วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

นครบาลนำร่อง'จ่าเฉยอัจฉริยะ'กองปราบฯโชว์รถสายตรวจไฮเทค


พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต. อุทัยวรรณ แก้วสอาด ผบก.จร.  ผศ.ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์ สำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาเมคคาโทรนิคส์ ไมโครอีเล็กโทรนิคส์ และระบบสมองกลฝังตัว จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย นายอนุชิต วาณิชย์เสริมกุล จากบริษัท เมเจอร์เน็ทเวิร์ค จำกัด ตัวแทนจาก สวทช. และบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด ร่วมกันนำหุ่นจ่าเฉย ไปให้ผู้เชี่ยวชาญติดตั้งทั้ง กล้องวงจรปิด และ กล้องตรวจจับความเร็วสูง เข้าทางบริเวณดวงตาและหน้าอกของหุ่น
  
หากตรวจจับความผิดได้ จะประมวลผลโดยระบบสมองกล ก่อนส่งสัญญาณผ่าน Wi-Fi ไปที่โทรศัพท์มือถือของตำรวจที่ประจำด่านใกล้เคียง หรือส่งผ่านระบบ 3 จี หรือจีพีอาร์เอส ไปยังศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร เพื่อส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ให้ผู้กระทำผิด ทั้งนี้การทำงานของกล้องที่ติด “จ่าเฉย อัจฉริยะ” จะทำงานด้วยเรดาร์ และระบบการสื่อสารไร้สายสามารถส่งสัญญาณภาพในรัศมี 2-5 กิโลเมตร โดยจะส่งเข้าโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ไปยังตำรวจที่ประจำจุดต่าง ๆ หรือจะส่งไปยัง บก.จร.ก็ได้
  
พล.ต.ต.ภาณุ รอง ผบช.น. กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของโครงการนี้ เพื่อนำมาใช้ปรามบรรดาผู้ขับขี่ให้ขับขี่เคารพตามกฎจราจร จากข้อมูลการจราจรในปัจจุบันมีปัญหาหลัก ๆ คือ การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุ และการเบียดเส้นทึบคอสะพาน ที่ทำให้การจราจรติดขัด ส่วนการทำงานเบื้องต้นนั้น เมื่อกล้องที่ตัวหุ่นจับภาพผู้กระทำความผิดได้ จะส่งข้อมูลด้วยระบบ 3 จี ไปให้ตำรวจที่ตั้งด่านในจุดถัดไปเพื่อเรียกจับปรับ  แต่ในอนาคตจะพัฒนาระบบโดยใช้การส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ถึงบ้านเหมือนกรณีกล้องจับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง หรือเรดไลท์คาเมร่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ครั้งนี้จะไม่ลดบทบาทตำรวจจราจร แต่จะเป็นการนำเครื่องมือช่วยการทำงานของตำรวจจราจร
  
“ช่วงนี้จะทดลอง นำ หุ่นจ่าเฉยอัจฉริยะ ใช้วางตั้งบนทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนจะนำมาใช้จริง หมุนเวียนติดตั้งใน 13 จุด ที่มีการร้องเรียนการทำผิดกฎจราจรมากที่สุด เช่น แยกประชานุกูล แยกรามอินทรา กม. 8 แยกลาดปลาเค้า และแยกพระราม 2 ฯลฯ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมีผู้ชอบขับรถเบียด ชอบปาด บริเวณทางแยกดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการจราจรติดขัด” รอง ผบช.น.กล่าว
   
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.มงคล สำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยีฯ เปิดเผยว่า หุ่นจ่าเฉยอัจฉริยะต้นแบบนี้ ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ส่วนความจุก็ใช้ฮาร์ดดิสก์ทั่วไป ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ตามขนาดโดยตัวนี้มีความจุ 40 กิกะไบต์ มีหน้าที่ตรวจจับความเร็ว และยังช่วยดูการจราจรทั่วไปได้อีก เนื่องจากมีการติดตั้งกล้องวิดีโอวงจรปิดไว้ที่ ดวงตาของหุ่น เพื่อคอยบันทึกภาพเคลื่อนไหว และจับภาพการกระทำความผิด ส่วนที่บริเวณ หน้าอกของหุ่น จะเป็นกล้องตรวจจับความเร็ว ซึ่งเป็นระบบเรดาร์ โดยจะทำงานสัมพันธ์กันหากมีรถวิ่งด้วยความเร็วเกินกว่าที่ตั้งไว้ กล้องจะบันทึกภาพส่งไปที่ตำรวจที่ตั้งด่านอยู่ หรือที่ บก.จร.
  
นอกจากนี้ยังมีระบบประมวลผลและระบบส่งสัญญาณข้อมูลอยู่ภายใน สามารถประมวลผลได้แบบเรียลไทม์ มีความแม่นยำสูง ไม่ต้องมีตำรวจมายืนประจำหุ่นเพื่อควบคุมกล้อง มีค่าใช้จ่ายน้อยเฉพาะอุปกรณ์ไฮเทคประมาณชุดละ 1 แสนบาท หากรวมหุ่นจ่าเฉย (2 หมื่นบาท) จะอยู่ที่ประมาณชุดละ 1.2 แสนบาท โดยใช้เวลาวิจัย 1 ปี ใช้งบประมาณจากเนคเทค 1.3 ล้านบาท
  
ด้านนายอนุชิตกล่าวว่า หุ่นจ่าเฉยเริ่มมีการประดิษฐ์ขึ้นมาใช้งานมานานกว่า  2 ปีแล้ว แต่เพื่อเป็นการลดภาระหน้าที่ของตำรวจจราจร ทางเนคเทคร่วมกับ สวทช. ทดลองติดตั้งทั้งกล้องตรวจจับความเร็วและกล้องวงจรปิดที่หุ่นจ่าเฉย เพื่อเป็นต้นแบบ โดยในอนาคตจะทำเพิ่มอีก 10 ตัว เพื่อนำมาใช้งาน โดยจะทำให้สูงขึ้นจากปกติประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อให้กล้องในตัวสามารถตรวจจับความเร็วได้ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  
ในยุคเทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัย ตำรวจหลายหน่วยพยายามเร่งปรับปรุงการทำงานเช่นกัน หลังจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เปิดตัว “จ่าเฉยอัจฉริยะ” ทางกองปราบปราม บช.ก. ไม่น้อยหน้าเช่นกัน  พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. พ.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล สว.กก.ปพ.บก.ป. ร่วมกับนายวรุณเทพ วัชราภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานลูกค้า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และผู้แทนบริษัท ดิจิตอลโฟกัส จำกัด เปิดตัวนำร่อง “รถยนต์สายตรวจอัจฉริยะ” หรือ สายตรวจผู้รับใช้ชุมชน บก.ป. โดยมีการติดตั้งกล้องตรวจการณ์ขนาดจิ๋ว 4 ตัว ไว้ที่รถสายตรวจดังกล่าว เพื่อบันทึกภาพและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยรอบในระหว่างรถสายตรวจอัจฉิรยะออกปฏิบัติภารกิจ
  
พ.ต.อ.ประสพโชค ให้สัมภาษณ์ว่า การดำเนินโครงการรถยนต์สายตรวจอัจฉริยะครั้งนี้ถือเป็นการใช้นวัตกรรมใหม่กับรถวิทยุสายตรวจ บก.ป.โดยมีการติดตั้งกล้องขนาดเล็กไว้ที่รถสายตรวจฯ สามารถแสดงภาพและเสียงแบบถ่ายทอดสดเรียลไทม์ ผ่านเครือข่าย 3จี  ไวไฟ และ EDGE Plus นอกจากนี้ระบบยังสามารถเรียกดูภาพย้อนหลังได้ มั่นใจว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเสริมการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นจะเริ่มต้นทดลองนำร่องกับรถสายตรวจ 1 คัน ใช้งบประมาณ 2 แสนบาท
  
“หากระบบมีความเรียบร้อย ประกอบกับมีงบประมาณรองรับในการดำเนินการก็จะติดตั้งกับรถสายตรวจทุกคันเพื่อนำออกปฏิบัติภารกิจทั่วประเทศ นอกจากดำเนินการกับรถสายตรวจ บก.ป.แล้วนั้น ยังมีโครงการนำกล้องขนาดเล็กติดไว้ที่ตัวเจ้าหน้าที่สายตรวจเดินเท้า เพื่อช่วยเสริมการปฏิบัติงานอีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้จะจัดสรรงบประมาณในการติดตั้งกล้องต่อ
ราย ๆ ละ 5 หมื่นบาท” รอง ผบก.ป. กล่าวทิ้งท้าย
  
นับว่าเป็นเรื่องดีที่องค์กรตำรวจพยายามนำเทค โนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเหลือในการทำงานสอดส่องดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงก็ตรงหุ่นจ่าเฉยอัจฉริยะ คงต้องมีมาตรการดูแลเป็นพิเศษสักหน่อย เพราะราคาค่อนข้างแพงพอสมควร  กลัวอย่างเดียวยามค่ำคืนจะโดนบรรดามือดีเล่นงานแอบอุ้มจ่าเฉยไปผ่าตัดงัดแงะกล้องวงจร ปิดและกล้องจับความเร็วไปขายซะก่อน.
สุรสีห์  อาศัยราษฏร์-รัชพล  ยี่สุ่น : รายงาน
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th 

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources