วันนี้ ( 22 ธ.ค.) นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ถึงการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เชื่อว่าจะเป็นทางออกที่สามารถอธิบายให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะเรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์มานานพอสมควร และยังหาข้อสรุปไม่ได้ ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยออกมาในเชิงแนะนำว่าการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญทั้งฉบับควรจะสอบถามประชาชนก่อน รัฐบาลจึงเห็นควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สะท้อนความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว โดยทำใน 2 ลักษณะคือ การเปิดเวทีประชาเสวนา หรือประชาพิจารณ์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ยังมีผู้เห็นว่าการประชาเสวนาไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพราะไม่มีคะแนน หรือผลที่จะบอกว่าฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีมาก น้อยเพียงใด จึงมีเพียงการทำประชามติเท่านั้นที่จะสามารถอธิบายให้ชัดเจนขึ้น เพราะมีตัวชี้วัดที่อธิบายได้ด้วยเหตุผล และถือเป็นการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตยและกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามหลังจากที่การทำประชามติได้ข้อยุติแล้ว ก็ควรที่จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
นายวราเทพ กล่าวว่า ทั้งนี้คำถามในการทำประชามตินั้น คงจะไม่ไกลจากคำถามที่ว่าควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ สำหรับจำนวนเสียงในการทำประชามตินั้น ยอมรับว่าการที่จะต้องให้มีผู้มาใช้สิทธิเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือก ตั้ง โดยที่ไม่มีการแข่งขันของผู้สมัครรับเลือกตั้งก็อาจเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ประกอบกับมีแนวโน้มว่าจะมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และจะรณรงค์ต่อต้านไม่ให้คนมาใช้สิทธิ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะไม่มีการแก้ไขกฎหมายการทำประชามติใหม่ หรือไปลดเงื่อนไข เพราะถ้าไปทำอย่างนั้นจะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการยอมรับของประชาชน โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามก็จะเอาไปขยายผลได้ ดังนั้นควรจะใช้วิธีการรณรงค์ดีกว่าเพื่อให้นำไปสู่ทางออกสำหรับประเทศ และได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนเจ้าของประเทศเป็นผู้ร่างและเห็นชอบ ตั้งแต่ต้น จะได้เกิดความภาคภูมิใจว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง
นายวราเทพ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้หากผลการทำประชามติผ่าน ก็หมายถึงประชาชนให้การยอมรับในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็จะเดินหน้าต่อไป โดยคาดว่าประมาณปีเศษน่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยขั้นตอนแรกหากคณะทำงานพิจารณาเสร็จ นำเข้าครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการ และออกประกาศ คงจะใช้เวลา 1 เดือนเศษ จากนั้นอีกไม่เกิน 4 เดือนก็จะได้ผลการทำประชามติ จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของรัฐสภาในการลงมติวาระที่ 3 ซึ่งจะได้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข จากนั้นก็นำไปสู่การตั้ง สสร.ภายใน 120 วัน และ สสร.ก็จะยกร่างรัฐธรรมนูญอีก 240 วัน ซึ่งหลังจากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ก็ต้องมีการทำประชามติอีกรอบ เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดว่าต้องผ่านความเห็นชอบจาก ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง
“ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายอึดอัดกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 49 และประเด็นสำคัญคือเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรามองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีที่มาจากการรัฐประหาร ประชาชนไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ดังนั้นการที่ประชาชนจะได้มีโอกาสออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติครั้งนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่มีกฎหมายรองรับ ทุกอย่างจะได้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี คือทุกคนต้องยอมรับกติกา ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าจะเกิดปัญหาทำประชามติแล้วไม่เป็นที่ยอมรับ ถือเป็นการคาดการณ์ตั้งแต่ต้น แต่ผมเชื่อมั่นว่ายังมีประชาชนที่เป็นเสียงเงียบอีกจำนวนมากที่รอดูทั้ง 2 ฝ่ายพูดกัน แล้ววันหนึ่งเขาจะออกมาแสดงพลังไปในทิศทางที่เขาอยากเห็น คืออยากเห็นบ้านเมืองสงบ เป็นทางออกของสังคม บรรยากาศจะได้กลับมาเหมือนก่อนหน้าปี 49 ที่ประเทศกำลังพัฒนาไปได้ และมีประชาธิปไตยที่มั่นคง ดังนั้นจึงอยากเห็นฝ่ายค้านรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติ มากกว่า ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือจะงดออกเสียงก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพ”นายวราเทพ กล่าว
ทางด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า คณะทำงานศึกษาการทำประชามติที่ ครม.มอบหมาย ได้กำหนดกรอบเวลาทำงานเบื้องต้นไว้แล้ว โดยจะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 24 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณปลายเดือน ม.ค.56 ส่วนจำนวนเสียงที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะไม่ถึง 23 ล้านเสียงนั้น ยอมรับว่ามีการพูดและห่วงกันในประเด็นนี้ ดังนั้นเราต้องพยายามทำให้ประชาชนได้เข้าใจถึงประโยชน์ของรัฐธรรมนูญว่าเป็น กฎหมายสูงสุดที่ต้องใช้กับประชาชนทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ซึ่งช่องทางการทำประชาเสวนาก็น่าจะเป็นประโยชน์อีกส่วนหนึ่งในการสร้างความ เข้าใจให้กับประชาชนควบคู่กันไป
0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น