วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ชี้อีวี 71 โอกาสเข้าสมองเด็กเล็ก 1 ใน 300-500 คน 24 ก.ค.หาข้อสรุป 2 ขวบตายเพราะมือเท้าปาก



เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวถึงการประชุมผู้เชี่ยวชาญในวันอังคารที่ 24 ก.ค.เพื่อสรุปกรณีการเสียชีวิตของ ด.ญ.วัย 2 ขวบเศษที่ รพ.นพรัตนราชธานี ซึ่งผลการตรวจพบเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ว่า ในการประชุมวันดังกล่าวประเด็นสำคัญคือ อยากได้ข้อมูลทั้งหมดของเด็กที่เสียชีวิตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รพ.นพรัตนราชธานี ผลการตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เนื่องจากตนยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ หลังจากนั้นผู้เชี่ยวชาญก็จะมาลงความเห็นกัน
“ในการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเสียชีวิตจากเชื้ออีวี 71 และเป็นโรคมือเท้าปากจะต้องมีข้อมูลครบถ้วนก่อน เพราะแม้แต่คนที่โดนยิงเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาก็ยังต้องมีกระบวนการสอบสวนและ ตรวจสอบ ให้แน่นอนและแม่นยำ มีหลักฐานอธิบายได้” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวและว่ายืนยันว่าไม่มีอะไรต้องปิดบังเพราะหากมีอะไรก็จะให้ข้อมูลสื่อ ทั้งหมด เพื่อให้สามารถถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้องต่อไปได้
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีตรวจพบเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (อีวี 71 ) ใน ด.ญ.2 ขวบที่เสียชีวิตก็น่าจะเป็นโรคมือเท้าปาก แต่ถ้าจะให้ชัวร์ 100% ต้องนำชิ้นเนื้อสมอง ปอด หรือ หัวใจไปตรวจยืนยัน ส่วนการจะตรวจว่าเป็นอีวี 71 สายพันธุ์บี 5 หรือ ซี 4 ไม่มีความจำเป็นเพราะเป็นการตรวจเชิงระบาดวิทยาเท่านั้น เพื่อดูว่าสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ใด ส่วนความรุนแรงของอีวี 71 ทั้ง 2 สายพันธุ์ไม่แตกต่างกัน  เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมีหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ระบบภูมิคุ้มกัน สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ กรณีที่มีคนตายมากขึ้นหรืออายุเกิน 14 ปีขึ้นไปมีผู้ป่วยมากขึ้นอย่างไรก็ตามอาการของโรคมือเท้าปากไม่จำเป็นเสมอไป ที่จะต้องมีตุ่มที่มือเท้าปาก อาการที่ปรากฏอาจไม่ครบทั้งหมด
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ  หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   กล่าวว่า จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ)ของจุฬาฯ ปีนี้พบการระบาดของโรคมือเท้าปากจากไวรัสคอกซากี่เอ 6  ประมาณ 30% เดิมเชื้อที่ระบาดทุกปีเป็นคอกซากี่เอ 16  แต่ถึงแม้จะเปลี่ยนเป็นคอกซากี่เอ 6 หรือ เอ 16 ก็เป็นไม่มีอาการรุนแรง และไม่เข้าสมอง  ส่วน อีวี 71  ปีนี้พบประมาณ 20 % เป็นสายพันธุ์บี 5 อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็น อีวี 71 บี 5 หรือ อีวี 71 ซี 4 ความรุนแรงเท่ากันหมด โดยโอกาสที่อีวี 71 จะเข้าสมองถ้าเป็นเด็กเล็กมีประมาณ 1 ใน 300-500 คน แต่ถ้าเป็นเด็กโตโอกาสที่อีวี 71 จะเข้าสมองประมาณ 1ในหลายพันคน
“จากการตรวจภูมิต้านทานของคนปกติ พบว่า ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ประมาณ 70 % ไม่มีภูมิต้านทานต่ออีวี 71  แต่ในคนอายุ 12 ปีขึ้นไป 90% มีภูมิต้านทานต่ออีวี 71 ดังนั้นกลุ่มเด็กเล็กจึงมีความเสี่ยง ส่วนผู้ใหญ่นั้นโอกาสจะเกิดโรคน้อยมาก” ศ.นพ.ยง กล่าวและว่า สำหรับอาการผู้ป่วยโรคมือเท้าปากนั้นไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทุกอย่าง บางรายอาจจะไม่มีอาการมือเท้าปาก
ศ.นพ.ยง กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากว่า ตอนนี้อยู่ในระยะเริ่มต้น โดยมีทางไต้หวันเป็นแกนหลักในการพัฒนา โดยทางจุฬาฯได้มีความร่วมมือกับไต้หวัน เนชั่นแนล เชียงกุง ยูนิเวอร์ซิตี้ โดยทุนซาตูเซาท์อีสเอเชียและไต้หวันยูนิเวอร์ซิตี้ฟอร์รั่ม นอกจากนี้ยังมีมาเลเซีย สิงคโปร์ ร่วมด้วย โดยทางจุฬาฯไปศึกษาระบบภูมิคุ้มกันร่วมกับทางไต้หวัน ทั้งนี้โรคมือเท้าปากส่วนใหญ่เป็นปัญหาในประเทศแถบเอเชีย อีวี 71 เริ่มครั้งแรกมีปัญหามากที่สุดมาเลเซีย จากนั้นไต้หวัน และระบาดเกือบทุกปี อย่างไรก็ตามสำหรับการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากในประเทศไทยคงอีกนาน เพราะเงินสนับสนุนการวิจัยน้อยมาก แทบไม่มีเลย 0.2% จีดีพี ถ้าเทียบกับเกาหลี สิงคโปรย์หรือไต้หวันเข้าไปถึง 3 % จีดีพี จะให้เราไปวิจัย ถ้านโยบายยังไม่สนับสนุน
แหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงการแพทย์ กล่าวว่า รู้สึกไม่สบายใจที่ฝ่ายการเมือง ไม่อยากให้มีผู้ป่วยโรคมือเท้าปากเสียชีวิต แสดงว่าไม่เข้าใจว่าโรคนี้เป็นแล้วโอกาสเสียชีวิตย่อมมี การตายเป็นเหตุสุดวิสัย แต่แนวโน้มตอนนี้ดูเหมือนผู้ที่รับผิดชอบไม่กล้าพูดความจริง ดังนั้นเกรงว่าจะมีปัญหาลูกโซ่ตามมา คือ รพ.อาจจะไม่รายงานตัวเลขผู้ป่วย หรือไม่เก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงส่งตรวจ เพราะกลัวว่าหากมีเสียชีวิตทางผู้บริหาร รพ.อาจมีปัญหาได้ หรือพอมีผู้ป่วยก็ส่งต่อไป รพ.ใหญ่ ๆ ซึ่งจะทำให้ไม่ทราบสถานการณ์การระบาดที่แท้จริงและไม่รู้ว่ามีการกลายพันธุ์ หรือไม่ ดังนั้นแทนที่กระทรวงสาธารณสุขจะมุ่งไปที่การนำเสนอตัวเลขผู้ป่วยว่ามีกี่คน แต่ควรมุ่งไปที่ผู้ป่วยโรคมือเท้าปากที่มีอาการหนัก ทางสมองหัวใจกล้ามเนื้อและปอดแทน

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources