วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จตุพร”เบิกความปม“มาร์ค”หนีทหาร


วันที่ 25 ก.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานจำเลยคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 29 ม.ค.-15 ก.พ.2553 จำเลยกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดงและประชาชนที่รับชมสถานีโทรทัศน์ ช่องพีเพิ่ล แชนแนล กล่าวหาว่าโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

โดยในวันนี้นายจตุพร ขึ้นเบิกความสรุปว่า ขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปลายปี 2551-พ.ค. 2554 พยานได้ปราศรัยถึงโจทก์ในคดีนี้รวม 2 วัน คือ กรณีที่โจทก์หนีเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ใช้เอกสารเท็จเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. และการปราศรัยที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการป้องปรามโจทก์ไม่ให้ใช้กำลังปราบปรามประชาชน สำหรับเรื่องการเกณฑ์ทหารชายไทยเมื่ออายุครบ 17 ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกิน และเมื่ออายุครบ 20 ปี ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์ มีตัวอย่างที่ชัดเจนคือนายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี หลังศึกษาจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไปเรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายที่ประเทศอังกฤษแล้ว กลับมายังต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
เมื่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ไปพบและสอบถามทราบว่าจบเนติบัณฑิต ที่ประเทศอังกฤษ จึงนำตัวมาช่วยราชการที่กรม ซึ่งเรื่องนี้พยานได้ตรวจสอบและเปิดผลการสอบสวนของจเรทหารบก เมื่อวันที่ 19 พ.ค.42  กรณีที่มีการร้องเรียนว่าโจทก์เลี่ยงการเกณฑ์ทหารและใช้เอกสารเท็จมาเผยแพร่ เพราะพยานต้องการตรวจสอบและตั้งคำถามต่อโจทก์ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายก รัฐมนตรีว่าได้มีเลี่ยงเกณฑ์ทหารและใช้เอกสารเท็จในการสมัครเป็นอาจารย์ที่ โรงเรียนนายร้อย จปร.หรือไม่ เมื่อพยานสอบถามโจทก์ในเรื่องดังกล่าว โจทก์ไม่ชี้แจ้งทั้งในการอภิปรายสภาและนอกสภา

นายจตุพร เบิกความต่อว่า สำหรับโจทก์เกิดวันที่ 3 ส.ค. 07 เมื่อมีอายุครบ 17 ปี ย่างเข้า 18 ปี  โจทก์ต้องเข้ารับการขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินในปี 2524-2525 และต้องได้รับหมายเรียกเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบ 20 ปี ในปี 2527 และต้องเข้ารับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารในปี 2528 แต่ในปี 2524 โจทก์อ้างว่าไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จึงไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกิน กระทั่งเรียนจบในเดือนมิ.ย. 2529 โจทก์ไปขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินที่จะได้ใบ สด.9 ในวันที่ 4 ก.ค. 2529 ขณะนั้นโจทก์มีอายุ 22 ปี โดยสัสดีเขตพระโขนงเขียนเป็นลายมือให้โจทก์มารับใบ สด.9 ในเดือนม.ค. 2530 และโจทก์ต้องเข้ารับเกณฑ์ทหารในวันที่ 7 เม.ย. 2530 แต่โจทก์ไม่ได้ไปเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์ โจทก์จึงเป็นคนขาดการตรวจเลือก การที่โจทก์ไม่ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินเมื่อมีอายุครบกำหนด จึงมีโทษจำคุกทั้งจำทั้งปรับ และจากรายงานการสอบสวนของจเรทหารบก ลงวันที่ 19 พ.ค.2542 ปรากฏชัดเจนว่า โจทก์ไม่เคยได้รับการผ่อนผันหรือเคยเกณฑ์ทหาร แต่โจทก์ได้พยายามขึ้นทะเบียนทหารกองเกินในภายหลัง และมีการประสานกระทรวงกลาโหมและโรงเรียนนายร้อย จปร. ทำหนังสือจากกรมสารบัญ ทหารบก (สบ.ทบ.) ส่งเรื่องถึงโรงเรียนนายร้อย จปร.ให้รับโจทก์เป็นอาจารย์

ขณะที่โรงเรียนนายร้อย จปร.ทำหนังสือตอบกลับมาเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2529 ว่า โจทก์สามารถเข้ารับราชการได้ นอกจากนี้ พยานตรวจสอบพบพิรุธอีกว่า เมื่อโรงเรียนนายร้อย จปร.ตอบรับบรรจุโจทก์แล้ว หลังจากนั้นวันที่ 4 พ.ย.2529 กลับมีชื่อโจทก์ขอลาไปศึกษาต่อต่างประเทศในปี 2530-2532 ขณะที่ข้อเท็จจริงพบว่าโจทก์ได้ไปเขียนใบสมัครเป็นอาจารย์ในวันที่ 12 ม.ค.32  เพราะถ้าไปเรียนต่อต่างประเทศจริง โจทก์จะมาเขียนใบสมัครได้อย่างไร

นายจตุพร เบิกความด้วยว่า การสอบสวนของจเรทหารบกลงวันที่ 19 พ.ค.42 ยังพบว่ามีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคน โดยมีบางคนเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพล จึงไม่สามารถลงโทษทางวินัยได้ แต่ทำได้เพียงลงทัณฑ์พันเอกหญิงคนหนึ่ง และให้ดำเนินคดีอาญากับสัสดี โดยเป็นการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับข้าราชการผู้ให้ความช่วยเหลือโจทก์ แต่ไม่เน้นการดำเนินคดีโจทก์ เพราะอะไรพยานไม่ทราบ แต่ขณะนั้นมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรมว.กลาโหม ส่วนโจทก์เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายจตุพร เบิกความอีกว่า ส่วนการปราศรัยวันที่ 15 ก.พ.53 ที่หน้าสำนักงาน กกต. นั้น เพื่อป้องปรามไม่ให้โจทก์ใช้กำลังปราบปรามประชาชนดังเช่นเหตุการณ์เมื่อ เดือนเม.ย.52 โดยพยานได้รับเอกสารจากนายทหารผู้หวังดีกับกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นเอกสารเกี่ยว กับแผนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารในปี 2553 รวม 37 หน้า โดยขณะนั้นมีการนัดหมายกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกันในวันที่ 14 มี.ค.53 จึงพูดปราศรัยเพื่อป้องปราม เนื่องจากรู้สึกกังวลใจและมีเหตุการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ และเกรงว่าจะมีการสร้างสถานการณ์ คือ กรณีที่มีผู้ขับรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ เบียดเข้าขบวนรถยนต์ของโจทก์ แต่ปรากฏว่าไม่มีการสอบสวนหรือดำเนินคดีกับผู้ขับรถยนต์ดังกล่าว รวมทั้งกรณีที่มีผู้ขับรถยนต์แท็กซี่มีสัญลักษณ์คนเสื้อแดงเบียดขบวนรถยนต์ ของโจทก์อีกครั้ง แต่ไม่มีการสอบสวนและดำเนินคดีเช่นกัน.

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources