วันนี้ ( 19 ส.ค.) ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 ( ศปช.) เปิดแถลงรายงาน“ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลาย การชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 โดยมีการนำหลักฐาน เอกสารพร้อมภาพถ่ายต่างๆที่รวบรวมตลอดระยะเวลา 2 ปี มายืนยัน พร้อมระบุว่าทหารได้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ รามคำแหง กล่าวว่าผังล้มเจ้าทำให้คนในสังคมเชื่อว่ากลุ่มคนเสื้อแดงที่มาชุมนุม มีวัตถุประสงค์ที่จะล้มล้างสถาบัน สังคมจึงเกิดความเพิกเฉยในการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง สิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์เม.ย.-พ.ค.53 จึงไม่ได้แค่เป็นการกระชับวงล้อม แต่เป็นการปฏิบัติการทางทหารต่อประชาชน ระดับยุทธการการรบ กรณีการเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก หรือเสธแดง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง หลังจากนั้นการดำเนินการของผู้ชุมนุมเป็นไปเพื่อการป้องกันพลซุ่มยิง จากข่าวที่ผ่านมาที่กองทัพออกมาบอกว่าไม่มีสไนเปอร์ เรื่องนี้ควรยอมรับความจริง เพราะภาพและเอกสารต่างๆที่ออกมานั้นมีความชัดเจน
ด้าน ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สิ่งที่น่ากลัวในการสลายการชุมนุมครั้งนี้ คือมีคนส่วนหนึ่งในสังคมเห็นชอบ ทั้งเรียกร้องให้มีการจัดการผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด จากรายงานของการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม บางรายไม่สมควรจะถูกยิง เช่นญาติของนักร้องชื่อดัง ที่ถูกยิงบนอาคารสูง ทำให้มองว่าเป็นการปฏิบัติการทางทหารที่สะเปะสะปะ ยิงคนตายและบาดเจ็บโดยไม่มีเหตุผล ส่วนการที่ ผบ.ทบ.ออกมาปฏิเสธและไม่พอใจที่มีการพูดว่าทหารใช้อาวุธสลายการชุมนุมนั้น เป็นการปฏิเสธที่ตลกแบบขำไม่ออกมากกว่า และไม่น่าเชื่อที่ คนเป็น ผบ.ทบ.จะพูดว่าเป็นยิงนกไม่ใช่สไนเปอร์ อยากให้ควบคุมอารมณ์มากขึ้นจะได้เห็นความจริง
น.ส.ขวัญระวี วังอุดม อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการวิเคราะห์เหตุการณ์จากหลักฐานที่เป็น ศอฉ. เอกสารการประกอบการชันสูตรพลิกศพ ฯลฯ พบว่ามีการใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุมมือเปล่าจนเสียชีวิตจำนวนมาก โดย ศอฉ.ไม่ได้ควบคุมการใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมให้เป็นไปตามหลักสากล ทั้งไม่เคยมีหลักฐานยืนยันว่ามีชายชุดดำจริง การที่โยนความผิดทุกอย่างให้ชายชุดดำถือเป็นเรื่องไร้ความรับผิดชอบ การอ้างว่ามีชายชุดดำและกองกำลังติดอาวุธขนาดใหญ่ ทำให้สังคมเชื่อและต้องการขจัดให้หมดไป อย่างไรก็ตามหลังจากนี้หากสังคมจะเดินต่อไปได้ ต้องสร้างความจริงให้ปรากฏ นำคนที่ผิดมาลงโทษ สร้างบรรทัดฐานให้สังคมว่า การกระทำของรัฐนั้นหากมีผู้เสียชีวิต ก็จะต้องมีคนรับความผิดและถือว่าการกระทำครั้งนี้ของทหารเป็นรูปแบบเดียวกับ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ทหารทำเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม เรื่องนี้ไม่ควรมีการนิรโทษกรรมแบบเหวี่ยงแห เพราะเหตุการณ์นี้ต้องมีผู้รับผิดชอบอย่าทำให้เหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และ 14 ตุลา 16 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งสังคมไทยไม่ได้ผระโยนช์และไม่เกิดการเรียนรู้.
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น