วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ยุติธรรมไทยอืดเหตุเน้นโทษจำเป็นหลัก


             เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่อาคารคอนเวนชั่น  เมืองทองธานี  สำนักงานกิจการยุติธรรมจัดการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 10  เพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องปัจจัยความสำเร็จเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวน การยุติธรรม โดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังหรือจำเลยทั่วประเทศที่คดีเกือบถึงที่สุดกว่า  700  คน  เป็นผู้ต้องขังรอการประหารกว่า 500 คน และน่าเชื่อว่าจะถูกประหารทั้ง 500 คนด้วย ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีแผนแม่บทการพัฒนาโครงการยุติธรรมที่จะทำให้มองเห็น กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ แต่การขับเคลื่อนมา 10 ปี  ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะขาดเจ้าภาพในการรับผิดชอบและนโยบายรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลง ขณะนี้เริ่มมีการมองภาพรวมของหลักนิติธรรมซึ่งจะเชื่อมโยงกับประชาธิปไตย หากประชาชนตั้งคำถามเยอะถึงกระบวนการยุติธรรมที่ควรพัฒนาไปทิศทางใดก็จะนำไป สู่การสะท้อนเสียงเหล่านี้ไปถึงผู้รับผิดชอบเพื่อปรับระบบให้เป็นที่พอใจของ ผู้รับบริการ อย่างไรก็ตาม มองว่าหากต้องการให้การลงโทษเด็ดขาดขึ้น ต้องมีการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มโทษ และสร้างคุกเพิ่ม 
             ด้านนายสมเกียรติ  ตั้งกิจวานิชย์  รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากผลการวิจัยวัดประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมพบว่า  กระบวนการยุติธรรมไทยไม่ได้ขาดแคลนบุคลากรหรือทรัพยากร  พูดได้ว่าเงินเยอะ คนเยอะ แต่คดีค้างอยู่ในศาลเป็นจำนวนมาก คดีส่วนใหญ่เป็นคดีอาญาที่ใช้เวลาพิจารณาเฉลี่ย 13.6 เดือน คดีที่เร็วที่สุดเป็นคดีที่จำเลยสารภาพไม่สู้คดี ส่วนคดีที่ช้าที่สุดเป็นคดีที่จำเลยต่อสู้โดยใช้เวลามากกว่า 70  เดือน  ทั้งนี้ผลการวิจัยพบว่าระบบกฎหมายเป็นต้นตอของการไม่มีประสิทธิภาพ เห็นได้จากจำนวนนักโทษที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.6 แสน เป็น 2.5 แสน  วิธีการลดจำนวนมีเพียงการอภัยโทษหรือลดวันต้องโทษ
            นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า งานวิจัยจากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ผสมผสานกับนิติศาสตร์ พบความไร้ประสิทธิภาพจากการใช้กระบวนการอาญาเป็นการระงับข้อพิพาท ใช้โทษจำคุกเป็นวิธีหลัก เพราะโทษปรับกำหนดอัตราไว้ต่ำเกินไป การออกแบบระบบเช่นนี้ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิภาพ เพราะการจำคุกมีต้นทุนมากจากการที่รัฐต้องเข้าไปเลี้ยงดูนักโทษ หลังพ้นโทษนักโทษกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ได้  หลายประเทศหันมาใช้โทษปรับ ซึ่งทำให้ประชาชนหวาดกลัวการกระทำผิดได้ ไม่ว่าจะเป็นคดีเมาแล้วขับ คดีหมิ่นประมาท หรือคดีเช็ค  แต่ประเทศไทยค่าปรับไม่ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ เพราะกฎหมายออกตั้งแต่ปี 2500 มีการกำหนดโทษปรับตั้งแต่ 100-1,000 บาท ตลอด 50  ปีที่ผ่านมาค่าปรับยังคงที่ ค่าปรับจึงเหลือมูลค่าแค่ 10% ดังนั้นค่าปรับจึงควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความเป็นจริง
          “ ข้อวิจารณ์ที่ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีสองมาตรฐานไม่จริง  ความจริงคือเราไม่มีมาตรฐาน โทษปรับเทียบกับอัตราโทษจำคุก 1 ปี คือปรับตั้งแต่ 1,000 – 3,000,000 บาท กฎหมายที่ออกใหม่ๆแทนที่จะกำหนดให้มีมาตรฐานแต่กลับยิ่งมั่ว ศาลชั้นต้นตัดสินปรับน้อยมาก คดีเช็คตัดสินจำคุกทุกกรณีทั้งที่เป็นคดีที่ผู้เสียหายต้องการเรียกเงินคืน ทางเลือกที่ควรเป็นแนวทางแก้ไขควรลดโทษจำคุกให้เหลือเท่าที่จำเป็น คดีเรื่องส่วนตัวไม่ควรกำหนดให้มีโทษจำคุก เช่น หมิ่นประมาท คดีเช็ค คดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่ควรเพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้นเพื่อสอดรับกับภาวะเงินเฟ้อ และเพิ่มทางเลือกในการลงโทษ เช่น มาตรการทางปกครอง และมาตรการของสถาบันการเงิน ยกตัวอย่าง คดีเช็คเด้งในประเทศฝรั่งเศส ธนาคารควบคุมไม่ให้ทำธุรกรรมการเงินซึ่งเดือดร้อนไม่น้อยกว่าการติดคุก”  นายสมเกียรติ กล่าว
           นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการวิจัยในประเทศเยอรมัน พบว่าคนที่โดนโทษปรับทำผิดซ้ำแค่16% แต่คนที่โดนโทษจำคุกทำผิดซ้ำ 50%  ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคดียาเสพติด เมาแล้วขับ ฉ้อโกง จะใช้โทษปรับยกเว้นคดีย่องเบาหรือลักทรัพย์ที่ศาลจะสั่งจำคุกทันที  อย่างไรก็ตาม การบังคับโทษปรับที่เป็นธรรมไม่ใช่ว่าคนรวยได้เปรียบคนจน เพราะโทษปรับต้องปรับตามรายได้ หรือคำนวณค่าปรับจากฐานรายได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จะทำให้ค่าปรับมีผลตามอัตรารายได้ ในอนาคตเราไม่ต้องแก้กฎหมายบ่อยๆ ดังนั้น จึงเสนอให้เปลี่ยนหลักคิดโดยกำหนดให้โทษปรับ เป็นหลักการลงโทษทางอาญา การทำงานบริการสังคมเป็นมาตรการเสริม และโทษจำคุกสำหรับคดีอุกฉกรรจ์

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources