วันนี้ (15 มี.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวกรณีพบผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์หรูหลายยี่ห้อมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า ทำให้รัฐสูญเสียรายได้มูลค่าหลายล้านบาทว่า ตนได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวแล้วโดยมอบหมายให้ พ.ต.อ.ญาณพล เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ในการตรวจสอบหาแนวทางหาตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งพบว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการจำนวนมากอาศัยช่องว่างของกฎหมายในการนำเข้ารถด้วยการหลีกเลี่ยงภาษีหลายรูปแบบ เช่น กรณีสำแดงรายการส่วนประกอบของรถยนต์(OPTIONS) ไม่ครบ หรือรถที่มีรายการส่วนประกอบคุณภาพสูงแต่กลับสำแดงว่าเป็นรถรุ่นธรรมดา ทำให้เสียภาษีศุลกากรต่ำกว่าความเป็นจริง กรณีการสำแดงราคารถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นวิธีที่ที่ผู้ประกอบการเลี่ยงภาษีรถยนต์หรูในตลาดเกรย์ มาร์เก็ต นิยมนี้ที่สุด กรณีออกใบเสร็จรับเงินหรือลงบัญชีต่ำกว่าราคาขายจริง ซึ่งต้องมีการตรวจสอบการยื่นเสียภาษีสรรพากร และกรณีการจดทะเบียนรถยนต์ที่นำชิ้นส่วนเข้ามาจดประกอบว่ามีการเสียภาษีครบถ้วนหรือไม่ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พิจารณาต่อไป
นายธาริต กล่าวต่อว่า ดีเอสไอมองว่าการหลบเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะสร้างความเสียหายต่อภาษีของรัฐจำนวนมาก เนื่องจากรถที่นำเข้าด้วยวิธีเลี่ยงภาษีมักเป็นรถหรูที่มีราคาแพง มีอัตราภาษีที่ต้องเสียหากมีการนำเข้าตั้งแต่ 187-328 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ช่องโหว่ที่ทำให้ปัญหามีทั้งขั้นตอนการตรวจสอบที่เปิดช่องให้ผู้ประกอบการสำแดงการเสียภาษีและรับรองเอกสารด้วยตัวเอง ดังนั้นผู้ประกอบการเหล่านี้จึงมักสำแดงรถที่มีอุปกรณ์ประกอบของรถยนต์ระดับคุณภาพดีเป็นแบบคุณภาพธรรมดา และแจ้งราคาต่ำกว่าราคาจริง ซึ่งในส่วนนี้เชื่อว่ามีการใช้เอกสารเท็จแน่นอน นอกจากนี้ยังถือเป็นการเอาเปรียบผู้เสียภาษีรายอื่น เนื่องจากคนกลุ่มเป็นนักลงทุนที่มีทรัพย์สินมาก ขณะที่ผู้ซื้อก็ล้วนเป็นผู้มีฐานะดีแต่กลับหลบเลี่ยงไม่เสียภาษีตามจริง เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์เลี่ยงภาษีในตลาดเกรย์ มาร์เก็ต มีกว่า 30 บริษัท โดยมีลักษณะการเปิดเป็นโชว์รูมอย่างเปิดเผย แต่มักจดทะเบียนเปลี่ยนบริษัทอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าในแต่ละเดือนมีการนำเข้ารถหรูจำนวนมาก เช่น ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาเพียง 1 เดือน เฉพาะรถยี่ห้อเบนซ์ มีการนำเข้ามามากถึง 300 คัน และแบบรถจดประกอบ 166 คัน
“เรื่องดังกล่าวเข้าข่ายความผิดทั้งพ.ร.บ.ศุลกากร สรรพาสามิตและประมวลรัษฎากร ขอให้ผู้ซื้อต้องระวังตัวไม่เช่นนั้นอาจโดนดำเนินคดีเข้าข่ายกระทำความผิด ดีเอสไอจะดูเจตนาเป็นหลักแต่เบื้องต้นจะเน้นดำเนินคดีในส่วนผู้ประกอบการก่อน” นายธาริต กล่าว
ด้านพ.ต.อ.ญาณพล กล่าวว่า จากการประเมินพบมีภาษีต้องเรียกคืนรัฐจำนวนมากถึงหลักพันล้านบาท แต่เบื้องต้นตรวจสอบพบต้องเรียกเก็บแล้ว 43 ล้านบาท ผู้ประกอบการลักษณะนี้จะอาศัยช่องว่างของกฎหมายนำเข้ามาหลายช่องทางเช่น การสวมสิทธินักเรียนไทยในต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งพบว่ารถซื้อไม่โดยไม่ได้นำมาใช้งานจริงแต่มีการรอให้ครบกำหนดเวลาที่ต้องครอบครอบในต่างประเทศครบ 1 ปี 6 เดือน จึงจะสามารถนำกลับมาใช้ในประเทศไทยได้ ซึ่งนักศึกษาที่ถูกอ้างชื่อเป็นเจ้าของรถจากการตรวจสอบบางรายไม่น่าจะมีรายได้มากพอซื้อรถราคาแพง นอกจากนี้การสืบสวนยังพบว่ารถหรูบางคันเพิ่งถูกซื้อเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในราคา 16 ล้านบาท แต่เมื่อนำเข้ามาในประเทศไทยกลับสำแดงเป็นรถที่มีราคาแค่ 2 ล้านบาทเท่านั้น
แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น