วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

การ์ตูน - สุกุลตา นักแสดงเลือดใหม่ ทายาทกิจการเพลง แม่ไม้เพลงไทย - คนดังหลังฉาก


หลายคนอาจจะไม่คุ้นหน้าสาวสวยคนนี้ แต่หากใครที่ได้ดูละคร “โหมโรง” ทางช่องไทยพีบีเอส  ที่เพิ่งจบไปเมื่อเร็ว ๆ นี้  จะร้องอ๋อทันที  เธอคือ “การ์ตูน-สุกุลตา มิตรศรัทธา”  นางเอกของเรื่อง ที่รับบทเป็น “รำพึง” ตัวละครที่อยู่ในยุครัชกาลที่ 8 ผู้หญิงที่ทันสมัย หัวสมัยใหม่  สามารถเล่นเปียโนได้   ในเรื่องแสดงคู่กับ “เต้-ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์” รับบท “เทิด”  โดย “สาวตูน” ได้พูดถึงงานแสดงให้ฟังว่า “ตอนแรกเกร็งมาก เพราะตูนเป็นนักแสดงหน้าใหม่   กลัวว่าเราจะไปเป็นตัวถ่วงพี่ ๆ เค้า  ทั้ง อาตู่ (นพพล โกมารชุน), พี่หนุ่ม (อรรถพร ธีมากร)  แต่ทุกคนเป็นกันเองมาก  ตอนจะเข้าฉากกับอาตู่ จะไปขอต่อบทก็ไม่กล้า ปรากฏว่าท่านเป็นฝ่ายเดินเข้ามาต่อบทกับหนูเองเลย  ประทับใจมาก ๆ ค่ะ”

“ใครหลาย ๆ คนอาจจะมองว่า ตูนโชคดี   มีโอกาสได้มาเป็นนักแสดงเต็มตัว  แต่ตูนกลับรู้สึกว่า การที่เราได้มาเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมงานกับทางไทยพีบีเอส ในละครเพื่อสร้างสรรค์สังคม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ให้คนไทยสามารถเรียนรู้เนื้อหาจากละครและสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้  ตูนว่าตรงนี้มากกว่า  ที่ทำให้ตูนภูมิใจมากที่สุด ยิ่งเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมด้านดนตรีไทยและเพลงไทยเดิม ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขมาก เพราะเป็นอะไรที่ตูนพยายามจะทำในชีวิตจริงที่ทำงานอนุรักษ์เพลงเก่าอยู่แล้ว” ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่า  ในชีวิตจริงของ “การ์ตูน-สุกุลตา” เธอเป็นทายาทในครอบครัวของ “แม่ไม้เพลงไทย”  ที่ยังคงหลงใหลในท่วงทำนองของเพลงเก่า   และทำให้ก้าวเข้ามาสืบสานธุรกิจของครอบครัวในตำแหน่งผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงแล้ว “การ์ตูน” ยังใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาขยับขยายช่องทางต่อยอดให้ธุรกิจ “แม่ไม้เพลงไทย” ด้วยการเปิดรายการชื่อเดียวกับบริษัทว่า “แม่ไม้เพลงไทย” ทางช่องซูเปอร์เช็ง (จานดำ) โดยหวังให้เพลงเก่าของไทยเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้มากขึ้น

และเพื่อเป็นการรู้จักตัวตนของเธอมากขึ้น วันนี้เราก็เลยอยากแนะนำหญิงเก่งคนนี้ เห็นสวย ๆ อย่างนี้  เรื่องการศึกษาก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน  ตูน-สุกุลตา  สาวมั่นยุคใหม่ คุยแบบชิล ชิล ว่า “ตูนจบปริญญาตรีวารสารศาสตร์ เอกโฆษณา เกียรตินิยมอันดับ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่ะ แล้วก็ไปต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ  เอกการจัดการและการตลาดค่ะ”  แล้วเข้ามาดูแลงานเพลงเก่า ที่เป็นธุรกิจในครอบครัวตอนไหน  “ตอนเรียนจบปริญญาโทรู้สึกว่าเราเรียนมาตั้งเยอะ แทนที่จะเอาความรู้ความสามารถไปทำงานบริษัทอื่น น่าจะมาช่วยดูแลธุรกิจเพลงเก่าของที่บ้านมากกว่า  ถึงแม้จะไม่ใช่ธุรกิจที่ได้กำไรมาก แต่เป็นธุรกิจที่สร้างความสุขให้กับคนด้วยเสียงเพลง ทั้งยังเป็นการช่วยอนุรักษ์มรดกทางด้านดนตรีของชาติอีกด้วย ตูนว่ามันเป็นงานที่น่าภาคภูมิใจ  เลยตัดสินใจเข้ามาดูแลเรื่องการตลาดของบริษัท และพยายามหาช่องทางใหม่ ๆ ในการเผยแพร่เพลงเก่าให้คนไทยสามารถหาฟังกันได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น”

“เราก็คิดว่าเอ๊ะ..จะทำยังไงดี ลำพังจะให้ไปเช่าเวลาทำรายการในช่องฟรีทีวี ก็คงจะเป็นเรื่องเกินตัวสำหรับบริษัทเล็ก ๆ อย่างเรา เนื่องจากต้นทุนการผลิตรายการและการเช่าเวลาในฟรีทีวีนั้นแพงมาก ๆ พอดีประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีเกิดขึ้น เราก็เลยเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่านี่แหละช่องทางใหม่ จึงตัดสินใจที่จะผลิตรายการแม่ไม้เพลงไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่เกิดรายการที่นำเพลงเก่าต้นฉบับมาเผยแพร่ทางโทรทัศน์  สร้างความสุขด้วยเสียงเพลงให้กับผู้ชมทั่วประเทศ  ผ่านทางช่องซูเปอร์เช็ง ทุกวันศุกร์, เสาร์ และอาทิตย์  เวลา 6 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่มค่ะ  เป็นรายการสดที่เราสามารถพูดคุยกับแฟนเพลงเก่าได้แบบสด ๆ  ถ้ากดรีโมตหาไม่เจอ โทรฯถามได้นะคะที่ 0-2451-1115  รวมถึงการอัพเดทข่าวสารบุคลากรในวงการเพลงเก่าให้แฟน ๆ ทางรายการได้ทราบกัน”

อะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำงาน  “ทำยังไงให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเพลงเก่า สาเหตุหนึ่งที่เราตั้งใจทำรายการแม่ไม้เพลงไทยขึ้นมา ก็เพื่อสร้างโอกาสที่จะให้คนรุ่นใหม่ได้ทดลองฟังเพลงเก่ามากขึ้น ตูนมั่นใจว่าหากคนรุ่นใหม่มีโอกาสได้มาสัมผัสกับเพลงเก่าอย่างที่ตูนมีโอกาส เชื่อว่าจะต้องมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเลยที่จะติดใจในมนต์เสน่ห์ของเพลงเก่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นแขนงหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่อยู่ในรูปแบบของบทเพลงค่ะ”   ซึมซับแนวคิดในการทำงานจากคุณพ่อ (กิตติชัย  มิตรศรัทธา) ยังไงบ้าง   “หลายเรื่องค่ะ คุณพ่อปลูกฝังให้ตูนฟังและรักเพลงเก่ามาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะที่มาที่ไปของแต่ละบทเพลง  เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับเพลงเก่าและแผ่นเสียงสมัยก่อนมีแบบไหนบ้าง” ได้ยินว่าจัดโครงการส่งเสริมให้เด็กไทยหันมาสนใจเพลงเก่าด้วย “ใช่ค่ะ  ที่ผ่านมาตูนได้จัดโครงการประกวดร้องเพลงร่วมกับอุทยานสมเด็จย่าฯ มา 2 ปีแล้ว อยากให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสมาร้องเพลงเก่าดู ส่วนในรายการทีวีก็มีช่วงดาราหน้าไมค์ให้กับผู้ที่สนใจอยากร้องเพลงออกทีวีก็สามารถโทรฯเข้ามาในรายการได้ นอกจากนี้ตูนได้เปิดช่องทางใหม่ ๆ ให้วัยรุ่นได้ฟังเพลงเก่าทางเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ รวมถึงคิดหาช่องทางอื่น ๆ ต่อไปค่ะ”

วางทิศทางในการทำธุรกิจเพลงเก่าต่อไปยังไงบ้าง “พยายามคิดหาโปรเจคท์ใหม่ ๆ หากิจกรรมที่ต้องการจะคุยกับคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ส่วนโครงการประกวดร้องเพลงไม่ได้คิดว่าจะจัดการประกวดแค่ระดับเยาวชนเท่านั้นแต่จะเน้นไปที่วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ และจัดอีเวนต์ควบคู่กันไปด้วย” มีงานพิธีกรรายการด้วยเหรอ  “ใช่ค่ะ เป็นรายการสารคดีท่องโลกกว้าง จะออนแอร์ทางช่องไทยพีบีเอสต้นเดือนเม.ย.นี้ค่ะ  และนอกจากนี้ก็มีผลงานที่เล่นมิวสิกฯ ให้บริษัทของตัวเอง ในเพลง ’โปรดเถิดดวงใจ“ และอีกหลาย ๆ เพลง เพราะบริษัทเราก็เหมือนบ้านของเราที่มีอะไรพอจะช่วยกันได้ก็พยายามจะทำให้เต็มที่” คิดว่าเสน่ห์ของเพลงเก่าอยู่ที่ไหน “คำร้องและทำนองที่ออกมาจากจิตวิญญาณของนักแต่งเพลงในสมัยนั้น เพราะสมัยก่อนไม่ได้มีธุรกิจการค้าเข้ามาเหมือนในสมัยนี้ ครูเพลงสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาด้วยอารมณ์ของเขาจริง ๆ เพลงเก่าจะมีมิติทางอารมณ์มากกว่าเพลงสมัยใหม่ นี่ยังไม่รวมนักร้องในสมัยก่อนที่ร้องเพลงตั้งแต่ต้นจนจบทั้งเพลง พร้อม ๆ กับนักดนตรีที่ต้องร้องและเล่นกันสด ๆ ตรงนั้น เหมือนทุกคนใส่วิญญาณของตัวเองทั้งหมดลงไปในเพลงเลยกลายเป็นบทเพลงที่พิเศษจริง ๆ”

มีคนบอกว่าเวลาว่างจากการทำงาน ยังไปปฏิบัติธรรมกับคุณแม่  (เยาวลักษณ์ มิตรศรัทธา) และน้องสาวอีกด้วย   “ตั้งแต่จำความได้ คุณแม่ก็พาเข้าวัดตั้งแต่เด็ก ๆ ดำรงตนถือศีล 5 มาโดยตลอด ถือว่าเป็นครอบครัวของพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด ทำบุญนั่งสมาธิกันทุกต้นเดือน ตูนนำธรรมะมาปรับใช้ในชีวิตได้ทุกอย่าง การที่อยู่ในพระพุทธศาสนา เหมือนเป็นกรอบที่ทำให้ชีวิตไม่เดินออกนอกกรอบไม่ว่าเราจะทำอาชีพไหนก็ตาม ทำให้เราเป็นคนดีโดยเฉพาะในการทำธุรกิจของเราก็จะไม่มีการโกหกค่ะ”
   
ทั้งสวย ทั้งเก่ง แถมยังจิตใจดีแบบนี้ ยกให้เป็นตัวอย่างของคุณรุ่นใหม่ไปเลย.
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th 

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources