วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ตั้งธงสานเสวนา"ตีปี๊บ"แก้ไขรัฐธรรมนูญเกมชิงมวลชนพา"คนแดนไกล"กลับบ้าน


นับจากวันนี้เป็นต้นไป เชื่อว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะเกิดการ “เผชิญหน้า” กันในแทบจะทุก “แนวรบ” ระหว่างฝ่ายหนึ่งซึ่งหมายถึงฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มี “มวลชน” ที่ชื่อ นปช.ให้การสนับสนุน กับอีกฝ่ายซึ่งเรียกตัวเองว่า “ฝ่ายตรวจสอบ” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ส.ว.กลุ่มที่ถูกเรียกว่า กลุ่ม 40 ส.ว.และภาคประชาชนที่ใช้ชื่อย่อว่า ภตช.เรื่อยไปจนถึง “องค์การพิทักษ์สยาม” ที่มี เสธ.อ้าย หรือ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นแกนนำ ซึ่งจะมีประกาศท่าที “ต่อต้าน” รัฐบาลในวันที่ 28 ต.ค.ที่จะถึงนี้ที่สนามม้านางเลิ้ง
  
ที่บอกว่าเป็นการ “ปะทะ” กันในทุกแนวรบนั้นเป็นการ “ปะทะ” กันในลักษณะของ “ข้อมูลข่าวสาร” เป็นหลัก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการให้ “สังคม” ได้เข้าใจข้อมูลซึ่งนับวันผู้คนในสังคมจะเชื่อ และเลือกที่จะเชื่อในข้อมูลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงมากขึ้นทุกที
  
ในแนวปะทะ “แนวแรก” น่าจะอยู่ที่เวทีวุฒิสภา ซึ่งได้มีการยื่นญัตติเพื่อขอเปิด “อภิปรายทั่วไป” รัฐบาล โดยไม่ลงมติไปแล้วก่อนหน้า คาดการณ์กันว่า รัฐบาลจะเปิดเวทีเพื่อชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ที่สังคมเคลือบแคลงสงสัย ตั้งแต่การ “รับจำนำข้าว” งบประมาณในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ความไม่สงบในปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ขณะเดียวกัน วุฒิสภาส่วนหนึ่งที่นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ก็ยื่นเรื่องผ่านประธานวุฒิสภาเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ “วินิจฉัย” ว่า การขายข้าวที่ได้จากการรับจำนำในลักษณะที่เรียกว่า “รัฐต่อรัฐ” หรือ “จีทูจี” นั้นเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่
  
กรณีดังกล่าววุฒิสภาได้ส่งเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อย ขณะนี้ก็อยู่ที่ขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นว่าจะรับเรื่อง “จีทูจี” ไว้พิจารณาหรือไม่
  
สาระสำคัญน่าจะอยู่ตรงที่จะต้องมีการ “เปิดเผย” ว่า การขายข้าวที่ว่านั้นมี “รายละเอียด”ของสัญญาอย่างไร เพราะหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่เชื่อว่าสิ่งที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่ามีการทำสัญญากันนั้น มีอยู่จริง
  
แนวปะทะ “แนวต่อมา” คือแนวปะทะในส่วนของภาคประชาชนในกรณีข้อกล่าวหา “ไซฟ่อนเงิน” จากงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท ที่ภตช. ออกมาเปิดเผยและถูกกระบวนการตรวจสอบในรัฐสภาในรูปของคณะกรรมาธิการ ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเรียกข้อมูลไปตรวจสอบ
  
เมื่อฝ่ายหนึ่ง “กล่าวหา” แน่นอนว่าฝ่ายรัฐบาลซึ่งถูกกล่าวหาก็ต้องรีบสร้าง “ความกระจ่าง” ให้เกิดขึ้นโดยเร็วก่อนที่จะลามกลายเป็น “กระแสทางการเมือง” จนสังคมเชื่อกันไปว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น
  
แม้จะมี “ข้อเท็จจริง” ที่ต้องการพิสูจน์ แต่ดูเหมือนจะเกิดมีข้อกล่าวหาทางการเมืองในลักษณะว่ามี “เบื้องหลัง” ของภาคประชาชนเหล่านี้เพื่ออาศัยจังหวะนี้ “จ้องล้ม” รัฐบาลเกิดขึ้น
  
ขณะที่แนว “ปะทะสุดท้าย” ซึ่งน่าจะ “ร้อนแรง” เพราะต่างฝ่ายต่างเห็นไพ่กันมาแล้วก่อนหน้านี้และจับตาความเคลื่อนไหวของกัน และกันอย่างใกล้ชิดมาตลอด ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย
  
ในมุมของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้เดินหน้าตั้งเวทีปราศรัยทางการเมืองโดยใช้ชื่อว่า “เวทีผ่าความจริง” โดยเน้นที่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อ ปี 53 ที่ผ่านมา และล่าสุดก็เปิดประเด็นเรื่อง “ชายชุดดำ” จนเกิดการปะทะกันทางข้อมูล “รอบใหม่” ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและแกนนำ นปช.ที่มีตำแหน่งในรัฐบาล
  
ฝ่ายหนึ่งจัดแรลลี่หาชายชุดดำ อีกฝ่ายก็จัดแรลลี่ในนาม คนเสื้อแดง หรือฝ่ายรัฐบาลอย่างดีเอสไอหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ออกมาให้รางวัลนำจับ “ชายชุดดำ” จำนวน 1 ล้านบาท และล่าสุด แกนนำ นปช.อย่างนางธิดา ถาวรเศรษฐ ก็ให้อีก 1 ล้านบาท หากชี้เบาะแสได้
  
กรณี “ชายชุดดำ” เรื่อยไปจนถึงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเป็น “หัวข้อหลัก” ซึ่งจะใช้การ “สร้างมวลชน” เพื่อสนับสนุนทางการเมืองที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งบัดนี้กระบวนการผลักดันยัง “ค้างคา” อยู่ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา และน่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า อย่างไรเสียรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ต้อง “เดินหน้า” ต่อแน่ แม้จะประเมินว่าอีกฝ่ายต้องต่อต้านและคัดค้านอย่างหนัก ยิ่งกว่าที่เคยคัดค้านก่อนหน้านี้เป็นแน่
  
ที่สำคัญยังมีเรื่องของการสร้างความปรองดองที่จะผ่านการผลักดันในรูปแบบของ การเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการสร้างความปรองดองแห่งชาติที่มีชื่อเดิมว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อีกด้วย กรณี “ปรองดอง” นี้เกี่ยวข้องกับคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำพรรคเพื่อไทย “ตัวจริง” โดยตรง
  
ที่ผ่านมาแม้พรรคเพื่อไทย เรื่อยไปจนถึงมวลชนที่ชื่อว่านปช.พยายามจะผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีผลสำเร็จขึ้นมา เนื่องจากถูกต่อต้านจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นด้านหลัก ด้วยเหตุผลที่ว่าจะนำมาซึ่งความแตกแยกรอบใหม่ เป็นการช่วยคน ๆ เดียว ที่สำคัญรัฐบาลไม่ควรเสียเวลากับการแก้ปัญหาการเมืองแต่ควรเอาเวลาไปทำ นโยบายที่ได้หาเสียงไว้ให้ประสบความสำเร็จ
  
การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้าน การแถลงนโยบายของรัฐบาล 1 ปีต่อรัฐสภา เรื่อยไปจนถึงการปรับคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 3” เป็นเรื่องที่ “ฝ่ายการเมือง” เล็งเห็นว่ายังไงต้องเกิดขึ้นแน่และมองว่า ไม่น่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากนัก เพราะอย่างไรเสียรัฐบาลก็กำหนดปฏิทินไว้แล้วว่า การปรับครม.จะเกิดขึ้นหลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
  
ท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศจะเดินหน้า “สานเสวนา” โดยจะประเดิมเปิดเวทีเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ตำรวจ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องมาประชุมในวันที่ 28 ต.ค.ที่จะถึงนี้ที่จ.นครราชสีมา จึงเป็นท่าทีที่ถูกมองว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเดิน “ก้าวที่ 2” ทางการเมืองหลังก้าวแรกถูกต่อต้านจนเกิดการชะงักขึ้น
  
พรรคเพื่อไทยเข้ามา “มวลชน” ที่ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนในการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. 54 จึงเป็น “สัญญาณ” ที่ไม่ธรรมดาทางการเมือง และไม่แปลกหาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะส่งเอสเอ็มเอสถึงสมาชิกพรรคให้ตรวจสอบกระบวนการสานเสวนาของรัฐบาลอย่าง ใกล้ชิด
  
เพราะการสร้าง “มวลชน” ย่อมมีจุดประสงค์ทางการเมืองรออยู่ เป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต้อง “จับตา” เพราะการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะมีการแก้ไขกติกาอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น “เป้าหมาย” สำคัญ
  
ก็อย่างที่รับรู้กันมาก่อนหน้านี้ การได้รับชัยชนะทางการเมืองเป็นรัฐบาล ก็คือ “ธงแรก” ขณะที่ “ธงต่อมา” คือการแก้ไขกติกาโดยอ้างว่าเรื่องความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ล้างพิษรัฐประหารเมื่อวันที่ 19  ก.ย. 49
  
ที่เคยได้ยินกันในอดีตว่า “ผู้ชนะคือผู้กำหนดกติกา” ซึ่งครั้งหนึ่ง “คนแดนไกล” เคยพูดไว้
  
ยังเหมือนเดิมและไม่มีเปลี่ยนแปลงไปไหน.

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources