วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สร้างภูมิต้านภัยไซเบอร์ - ฉลาดทันกาล



อินเทอร์เน็ต เป็นเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถกระจายไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว มีบริการ โปรแกรม และกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทำให้เกิดกระแสการนำระบบอินเทอร์เน็ตมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางใน งานธุรกิจ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และบุคคลทั่วไป ทำให้เกิดสังคมออนไลน์ขนาดมหึมาบนโลกไซเบอร์ขึ้น   
   
การใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยขยายตัวสูงขึ้น อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้ง และนับวันก็ยิ่งเข้าถึงได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต ตลอดจนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งข้อมูลในปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 18 ล้านคน โดยกลุ่มคนที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก เยาวชน และกลุ่มคนทำงาน แต่สิ่งที่ตามมาพร้อม ๆ กับคุณประโยชน์ของวิวัฒนาการอันล้ำสมัยนี้ คือ ภัยสังคมที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตไปในทางที่ไม่ถูกต้อง อาทิ การติดเกมออนไลน์ การเล่นพนันออนไลน์ และปัญหาเว็บไซต์ลามกต่าง ๆ   
 
อาจารย์อายัติ เอี่ยมบาง ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (พิษณุโลก–อุตรดิตถ์) ในฐานะวิทยากรการฝึกอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนัก
งานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ข้อคิดว่า ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในการศึกษา โดยเป็นทั้งเครื่องมือในการสอนของครู และเครื่องมือในการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ก็มีทั้งข้อมูลสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ ข้อมูลสารสนเทศที่ไม่เป็นประโยชน์ ที่อาจารย์เรียกว่า “ขยะเทคโนโลยีสารสนเทศ” และกิจกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ก็ต้องคิดและพิจารณา ซึ่งเราจะต้องพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะในการใช้เครื่องมือ การแสวงหาข้อมูลที่ต้องคิด วิเคราะห์ กลั่นกรอง และเลือกเอาข้อมูลที่มีประโยชน์ไปใช้ แต่สิ่งที่ต้องจับตามองขณะนี้ คือ คนไทยมีศักยภาพพื้นฐานที่แข็งแรงพร้อมรับมือกับภัยออนไลน์บนโลกไซเบอร์แล้ว หรือยัง  

“ถือเป็นภารกิจของครู และผู้ปกครอง ที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับการไปสร้างโปรแกรมบล็อกหรือปิดเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ต่าง ๆ เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เห็นว่าเราควรสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กตั้งแต่ต้นจะดีกว่า ซึ่งครูต้องปลูกฝังทักษะเรื่องนี้ โดยสอดแทรกไปในสื่อการเรียนการสอนทุกวิชา ต้องชี้ให้เด็กเห็น ให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ วินิจฉัยสิ่งที่มีอยู่ในโลกไซเบอร์ ถึงแม้ว่าเรื่องนั้น ๆจะไม่ใช่ความจริง หรือเป็นการหลอกลวงก็ตาม แต่สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นเรื่องที่เด็กจะต้องพบเจอในการใช้ชีวิตจริง ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างทักษะให้เด็กรู้เท่าทัน รู้จักพิจารณาและเลือกใช้อย่างฉลาดแล้ว จะทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตเกิดประโยชน์คุ้มค่าอย่างแท้จริง” อาจารย์อายัติ ชี้แนะ 
    
อาจารย์อายัติ ยังฝากถึงกลุ่มคนบนโลกไซเบอร์ด้วยว่า การใช้อินเทอร์เน็ตให้คุ้มค่านั้น ไม่ใช่หมายถึงคุ้มค่าเงินที่จ่ายเป็นค่าแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตไป ทำให้ทุกคนต้องตั้งหน้าตั้งตาช่วย ๆ กันใช้งานตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแชตพูดคุย การส่งรูปภาพ หรือส่งข้อมูลต่าง ๆ เข้าระบบบนไซเบอร์ เพราะขณะที่ทุกคนกำลังส่งผ่านข้อมูลต่าง ๆ สิ่งเหล่านั้น จะทำให้เกิดการส่งข้อมูลขนาดมหาศาล มีความหนาแน่น
ในระบบจราจรของเครือข่าย ส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงาน พลังงานไฟฟ้า ทรัพยากรของโลก โดยไม่เกิดประโยชน์ อีกทั้งเกิดข้อมูลขยะที่ไร้ประโยชน์  ซึ่งขยะสารสนเทศนี้จะทำให้เกิดความสับสน เมื่อเด็กรุ่นหลังต้องการค้นหาข้อมูลในระบบก็จะเสียเวลานานกว่าจะค้นพบ ข้อมูลที่ต้องการถูกต้อง แท้จริง ดังนั้นก่อนส่งข้อมูลเข้าระบบควรหยุดคิด คำนึงถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นสักนิด    
    
การสร้างภูมิคุ้มกันให้รู้เท่าทัน รู้จักกลั่นกรองด้วยตัวเอง เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจากสังคมออนไลน์  ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เยาวชน ไทย เพื่อสู้ภัยจากโลกไซเบอร์ได้.
ณัชชารีย์ วิเชียรรัตน์


แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources