วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

สธ.แจง3ปีรพ.อุดรธานีถูกยักยอกยาแก้ไข้สูตรผสมซูโดอีเฟดรีน4.8 ล้านกว่าเม็ด


เมื่อวันนี้ (17 มี.ค.) นพ.พิชาติ ดลเฉลิมยุทธนา ผอ.รพ.อุดรธานี กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่ามียาแก้ไข้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน  หายไปจาก รพ.อุดรธานี 37,603,500 เม็ด ตั้งแต่ปี 2553-2555 ว่า ข้อมูลที่ปรากฏในข่าวนั้นมีความคลาดเคลื่อน จากยอดการสั่งซื้อจริงของ รพ.อุดรธานี โดยในปี 2553 พบการสั่งซื้อยาดังกล่าวจำนวน 1,958,000 เม็ด ในปี 2554 จำนวน 1,754,000 เม็ด ในปี 2555 สั่งซื้อจำนวน 1,099,000 เม็ด ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชน น่าจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการรวมตัวเลขเกินจากความจริงไปมาก
 
นพ.พิชาติ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลการตรวจสอบ ณ ปัจจุบัน โดยใช้หลักฐานต่างๆย้อนหลัง 3 ปี ไปจนถึงปี 2553 รพ.อุดรธานี พบข้อมูลการยักยอกยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน 2 ลักษณะ คือ การนำยาออกไปโดยไม่ลงทะเบียนรับจำนวน 4,306,800 เม็ด และการทำหลักฐานการจ่ายเท็จ โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลหรือ รพ.สต.ไม่ได้รับยา 562,164 เม็ด  รวมจำนวนที่ถูกยักยอกทั้งสิ้น 4,868,964  เม็ด ซึ่งข้อมูลที่กล่าวมานี้ ได้รายงานผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุขทราบแล้ว ขณะเดียวกัน รพ.อุดรธานี จะประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายทั้งตำรวจและดีเอสไอเพื่อให้ข้อมูลตรงกับความเป็นจริง 
ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่าเมื่อเริ่มมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ยาแก้ไข้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน เป็นสารตั้งต้นการผลิตยาเสพติด กลุ่มงานเภสัชกรรมของ รพ.อุดรธานี ได้ทำการทบทวนและตรวจสอบความผิดปกติ จนพบปัญหาเรื่องการทำหลักฐานการจ่ายเท็จจำนวน 140,000 เม็ด จนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีและการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกับผู้กระทำผิด และมีการขยายผลการสอบสวนโดยทีมงานของ รพ.ทั้งแพทย์ เภสัชกรและพยาบาล ระดมกำลังค้นหาหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ย้อนหลัง 3 ปี จนพบว่ามีการยักยอกเพิ่มเติมดังกล่าว 
 
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมา พันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) กล่าวว่า ในการจัดซื้อยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนใน รพ.ต่างๆ นั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องและอยู่ในกระบวนการจัดซื้อ คือ เภสัชกรประจำห้องยา คนคุมคลังยา ซึ่งถ้าเป็น รพ.เล็ก ๆ เภสัชกรคนเดียวอาจทำทั้ง 2 หน้าที่ แต่ถ้าเป็น รพ.ใหญ่ ๆ อาจแยกกัน ในกรณีที่ยาใกล้หมดคลังก็จะมีการเสนอให้ ผอ.รพ.จัดซื้อ ยกเว้นแต่ว่า มีการทำหลักฐานเอกสารเท็จ ปลอมลายเซ็นทำให้ ผอ.รพ.ไม่รู้ หรือบางทีก็มีกรณียาลอย คือ ผู้ขายต้องการได้ยอดเพิ่ม ก็อาจจะขอกับทาง ผอ.รพ.ว่าขอลอยยามา 2-3 ล็อตเอามาเก็บไว้ที่ รพ.เฉยๆเดือนต่อไปอาจจะมาเอายาคืนแต่ยาที่เอาคืนไปนั้นจะไปที่ไหนไม่รู้ ซึ่งการลอยยานี้มีมานานแล้ว อีกกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้คือ เภสัชกรแอบซื้อขายยาก็จะแอบสั่งซื้อยาโดยไม่ให้ ผอ.รพ.รู้ แต่ใช้ชื่อ รพ.สั่งซื้อ โดยคนตรวจรับเป็นคนของเภสัชกรเอง
 
“รู้สึกไม่สบายใจ เพราะการจัดการกับผู้ที่เกี่ยวข้องยังล่าช้าอยู่ จากปัญหาที่เกิดขึ้นอยากให้มีการจัดการอย่างเด็ดขาดผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อยามีไม่กี่คน คือ เภสัชกรประจำห้องยา ผอ.รพ. และคนคุมคลังยา” พญ.ประชุมพร กล่าว
 
ด้าน นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุขในฐานะประธานคณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากปัญหาการลักลอบนำยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนออกจาก รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลายแห่ง อยากให้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้าย ผอ.รพ.ที่เกี่ยวข้องมาช่วยราชการที่กระทรวงสาธารณสุขก่อน  หากสอบสวนแล้วไม่ผิดก็ค่อยกลับไป แต่ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการตรงนี้ อย่างที่ รพ.กมลาไสย ที่ตนลงไปดูด้วยตัวเอง และอยากจะบอกว่า หลักฐานสมุดบัญชีเบิกจ่ายยาตัวจริงอยู่ในมือตน ดังนั้นไม่ต้องดิ้นรนอะไร นอกจากนี้ยังมีหนังสือจาก ผอ.รพ.ที่ระบุว่ายาเหลือจำนวนเท่านี้แต่ยอดยาไม่ตรงกัน ก็ไม่เข้าใจว่าจะไปแจ้งความทำไม คือกรณีนี้มีการอนุมัติซื้อยาถึง 14 ครั้งกว่า 5 แสนเม็ด ซึ่งก่อนที่จะอนุมัติซื้อยาจะต้องมีการตรวจสอบก่อน คนที่ทำหน้าที่หัวหน้าห้องยาก็เช่นกันจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
 
“ปัญหาซูโดอีเฟรดีนที่เกิดขึ้นในตอนนี้ดูเหมือนอยากจะให้เรื่องจบๆ ไป ซึ่งจะโยนความผิดให้กับเภสัชกรคนเดียวไม่ได้ ผมว่า คนที่ต้องรับผิดชอบคือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อย่าง รพ.กมลาไสย นอกจากยาสูตรผสมซูโดอีเฟรดีนแล้ว ยังมียาชนิดอื่นสูญหายด้วย ทั้ง ๆ ที่ รพ.ได้เอชเอ ตอนนี้อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ว่าท่านยังไม่ทำอะไรที่ดูดีที่สุด แปลว่าอะไร”นายพสิษฐ์ กล่าวและว่า ในสัปดาห์จะเริ่มลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ รพ.ที่สั่งซื้อยาดังกล่าวสูงผิดปกติ โดยอาจจะลงพื้นที่วันเว้นวัน
 
นายพสิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาภายในซึ่งเกิดจากคนส่วนน้อยแค่ 1% ถ้าไม่รีบแก้ไขกระทรวงจะเสียหายมากขึ้น เหตุผลที่ทำเรื่องนี้เพราะต้องการให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เพราะกระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงที่คนเชื่อมัน เชื่อถือ ถ้าไม่รีบแก้ไขจะยิ่งยุ่ง และถ้าแก้ไขปัญหาแบบที่เป็นอยู่ก็ยิ่งยุ่ง

แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources