วันนี้ (19 ก.ค.) นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พร้อมด้วยนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้บริหารจากส่วนราชการต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีมอบแผนที่น้ำระดับตำบลและอุปกรณ์ติดตามสถานการณ์น้ำอัตโนมัติ (มีเดีย บ็อกซ์) ที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาขึ้นโดยสสนก. ให้แก่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่นำร่อง 130 แห่งในโครงการพัฒนาภูมิสารสนเทศน้ำระดับตำบล เพื่อสำหรับใช้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตรของ และสนับสนุนการตัดสินใจสั่งการเตือนภัยจากระดับชุมชนสู่ระดับประเทศ
สำหรับอุปกรณ์นี้มีต้นทุนการจัดซื้อเฉลี่ยเครื่องละ 2,500-3000 บาท และเป็นการนำเข้ามาจากประเทศจีน โดยเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต ควบคุมด้วยรีโมท และเชื่อมต่อกับจอโทรทัศน์หรือเครื่องฉายโปรเจกเตอร์ด้วยสายแบบอาร์ซีเอ สายคอมโปเนนท์ หรือสายเอชดีเอ็มไอ ซึ่งสามารถแสดงผลข้อมูลผ่านหน้าจอทั้งสภาพอากาศ สถานการณ์ทั่วไทย การคาดการณ์ปริมาณฝน 7 วันล่วงหน้า ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง พายุ ข่าวสารล่าสุดที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลสนับสนุนอื่นๆ
นายพรชัยกล่าวว่า มีเดีย บ็อกซ์ เป็นอุปกรณ์เพื่อใช้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ ซึ่งใช้ติดตามข้อมูลอย่างง่ายและมีข้อมูลเพียงพอสำหรับชุมชนในการประเมิน สถานการณ์ปริมาณน้ำฝนเพื่อการเกษตรในภาวะปกติ และใช้ประเมินสถานการณ์ภัยช่วงวิกฤติ เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยให้กับประชาชนตามแผนการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำของรัฐบาล โดยจะมีการลดความผิดพลาดของอุปกรณ์ในการประเมินข้อมูลให้น้อยที่สุด
ด้านนายรอยล กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวจะใช้ควบคู่กับแผนที่ระดับตำบลในการรายงานข้อมูลสภาพอากาศ ที่เกิดขึ้น ทั้งพายุ การคาดการณ์ฝนล่วงหน้า ระดับน้ำทะเล ระดับน้ำในลำน้ำต่างๆทั่วประเทศ และปริมาณน้ำในเขื่อน ซึ่งอุปกรณ์ตัวนี้ยังสามารถวางแผนด้านการเกษตร โดยเฉพาะระยะเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว และประเมินราคาข้าวในตลาดโลกได้ว่าประเทศผู้ผลิตข้าวแต่ละประเทศจะโดยพายุ กี่ลูกและจะเกิดน้ำท่วมขึ้นหรือไม่
จากนั้น นายรอยล ให้สัมภาษณ์ถึงการแจกจ่ายมีเดีย บ็อกซ์ ที่ตั้งเป้าว่าจะแจกให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่น 500 แห่ง ว่า เราได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปแสดงให้เขาได้เห็นการทำงานจริง ซึ่งเมื่อเขาได้เห็นข้อมูลที่แสดงผล ก็สะท้อนว่าเขาสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการจัดการน้ำได้ว่าจะทำอย่างไร ให้ระบายน้ำได้ทัน หรืออพยพหลบไปอย่างไรให้ทันเวลา เพราะที่ผ่านมา เรามักเคยชินกับแนวคิดที่ว่าถ้าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมก็ต้องสร้างฝายชะลอน้ำหรือ ขุดสระ แต่ลืมไปว่าถ้าเรารู้สถานการณ์น้ำล่วงหน้าหลายวัน ก็จะเริ่มสื่อได้ว่าข้อมูลดังกล่าวมีส่วนช่วยได้ในการจัดการที่ถือเป็นหัวใจ สำคัญอย่างหนึ่ง ทั้งนี้จะมีการประเมินผลประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์นี้ในเดือนส.ค. ซึ่งจะตรงกับช่วงเวลาในการประเมินแผนที่น้ำในระดับตอนบน นอกจากนี้กำลังมีการพัฒนาระบบให้ท้องถิ่นส่งข้อมูลเกี่ยวกับน้ำกลับมาที่ ส่วนกลาง เพราะเราต้องการให้เขาทำแผนที่น้ำระดับตำบลเองได้ด้วย ตอนนี้อบต.ส่วนใหญ่มีแผนที่น้ำของเขาเองอยู่แล้วว่าแหล่งน้ำมีสภาพเป็นอย่าง ไร และต้องดูแลอย่างไร รวมถึงมีข้อมูลเชื่อมโยงกับอบต.พื้นที่ใกล้เคียงในการบริหารจัดการน้ำร่วม กัน
ต่อข้อถามถึงระดับความแม่นยำของข้อมูล นายรอยล กล่าวว่า อยู่ที่ร้อยละ 85 ในกรณีของแผนที่ฝน ทั้งนี้ต้องรออีกขั้นหนึ่ง ซึ่งถ้าเราได้เริ่มความร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และถ้าขยายโมเดลการพยากรณ์อากาศของเราให้ทำงานควบคู่กับโมเดลทะเล จะมีความแม่นยำมากขึ้น
ต่อข้อถามถึงการประเมินสถานการณ์น้ำที่อาจจะท่วมในปีนี้ นายรอยล กล่าวว่า ฝนในปีนี้น่าจะน้อยกว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 20 และการระบายน้ำทำได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น บริเวณริมตลิ่งที่มีการบุกรุก และพื้นที่ต่ำ อาทิ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ลุ่มน้ำยมในพื้นที่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ยังมีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมอยู่บ้าง แต่จะน้อยกว่าปีที่แล้วมาก เมื่อถามว่าการที่คาดการณ์น้ำได้นั้น ยังจำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่วงก์หรือไม่ นายรอยล กล่าวว่า ตรงนี้มีปัญหาตาม เพราะการคาดการณ์นั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เราต้องการเหลือพื้นที่ไว้ไม่ให้เสี่ยง แม้ตอนนี้ความเสี่ยงลดลง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ และสิ่งที่ยังเห็นในพื้นที่พอไม่มีแหล่งน้ำ ส่วนสิ่งที่ตามมาคือเวลาน้ำมา น้ำจะท่วมมากกว่าเดิม ทำให้ประชาชนหันมาปลูกพืชฤดูแล้ง มีการทำบ่อบาดาล ทำให้พื้นดินทรุด ป่าก็แล้ง กลายเป็นงูกินหาง จึงต้องหาจุดสมดุลให้ได้ ว่าเราจะทำแหล่งเก็บน้ำอย่างไรให้ป่าดีขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนการใช้น้ำ
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น