วันนี้ (16 มี.ค.) ที่สถาบันพระปกเกล้า นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับนายถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นายเมธัส อนุวัตรอุดม นักวิชาการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และน.ส.ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร นักวิชาการวิทยาลัยการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า คณะผู้วิจัยของโครงการศึกษาการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับผลการวิจัย เรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดย นายวุฒิสาร กล่าวว่า วันนี้เป็นที่ครบ 120 วัน ที่ทางสถาบันพระปกเกล้าจะต้องนำเสนอรายงานผลศึกษาการวิจัยเรื่่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติ กับทางกรรมาธิการฯ ซึ่งขณะนี้รูปเล่มยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังต้องมีการปรับปรุงถ้อยคำ ดังนั้นอาจจะส่งล่าช้า โดยจะส่งได้ภายในสัปดาห์หน้า
ขณะที่ น.ส.ณัชชาภัทร กล่าวว่า จากการสำรวจโดยการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนใหญ่มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นคู่ขัดแย้ง โดยมีกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐไทยและกระบวนการยุติธรรมต่างๆ และอีกกลุ่มหนึ่งมองว่า เป็นคู่ขัดแย้งกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ที่บางคนใช้คำว่า “อำมาตย์” อีกทั้งมองกันว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ที่ขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นรัฐบาลเผด็จการรัฐสภา และ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติและเหนืออำนาจการตรวจสอบ ส่งผลให้มองว่าเกิดความไม่เป็นธรรมในพื้นฐานทางสังคม และการแทรกแซงองค์กรต่างๆที่ตั้งขึ้นมาให้มีการตรวจสอบ จึงมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไข ซึ่งความขัดแย้งครั้งนี้ คือ ปัญหาความเหลื่่อมล้ำของวัฒนธรรมทางการเมือง ที่ยึดตัวบุคคลทำให้ปัญหาความรุนแรงเกิดมากขึ้น จนมาถึงขณะนี้ ก็ยังเห็นว่าต่างฝ่ายต่างยึดจุดยืนทางการเมืองของฝ่ายตนเองอย่างเหนียวแน่น จึงเห็นว่าเรายังขาดบรรยากาศทางการเมือง บรรยากาศในการสร้างความปรองดองยังไม่สามารถสรุปได้ ในกรณีนี้มีคนเห็นว่าควรจะนำเข้ามาสู่กระบวนการเจรจา โดยอยากให้แกนนำต่างๆ มานั่งคุยกัน โดยมีคนกลางเป็นคนอำนวยความสะดวก หรือมีการเจรจากันในกลุ่มประชาชนทุกระดับถึงเป้าหมายและวิธีการที่จะนำไปสู่ความปรองดอง
น.ส.ณัชชาภัทร กล่าวอีกว่า สถาบันพระปกเกล้าเห็นว่าบรรยากาศการปรองดองของบ้านเมืองเรายังไม่นำไปสู่การปรองดอง จากผลการผลสำรวจผู้ที่มีความคิดเห็นเรื่องการนิรโทษกรรมยังมีความเห็นหลากหลาย จึงไม่สามารถสรุปฟันธงได้ว่า จะดำเนินการอย่างไรกับการนิรโทษกรรม เพราะว่ามีบางกลุ่มเห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม ขณะที่บางกลุ่มก็เห็นว่าควรมีการนิรโทษกรรม แต่จุดการนิรโทษกรรมอยู่ในจุดใดก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน จากการสำรวจในการให้สัมภาษณ์จากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ส่วนใหญ่ยึดติดในฝ่ายตัวเอง สถาบันพระปกเกล้าจึงไม่สามารถฟันธงได้ว่าอะไรคือคำตอบ เท่าที่สำรวจตอนนี้บรรยากาศบ้านเรายังไม่นำไปสู่ความปรองดอง จึงขอเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายเสียสละ ทำอย่างที่พูดอย่างแท้จริง ทุกฝ่ายต้องเริ่มต้นด้วยการยุติในส่วนที่จะเป็นการสร้างปัฏปักษ์ต่อกัน และไม่ควรทำในสิ่งที่นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจต่อกัน เช่นการสร้างหมู่บ้านเสื้อแดง หรือเว็บไซด์ที่มีการหมิ่น
นายวุฒิสาร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันพระปกเกล้ามีข้อเสนอของผลวิจัยมีทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่รัฐบาลต้องดำเนินการ โดยจะต้องดำเนินการทั้งหมดในเรื่องของการค้นหาความจริง การดำเนินการของการนิรโทษกรรม เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามนิติรัฐ และต้องสร้างบรรยากาศความปรองดองไปในอนาคต เพื่อให้ประชาชนเห็นร่วมกันในการสร้างบรรยากาศความปรองดอง ซึ่งกระบวนการที่จะทำให้เกิดความสำเร็จโดยเร็ว จากการศึกษาแนวทางปรองดองจากต่างประเทศสามารถรวบรวมได้ 7 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าต้องการสร้างความปรองดอง ซึ่งจะทำให้เห็นถึงตามเจตนารมย์ 2.ต้องสร้างให้สังคมตระหนักว่าเวลานี้เราต้องการสร้างความปรองดอง 3.รัฐบาลต้องมีความจำเป็นให้ความสำคัญต่อบุคคลที่สูญเสียในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการเยี่ยวยาต้องเป็นไปด้วยความเป็นธรรมทั้งสังคมและความรู้สึก ไม่ใช่ในเรื่องของตัวเงินอย่างเดียว 4.ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทางสังคมที่อยู่ภายนอกจำเป็นต้องยุติความเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่มีหลักของนิติรัฐ เช่น การชุมนุมขับเคลื่อนด้วยวิธีการกดดันโดยใช้เสียงข้างมากที่ผิดกฎหมายไม่ควรทำ 5.สังคมควรจะหยุดการกระทำที่หมิ่นเหม่ของสังคม เช่นในเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่เปราะบาง 6.สื่อควรจะทำหน้าที่และบทบาทที่เป็นกลาง ไม่ควรที่จะเป็นเร่งให้สังคมเกิดความขัดแย้ง เพราะขณะนี้มีสื่อจัดตั้งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ทำให้สังคมมองว่าสื่อเลือกข้างไปแล้ว และ 7.สังคมต้องเลิกเอาผิดรัฐประหารที่ผ่านมา เพราะจะเป็นการรื้อฟื้นทำให้เกิดความขัดแย้ง
นายวุฒิสาร กล่าวอีกว่า การสร้างความปรองดองที่จะเกิดขึ้นรัฐบาลจะต้องทำอย่างต่อเนื่องและตั้งใจ โดยหากระบวนการให้สังคมเกิดการยอมรับทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ก็เริ่มต้นปรองดองต้องเริ่มต้นหารือกันในชั้นกรรมาธิการ โดยเราจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้เสียงข้างมากเป็นคำตอบ เพราะมันไม่ใช่เป็นคำตอบที่เป็นการยอมรับทางสังคมทั้งหมด และจากผลวิจัยที่สรุปมาค้นพบว่าปัญหาต้นๆ เกิดขึ้น การใช้เสียงข้างมากเป็นคำตอบ ซึ่งมันไม่ใช่ ยืนยันว่าทีมวิจัยไม่ได้ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนที่มีกรรมาธิการปรองดองบางคน เสนอให้ทีมวิจัยทบทวนรายงานดังกล่าวนั้น คงไม่มีการทบทวน เพราะเป็นเรื่องที่กรรมาธิการฯจะนำไปหารือกันเอง ทั้งนี้ข้อเสนอของทีมวิจัยไม่ใช่ยาสูตรสำเร็จ แต่เป็นข้อเสนอที่มีเหตุและผล ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการฯจะไปดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะการวิจัยอยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการ ซี่งงานวิจัยทุกชิ้นไม่มีใครที่เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ หรือถูกใจทุกฝ่าย
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น