติดตั้งกล้องซีซีทีวี  ในส่วนของกทม.ก็มีแนวคันพระราชดำริในการป้องกันมากขึ้น มีการสร้างความแข็งแรงของแนวป้องกันคลองระพีพัฒน์อีกชั้นหนึ่ง และการขุดลอกคูคลองก็ดำเนินการไปเกือบทั้งหมด ความสามารถการระบายน้ำในคลองในปีนี้จึงแตกต่างจากปีที่แล้วแน่นอน อีกทั้ง การระบายทำได้เร็วขึ้น มีการจุดป้องกันน้ำท่วม และถ้ามีปริมาณน้ำมากก็จะไม่ท่วมขังนาน
ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่ไม่สามารถบอกได้ไม่ท่วมเลย เพราะเป็นปัญหาในพื้นที่ หากพื้นราบน้ำไม่ไปก็ต้องตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่ม นอกจากนี้ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีแนวทางในการป้องกันทั้งในส่วนของนิคมฯและโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะทำหลายชั้น ทั้งพนังกั้นน้ำของนิคมฯ และพนังในส่วนของจังหวัด มีการยกระดับถนนเพื่อเป็นพนังอีกชั้น โดยคำนึงถึงการระบายน้ำออกด้วย ซึ่งขณะนี้ถือว่าอยู่ระหว่างครึ่งทางของการทำงาน และจะมีการติตดามเป็นระยะๆ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ภาพรวมถือว่าเป็นไปตามแผน รวมถึงการทำงานของ ผวจ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่าน่าพึงพอใจในระดับของความตั้งใจในการเร่งรัดการทำงาน แต่บางจุดก็ต้องปรับในรายละเอียด และขอความร่วมมือจากผู้รับงานและส่วนกลางในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ตนคิดว่าทันเวลา แต่ถ้าไม่สำเร็จก็จะมีการประเมินผล อย่างไรก็ตาม ตนอยากขอกำลังใจให้คนทำงานด้วย เพราะทุกคนบากบั่นฝ่าฟันอุปสรรคในการแก้ปัญหา
 “เรามีการดำเนินการท้งการทำพนังกั้นน้ำ การระบายน้ำ ทำให้พื้นที่ท่วมขังลดลง ยอมรับว่าจุดเสี่ยงอาจมีพื้นที่ที่อยู่ใกล้คลอง หากความสามารถในการระบายน้ำเกินความสามารถ อาจทำให้น้ำล้นออกมา เช่น ที่ จ.สุโขทัย ซึ่งมีเขื่อนดินแตก และวันนี้รัฐบาลห่วงพื้นที่ภาคใต้เพราะปริมาณฝนมีมาก ขณะนี้ให้มีการเตรียมข้อมูลแล้วและดิฉันก็จะลงไปดูในพื้นที่ด้วยตนเอง”นายก รัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับคำพูดที่ว่าการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้จะ เป็นบทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล  นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ผลออกมาก่อน ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาการทำงานของรัฐบาล เราก็ทำงานอย่างเต็มที่ เปิดรับทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไข เพราะปัญหาเรื่องน้ำเป็นวาระของประเทศ
ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หน้าที่ของกบอ.คือทำให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกับน้ำท่วมอีก ด้วยสิ่งที่ทำไปแล้ว 5 อย่าง คือ 1.เรามีข้อมูลทางวิชาการเพียงพอต่อการตัดสินใจ 2.เรารับข้อมูลแบบปัจจุบันทันด่วน(เรียลไทม์)จากทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง 3.เรามีระบบคำนวณที่จะพยากรณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นใน 1สัปดาห์ ซึ่งเพียงพอต่อการเตือนภัย 4.เรามั่นใจว่าจะเตือนภัยให้ประชาชนปลอดภัย สบายใจ และสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต และ 5.ในระยะยาว เราจะทำแผนการและวิธีปฎิบัติที่ยั่งยืน เพื่อนำน้ำมาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่กลัวน้ำเพราะเห็นว่าเป็นโทษ
สำหรับการป้องกันน้ำท่วมกทม.นั้น ระบบชลประทานในกทม.มีไว้เพื่อรองรับน้ำฝน แต่มีคลองหลายสายที่ใช้เป็นทางน้ำผ่าน อาทิ คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว จึงอยากเรียกร้องให้กทม.อย่าปิดกั้นทางน้ำผ่าน และขอให้กทม.ใช้งบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนไปดำเนินโครงการป้องกันน้ำท่วม ต่างๆ ให้แล้วเสร็จด้วย เพราะอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ตนจะลงไปตรวจสอบ
ขณะที่นายรอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ กล่าวถึงระดับน้ำในเขื่อนสำคัญต่างๆ ว่า การระบายน้ำจากเขื่อนสำคัญในปีนี้ต้องดูเรื่องความสมดุล เพราะแต่ละเขื่อนก็มีฝนตกไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ที่เคยมีน้ำน้อย ปีนี้กลับมีน้ำมากขึ้น และเขื่อนภูมิพล จ.ตากก็มีน้ำมากเช่นกัน แต่การระบายน้ำต้องระวัง เพราะหากระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลมากไป จะส่งผลกระทบต่อการทำนา
สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.นครนายก ก็น่าเป็นห่วง รับน้ำได้เต็มที่เพียง 1,000 ล้านลบ.ม. ซึ่งเราจะพยายามคงปริมาณน้ำไว้ไม่ให้เกินร้อยละ20 จนกระทั่งสัปดาห์สุดท้ายของเดือนส.ค. สำหรับปริมาณฝนปีนี้ แม้จะมากกว่าค่าเฉลี่ย แต่จะน้อยกว่าปีที่แล้ว คือประมาณ 1,500 มม. ซึ่งถ้าฝนตกมากอาจเกิดน้ำท่วมเล็กน้อย โดยเฉพาะในลุ่มน้ำยม
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม กล่าวถึงการทำพนังกั้นน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ปลายน้ำ ว่า กระทรวงคมนาคมทำพนังกันน้ำโดยยึดสมมติฐานว่าน้ำมาเท่าปี 2554 เป็นหลัก โดยจะกั้นพื้นที่สำคัญเป็น 2 วง โดยวงใหญ่เหมือนไข่แดง รอบแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่กทม.ไปจนถึงเชื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และวงเล็กที่เหมือนไข่แดง รอบนิคมฯต่างๆ ซึ่งทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในเดือนส.ค.นี้ เชื่อว่าจะไม่ทำให้นิคมฯถูกน้ำท่วมอีก

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources