วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

เสวนา"ซูโด"อึ้ง..ธาริตแฉได้หลักฐานมีชื่ออดีตรมต.ด้วย


วันนี้ (31 มี.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิสรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้จัดราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “ชำแหละยาซูโดร่องหน ใครต้องรับผิดชอบ?” โดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ดีเอสไอทำงานต่อเนื่องจากคณะทำงานฯ ชุดนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ประธานคณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข และ พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ซึ่งดูแลคดีนี้ มีโรงพัก 8 แห่งที่สอบสวนอยู่และได้ข้อมูลพอสมควร
ขณะนี้มีความชัดเจนว่าวัตถุประสงค์การลักลอบยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีนเพื่อนำไปผลิตเป็นสารตั้งต้นผลิตยาบ้าและยาไอซ์ เพราะเป็นวัตถุดิบที่ต้นทุนต่ำ โดยยาที่ลักลอบออกจากระบบสาธารณสุข เป็นเพียง 17% ของยาที่นำไปผลิตทั้งหมด ที่เหลือเป็นการลักลอบนำเข้าสูงถึง 83% โดยเฉพาะทางด่านสุวรรณภูมิ เนื่องจากมีหลายประเทศไม่ได้ควบคุมการส่งออกยานี้อย่างเข้มงวด โดยหิ้วเข้ามาเหมือนกับเครื่องสำอาง โสมสกัด และสินค้าทั่วไป แม้บริเวณด่านจะมีศุลกากรทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ก็ยังมีปัญหาการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทำให้มีการหิ้วกันอย่างสบายใจ กระเป๋าใบหนึ่งมีเป็นหมื่นเป็นแสนเม็ด รวมถึงหิ้วผ่านด่านชายแดนภาคใต้ ดังนั้นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาตรงนี้

นายธาริต กล่าวต่อว่า ตัวเลขยาแก้หวัดที่ถูกจับจากการลักลอบนำเข้าไม่ใช่น้อย เรื่องนี้ต้องคุยกันอย่างซีเรียสเพราะคนดูแลที่ด่านมิใช่ อย. หน่วยงานเดียว และเท่าที่มีข้อมูล อย.ถูกกีดกันด้วย ดังนั้นต้องเรียกร้องผู้รับผิดชอบด่านทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นศุลกากร ตม. ต้องเอาจริงเอาจังมากกว่านี้ มิฉะนั้นก็ยังขนกันอยู่
 
นายธาริต กล่าวว่า ส่วนตัวอักษรย่อผู้ที่เกี่ยวข้องและเปอร์เซ็นที่ปรากฎเป็นข่าว เป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ได้รับจากนายพสิษฐ์ ทางดีเอสไอตั้งสมมุติฐาน 2 ข้อจากข้อความประมาณ 5 บรรทัด คือ 1.อาจเป็นไปได้ว่า จะมีการแบ่งปันยาและส่งมอบกันไป เพื่อนำไปสู่กระบวนการช็อปปิ้งยาและนำไปผลิตยาเสพติดโดยตรง และ 2.เป็นการแบ่งปันผลประโยชน์หรือคอมมิชชั่น ข้อมูลนี้มีนัยสำคัญแน่นอน แต่ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าจะเป็นสมมุติฐานใด และการเชี่ยมโยงเกี่ยวกับผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขและนักการเมืองทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องตรวจสอบในเชิงลึก และขณะนี้ได้ตรวจการใช้โทรศัพท์ เส้นทางการเงิน ถ้าตรวจออกมาเป็นการแบ่งปันยาจะเป็นหน้าที่ดีเอสไอ แต่ถ้าเป็นแบ่งคอมมิชชั่นจะเป็นความผิดอีกสถานหนึ่งเป็นโทษทางวินัย ซึ่งความรับผิดชอบดีเอสไอทำคดีอาญาต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอจนสิ้นสงสัย เพราะฉะนั้นดีกรีการแสวงหาพยานหลักฐานต้องมาก ส่วนเรื่องทางวินัยอ่อนกว่าเยอะซึ่งไม่เกี่ยวกับดีเอสไอ
ส่วนตัวคิดว่า การสอบทุจริตทางวินัยหรือการสอบเรื่องความไม่ถูกในกระทรวงสาธารณสุข ต้องสอบในภาพรวมด้วย เพราะที่ผ่านมากระทรวงสอบแยกเป็นโรงพยาบาล ทำให้ไม่เชื่อมโยงไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ กลายเป็นข้อจำกัดการสอบทั้งกระบวนการเพื่อขยายผล ตนเห็นว่า ควรจะมีการจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนแบบรวมศูนย์ และดึงคนนอกเข้าไปร่วมด้วย เช่น การสอบที่อาจจะพัวพันไปถึงผู้ใหญ่ในบางกระทรวง อาจจะเชิญ อัยการสูงสุด ดีเอสไอ กรมบัญชีกลาง เข้าไปร่วมด้วย
 
“ตอนนี้การแก้ไขปัญหายาหวัดเป็นการแก้เฉพาะส่วน แต่การแก้ทั้งระบบลักลอบยามีการแก้หรือยัง และคิดจะแก้หรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปลายเหตุเอาคนทำผิดมาลงโทษที่ป้องปรามได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องแก้ที่ระบบ คนที่รับผิดชอบระบบต้องร่วมกันปรับปรุง ทั้งศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และ อย. ส่วนปัญหาที่เกิดจากระบบสาธารณสุข ตั้งแต่ผู้บริหารลงไป ผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาล ลงไปถึงผู้ปฏิบัติก็ว่ากันไป” นายธาริต กล่าว

นายธาริต กล่าวด้วยว่า กรณีหลักฐานรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ 5 บรรทัด ไม่ว่าจะสมมุติฐานใดใน 2 ข้อ ก็ผิดอยู่ แต่ดีเอสไอจะทำได้เฉพาะคดีอาญา ส่วนคอมมิชชั่นยาจะพิจารณาว่าเกี่ยวเนื่องเกี่ยวกันหรือไม่ ถ้าไม่เกี่ยวเราก็มีทางเลือกคือส่งให้ตำรวจ และเสนอบอร์ดกรรมการคดีเศษเพิ่มอีกคดีหนึ่งขึ้นมา เมื่อถามว่า จะมีการเรียกผู้ที่มีชื่อทั้งหมดมาให้ข้อมูลหรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบเชิงลึกแล้ว ตามชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หลักฐานทางการเงิน จากนั้นจะเรียกมาสอบในฐานะพยายานเพื่อดูว่ามีข้อแก้ตัวอย่างไร ก่อนที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งตามหลักการตรวจสอบข้อมูลตรงนี้จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แต่กรณีนี้อาจเร็วขึ้น

“ปัญหายาแก้หวัดที่หายไปจาก รพ.น่าเชื่อว่าเป็นการช็อปปิ้งยา รวบรวมยาเพื่อนำไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด คิดว่าน่าจะรู้เห็นเป็นขบวนการเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนำส่งให้ผู้ผลิตยาเสพติดรายเดียว ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิด พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ดังนั้นในช่วงบ่ายจันทร์ที่ 2 มี.ค.ดีเอสไอจะประชุมร่วมกับพันธมิตร 9 แห่งเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป”นายธาริต กล่าวและว่า ในช่วงเช้าเวลา 10.00 น. ดีเอสไอจะแถลงเรื่องปัญหาการทุจริตเบิกจ่ายยาใน รพ.ต่าง ๆ ด้วยซึ่งมีมูลค่าหลายล้าน

ต่อข้อถามว่า ยาแก้หวัดที่หายไปจาก รพ.ดูเหมือนคนรับผิดอบมีเพียงเภสัชกรเท่านั้น นายธาริต กล่าวว่า กรณี ผอ.รพ.เราไม่ทิ้งประเด็นนี้ เพราะเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแล ดังนั้นต้องพิสูจน์ความรับผิดชอบต่อไป ดีเอสไอก็ต้องการปลาใหญ่ อาจจะไม่ได้หมายถึงแค่ ผอ.รพ. อาจจะไปถึงผู้ใหญ่กว่านั้นในกระทรวงสาธารณสุข เพราะชื่ออักษรย่อมันเชื่อโยงไปถึงผู้ใหญ่ในกระทรวงตั้งแต่อดีตรัฐมนตรี ตามชื่อที่ตรวจสอบพบ ดีเอสไอก็ไม่อยากเห็นการดำเนินการที่ได้แต่ปลาซิว ปลาสร้อย ซี 3 ซี 4 เพราะมันน่าจะมีกระบวนการไฟเขียว หรือเอื้ออำนวยให้กระทำผิด มิฉะนั้นคงไม่กล้าทำหลาย รพ. และหลายแห่ง ทั้งนี้อยากฝากผู้กระทำผิดว่า อย่าหนี ขอให้มาเป็นพยานให้ดีเอสไอ เมื่อถามว่าคิดว่าเภสัชกร รพ.อุดรธานียังมีชีวิตอยู่หรือไม่นายธาริต กล่าวว่า เชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่
นายธาริต กล่าวว่า อยากฝากว่า กรณียาหายไปจาก รพ.เรื่องวินัยและทางการปกครองควรดำเนินการไปเลย ไม่ควรรอคดีอาญา เพราะถ้ารอคดีอาญารอเป็น 10 ปี ตนคิดว่ามันน่าจะมีการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ใช่แค่ รพ. เพราะนั่นสอบตัวเล็ก แต่น่าจะมีการสอบสวนมากกว่านั้น และดึงคนนอกเข้าไปร่วมด้วย

ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่าการลักลอบนำเข้ายาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนมีมานานแล้ว ในปี 2553 มีการจับกุมยาแก้หวัดสูงถึง 33 ล้านเม็ด เป็นการลักลอบนำเข้ากว่า 30 ล้านเม็ด การลักลอบนำเข้ามีหลายวิธี ที่นิยมคือส่งผ่านมาทางคลังสินค้าแต่แจ้งว่าเป็นเครื่องครัวใช้แล้ว บางครั้งเข้าทางชายแดนภาคใต้ และภาคเหนือ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนประเทศเส้นทางที่นำเข้าจากประเทศที่ถูกจับตาเข้มงวดไปยังประเทศอื่นที่ไม่มีการเข้มงวด หรือสนามบินสุวรรณภูมิถูกจับตามากก็ไปลงที่สนามบินอื่น ตรงนี้เป็นปัญหามาก เพราจะมีการเปลี่ยนกลวิธีไปเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2554 ปัญหาการลักลอบก็ดีขึ้น ตัวเลขการลักลอบเหลือไม่ถึง 10 ล้านเม็ด โดยประเทศที่ลักลอบนำเข้าหลัก ๆ มีเพียง 2 ประเทศ
 
ภก.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า ในวันจันทร์ที่ 2 เม.ย. ทาง อย.จะมีการเสนอให้นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ลงนามประกาศยกระดับยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท2 และคาดว่าจะลงราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. เป็นต้นไป ทั้งนี้หลังจากที่ประกาศให้ยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทแล้ว ในส่วนของคลินิกและ รพ.เอกชนจะต้องคืนยาที่อยู่ในสต็อกให้กับบริษัทยาภายใน 30 วันแต่หากประสงค์ที่จะใช้ต่อจะต้องยื่นขอใบอนุญาตครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยในพื้นที่ กทม.สามารถยื่นขอได้ที่ อย.ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งจะได้รับใบอนุญาตภายใน 3 วัน และในส่วนของบริษัทยาจะต้องยุติการผลิตยกเว้นการขออนุญาตจากอย.
โดยที่ผ่านมามีบริษัทยาที่ผลิตยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีนจำนวน 63 แห่ง นอกจากนี้จากการตรวจสอบสต็อกยายาแก้หวัดที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีน วัตถุดิบที่เหลืออยู่ อย.มีประมาณ 20 ตัน ในส่วนของบริษัทยาพบว่ายังเหลือประมาณ 66 ล้านเม็ด สำหรับใน รพ.ตอนนี้ยังตรวจสอบไม่เสร็จแต่คาดว่าจะเหลือประมาณ 20 ล้านเม็ด โดยทางอย.จะอนุญาตให้ใช้ยาดังกล่าวต่อไปได้อีก 1 ปี และหลังจากนั้นจะต้องทำลาย
 
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ในส่วนของชาวต่างชาติที่จำเป็นต้องพกยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีน หลังประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ต่อจิตประสาทจะพกติดตัวนำเข้าประเทศไดไม่เกิน 30 วัน อย่างมากไม่เกิน 140 เม็ด และต้องมีใบรับรองแพทย์ซึ่งเรื่องนี้ปกติชาวต่างชาติที่จะเข้าประเทศจะทราบหลักเกณฑ์อยู่แล้ว
 
ด้านนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ประธานคณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขเกิดจากบุคคล ไม่ได้เกิดจากระบบ และตัวบุคคลที่ก่อให้เกิดปัญหาเป็นระดับปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกรณีที่นายธาริตเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่ใช่แยกสอบราย รพ.เพื่อจะได้เห็นภาพเชื่อมโยงกัน โดยดึงคนนอกเข้าไปร่วมด้วยนั้น ตนจะรับไปเสนอ รมว.สาธารณสุข เพราะอย่างที่บอกว่าการดำเนินการเอาผิดทางอาญายาก แต่การดำเนินการทางวินัยหรือปกครองจะง่ายกว่า
 
นายพสิษฐ์ กล่าวต่อว่า ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก วาระนี้เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อ 17% ของยาแก้หวัดที่นำไปผลิตยาเสพติดหลุดรอดไปจากกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นเป็นหน้าที่ที่จะแก้ปัญหาทุกอย่าง นอกจากนี้จะต้องป้องกันในอนาคตด้วย เพราะถ้าไม่แก้ไขปัญหาอาจจะเป็นบูมเบอแรงกลับมาชนกระทรวง
 
“ตั้งแต่เข้ามาทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า มีความโปร่งใสในระดับที่ยอมรับได้ 99 % โดยมีเพียง 0.1% เท่านั้นมีปัญหา แต่จะเป็นข้าราชการระดับใดบ้างนั้นต้องขึ้นอยู่กับหลักฐาน ซึ่งทาง สตง.เองก็ส่งคนมาประจำที่กระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นในวันที่ 11 เม.ย. คณะทำงานฯจะประชุมกันในเรื่องนี้ โดยเชิญรักษาการผู้ว่าฯ สตง.มาให้ความรู้และบูรณาการร่วมกัน เชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ จะค่อย ๆ คลี่คลาย เพราะทำเร็วไม่ได้เดี๋ยวปลาจะช็อกน้ำ อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ปิดห้องคุยกับ รมว.สาธารณสุข ซึ่งท่านพูดชัดเจนว่า ถ้าถึงใครท่านไม่อุ้มแน่ ตนก็จะได้ทำงานอย่างสบายใจ ตอนนี้ความผิดของตนมีข้อเดียวคือทำงานตรงไปตรงมาเกินไป

นายพสิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในวันจันทร์ที่ 2 เม.ย. คณะทำงานฯจะลงพื้นที่ รพ.เอกชน 2 แห่ง เนื่องจากมียาหายไปกว่า 9.2 แสนเม็ด นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ภาคใต้ด้วย เนื่องจากได้รับรายงานจาก น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บางแห่งมีความน่าสงสัยเรื่องการใช้ยาเพราะ รพ.อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดแต่มีการสั่งซื้อยาดังกล่าวสูงมาก
 
เมื่อถามถึง รพ.วชิระพยาบาลที่มีการนำเสนอข่าวข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายพสิษฐ์ กล่าวว่า ต้องขอดูรายละเอียดก่อน ยังไม่ตรวจสอบเชิงลึก ต่อข้อถามว่า กรณีที่มีการพบรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์โยงใยไปถึงอดีตรัฐมนตรี นายพสิษฐ์ กล่าวว่า แต่คณะทำงานของตนเจออะไรก็นำเสนอไปตามนั้น ถ้าไปตรวจตาม รพ.อื่น ๆพบอีก ก็ต้องรายงานอีก แต่คิดว่าคงไม่เหลือแล้ว.

แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th 

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources