ใกล้เข้ามาทุกทีกับความจริงที่คนไทยจะได้ใช้ 3 จีเต็มรูปแบบ ล่าสุดกสทช.ด้านกทค.มีแนวทางของรูปแบบการประมูล 3 จีแล้ว
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) กล่าวถึงแนวทางการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ว่า หากพูดถึงองค์ความรู้ในการประมูลคลื่นความถี่ถือว่าในประเทศไทยยังน้อยมาก ดังนั้นกสทช.ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ เบื้องต้นโชว์ 3 รูปแบบการประมูล 3 จีที่ใช้กันในหลายประเทศ ก่อนเปิดการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการ 3 จี ในเดือน ต.ค.นี้
“การพิจารณารูปแบบการประมูลใบอนุญาต 3 จี สำหรับประเทศไทยจะพิจารณาจาก 3 รูปแบบนี้ โดยดูเรื่องการที่ทำให้เกิดแข่งขันในตลาดมากที่สุด และสร้างประสิทธิภาพในการจัดสรรคลื่น เพราะใบอนุญาต 3 จีของไทยมีอายุถึง 15 ปี ซึ่งจะนำเรื่องรูปแบบการประมูลคลื่น 3 จีเข้าที่ประชุมบอร์ด กทค.วันที่ 15 พ.ค.นี้ ก่อนส่งที่ประชุมบอร์ด กสทช.พิจารณาในวันที่ 16 พ.ค.นี้”
ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญและให้คำแนะนำการออกแบบการประมูล บริษัท แครมตั้น แอสโซซิเอ็ทส์ (Cramton Associates) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้บรรยายเกี่ยวกับการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ ว่า วัตถุประสงค์หลักของการประมูลคลื่นความถี่หลัก ๆ คือ เพื่อการแข่งขันในตลาด สร้างประสิทธิภาพในการจัดสรร และนำรายได้ในการประมูลเข้ารัฐ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการสร้างประสิทธิ
ภาพในการจัดสรรจะสอดคล้องกับรายได้ในการประมูลเข้ารัฐ ทว่าก็มีบางประเทศที่ยอมลดเรื่องประสิทธิภาพในการจัดสรรเพื่อนำรายได้เข้า รัฐให้มาก
“ส่วนเรื่องป้องกันการฮั้วประมูลเป็นสิ่งที่ยากและไม่มีวิธีใดที่จะ ป้องกัน แม้ในแต่ละประเทศมีกฎหมายที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันเรื่องนี้ แต่ก็ยังพบผู้ที่ใช้ช่องโหว่กฎหมายเข้ามาฮั้วกันได้”
3 รูปแบบของการประมูล 3จี ที่ กทค.จะนำมาพิจารณา ประกอบด้วย
Simultaneous ascending bid auction เป็นรูปแบบการประมูลที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการประมูลแบบเสนอราคาแข่งขันไปเรื่อย ๆ โดยผู้ที่เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ และผู้ร่วมประมูลต้องเสนอราคาเพื่อรักษาสิทธิของตนทุกรอบ โดยบางประเทศจะมีการเปิดเผยชื่อผู้ประมูลและราคาที่ประมูลระหว่างแข่งขัน ซึ่งวิธีนี้ใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ 4 จีของโปรตุเกส อิตาลี และเยอรมนี และเป็นรูปแบบการประมูลที่ประเทศไทยจะใช้ในการประมูล 3 จีครั้งที่แล้ว แต่ต่างตรงที่จะไม่เปิดเผยราคาและชื่อผู้ประมูลระหว่างแข่งขัน
ข้อดี ของการประมูลแบบ Simultaneous ascending bid auction คือ เข้าใจง่าย มีประสิทธิภาพสูงถ้าผู้ประมูลมีจำนวนของคลื่นความถี่ที่ต้องการอยู่ในใจแล้ว มีการนำไปใช้ในการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ในหลายประเทศ ข้อเสีย คือ ลดความต้องการในการประมูลถ้าผู้ประมูลไม่มีจำนวนคลื่นความถี่ที่ต้องการอยู่ ในใจ
ส่วนรูปแบบการประมูล Simultaneous ascending clock auction มี ผลจากกรณีศึกษา ที่ประเทศอินเดีย ใช้การประมูลแบบเน้นเรื่องราคา (Pricing rule) ซึ่งต้องการนำรายได้เข้ารัฐมาก ๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการจัดสรรคลื่นต่ำลง
และ Package Clock Auction เป็นรูปแบบการประมูลที่ใหม่ที่สุด โดยผู้ประมูลสามารถยื่นราคาประมูลของแต่ละแพ็กเกจและสามารถยื่นประมูลกี่ แพ็กเกจก็ได้ ซึ่งประเทศที่ใช้การออกแบบประมูลวิธีนี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป
ข้อดี ของการประมูลแบบนี้ คือ เป็นวิธีการประมูลแบบตรงไปตรงมา ไม่เกิดปัญหาการลดความต้องการและความเสี่ยง มีประสิทธิภาพ แต่ ข้อเสีย คือ มีความซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องของการออกแบบ
เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการประมูล พบว่า การประมูลใบอนุญาตแบบลอตละ5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 9 ลอต ทำให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด และช่วยกระตุ้นการร่วมประมูลจากผู้เล่นรายใหม่ ๆ แต่มีข้อเสียคือ มีความซับซ้อนทั้งการออกแบบและการนำไปปฏิบัติ
ปลายเดือนนี้ จะได้รู้รูปแบบประมูล 3 จี ไหนที่ กทค. เลือก!
น้ำเพชร จันทา
namphetc@dailynews.co.th
http://twitter.com/phetchan
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น