ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้(16มี.ค.)เวลา 08.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุม ครม.ด้านเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาราคาสินค้าราคาแพง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ในช่วงต้นนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาราคาสินค้าที่ผู้บริโภคบ่นว่ามีราคาแพง ขณะที่ผลผลิตที่ถือว่าเป็นต้นทางกลับมีราคาถูก ส่งผลให้มีประชาชนมาปิดถนนประท้วงเรียกร้องจากภาครัฐ จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ไปเจาะวิเคราะห์ตั้งแต่ต้นทางราคาวัตถุดิบจนถึงปลายทางที่ผลิตเป็นอาหารว่ามีปัญหาตรงไหน เพื่อที่จะแก้ให้ตรงจุด
จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยนายอาคม เลขาธิการ สศช. ได้รายงาน ผลพวงจากภาวะน้ำท่วมที่ผ่านมายังส่งผลกระทบต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลผลิต ที่ยังฟื้นไม่เต็มร้อย ทำให้การส่งออกของเรายังติดลบประมาณ 6% ผลผลิตด้านอุตสาหกรรมติดลบ 15 % แต่ขณะตัวเลขยังไม่สะท้อนผลที่แท้จริงทั้งหมดจนกว่าจะถึงเดือน มิ.ย.ซึ่งเข้าไตรมาสที่ 2 ในทางกลับกันตัวเลขด้านการท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติแล้ว โดยในเดือน ม.ค.มีนักท่องเที่ยวเข้ามาสูงถึง 1.9 ล้านคน หรือเพิ่มประมาณ 8 % ส่วนผลผลิตด้านการเกษตรไม่น่าจะมีปัญหา เพราะแม้บางพื้นที่จะถูกน้ำท่วม แต่บางพื้นที่กลับได้อานิสงค์จากน้ำ เช่นภาคอีสาน ส่งผลให้ทำการเพาะปลูกได้ แต่ในการบริโภคขั้นสุดท้ายซึ่งเป็นสินค้าสำเร็จรูปมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น โดยหมวดอาหารสำเร็จรูปที่นำมาปรุงเองในบ้านราคาสูงขึ้น 12.4% แต่ถ้าบริโภคนอกบ้านสูงขึ้น 5.3% ซึ่งอาจเป็นเพราะราคาอาหารสดโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น 12%
นายอาคม กล่าวอีกว่า สำหรับภาวะเงินเฟ้อนั้น ในเดือน ม.ค.-ก.พ. อยู่ที่ 3.4 % ปีที่แล้วอยู่ที่ 3% จึงถือว่าสูงกว่าปีที่แล้ว 0.4% ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ ทั้งนี้มาตรการเรื่องสินค้าธงฟ้า การต่ออายุรถเมล์รถไฟฟรี จนถึงเดือนเม.ย. และการต่ออายุการลดภาษีน้ำมันดีเซล ไปจนถึง 31 มี.ค.ก็พอบรรเทา แต่หลังจากที่มาตรการต่างๆครบกำหนดลงก็จะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อได้ ประกอบกับการลอยตัวและขึ้นราคาก๊าซหุงต้มและเอ็นจีวี ก็จะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปอีก รวมทั้งการขึ้นค่าแรง 300 บาทด้วย ทั้งนี้โดยรวมแล้วตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรก ยังคงมีผลพวงมาจากภาวะน้ำท่วม แต่คาดว่าจะดีขึ้นในเดือน ก.พ.-มี.ค.เพราะโรงงานส่วนใหญ่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้
ขณะที่นายบุญทรง รมว.พาณิชย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ให้ลงไปสำรวจราคาสินค้าตลาดสดใน กทม.และพื้นที่ใกล้เคียงพบว่าราคาสินค้าขายปลีก สินค้ากว่า 10 รายการ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ผักสด มีราคาลดลง 1-40% โดยเฉพาะเนื้อหมูถ้าเทียบจากเดือน ม.ค. ที่มีราคา ก.ก.ละ 120 -125 บาท ขณะที่เดือน มี.ค.อยู่ที่ ก.ก.95-100 บาท ถือว่าลดลง 20.4% เนื้อไก่ลดลง 22% ไข่ไก่ลดลง 3 % ทั้งนี้โดยภาพรวมถือว่าราคาสินค้าที่เป็นอาหารสดลดลงกว่าปีที่แล้วทั้งหมดและยังไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในขณะนี้ และได้ให้กรมการค้าภายในลงไปตรวจสอบราคาต้นทุนแล้ว
ทางด้านนายประสาร ผู้ว่าฯ ธปท. รายงานว่า ปัจจัยทางด้านซัพพลายที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อในส่วนของสินค้าการเกษตร ราคาอาหารและการเกษตรคล้ายกับที่ สศช.และ กระทรงวงพาณิชย์ประเมินคือมีแนวโน้มลดลงเพราะหลังภาวะน้ำท่วมการผลิตและการขนส่งเริ่มกลับมาเป็นปกติ แต่ปัจจัยที่ต้องระวังมากคือราคาน้ำมันซึ่งไม่ใช่สาเหตุจากในประเทศ แต่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการคว่ำบาตรอิหร่าน และการขอให้ซาอุฯใช้น้ำมันสำรองมากขึ้น ส่งผลให้มีการเก็งกำไรทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทุก 10% จะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ 0.3-0.4% ส่วนปัจจัยด้านดีมานในเรื่องของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้น แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ แต่ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนทางการผลิตด้วย ทั้งนี้ในภาพรวม ธปท.เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่การขึ้นถึง 40% ย่อมส่งผลกระทบแน่นอน อย่างไรก็ตามเท่าที่ประมาณ การขึ้นค่าแรงก็ไม่ถึงกับสร้างปัญหาให้กับภาวะเงินเฟ้อเสียทีเดียว โดยจากจุดนี้ไปจนถึงอย่างน้อยในไตรมาส 3 ไม่คิดว่าเงินเฟ้อจะรุนแรง เงินเฟ้อใน 6-12 เดือน ข้างหน้ายังมีคงค่อนข้างมีเสถียรภาพ
“ ธปท.เห็นว่าขณะนี้ยังไม่น่าจำเป็นถึงขั้นที่รัฐบาลต้องเข้าไปดำเนินนโยบายทั่วไปเพื่อจัดการกับเรื่องเงินเฟ้อ เพราะเท่าที่เราดูแล้วเงินเฟ้อก็มีเสถียรภาพพอสมควร แม้ว่าน้ำมันจะขึ้นแต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตที่จะทำให้ข้าวของแพงทั้งระบบ ประกอบกับราคาอาหารมีแนวโน้มลดลง เรื่องค่าแรงแม้จะมีผลบ้างแต่ไม่ถึงขั้นรุนแรง จึงไม่ควรโอเว่อร์รีแอ๊คเกินไป เพราะตัวเลขที่เราเห็นมักจะขึ้น-ลงระยะสั้น แต่อาจจะมีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเฉพาะจุด โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน เช่น แท็กซี่ ดังนั้นรัฐบาลควรเข้าไปดูแลช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเฉพาะจุดเหล่านี้มากกว่า ซึ่งการที่รัฐบาลมีทิศทางในการพยายามจัดโครงสร้างราคาน้ำมัน และราคาพลังงานให้ดี ถือเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็อยู่ที่จังหวะเวลา แต่ในจังหวะนี้อะไรที่จะไปกระตุกราคาให้ขึ้นอาจจะต้องรอจังหวะอีกสักหน่อย” ผู้ว่า ฯธปท. กล่าว
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น