วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รูปแบบที่ซ่อนอยู่ใน GIS - 1001


ใน 1001 วันนี้ ผมจะแนะนำคำสองคำที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันแต่เมื่อนำมารวมกันแล้ว มันกลายเป็นเรื่องน่าสนุกขึ้นมาได้

คำแรกคือคำว่า จีไอเอส (GIS) ย่อมาจากคำว่า Geographic Information System แปลเป็นไทยให้ไพเราะได้เป็นคำว่า ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งมันก็คือ ระบบที่มีการนำเอาข้อมูลไปแปะรวมไว้กับพิกัดทางภูมิศาสตร์นั่นแหละครับ

ส่วนคำว่ารูปแบบนั้น มาจากคำว่า Pattern ซึ่งมีการศึกษากันอย่างกว้างขวางในแวดวงคอมพิวเตอร์ โดยมีความพยายามทั้งการค้นหารูปแบบที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลที่สับสนวุ่นวาย หรือการทำนายผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นโดยใช้รูปแบบที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต

แล้วสองคำนี้มาเจอกันมันจะสนุกตรงไหน

เอาเป็นว่าทุกท่านลองหลับตานึกถึงภาพยนตร์สืบสวนสอบสวนแนวฆาตกรรมต่อเนื่อง ที่ชอบทิ้งร่องรอยไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วเมื่อเอาตำแหน่งของที่เกิดเหตุมาเขียนลงบนแผนที่แล้วจะพบเป็นรูปแบบ บางอย่างที่น่าสนใจ ทำให้พระเอกของเรื่องตามหาฆาตกรจนเจอและคลายปมได้ในที่สุด

เรื่องราวในภาพยนตร์ในลักษณะนี้ถูกนำมาขยายจนกลายเป็นระบบที่มีการนำมาใช้ กันในปัจจุบัน อย่าง PredPol (Predictive Police) ซึ่งได้นำข้อมูลตำแหน่งการเกิดอาชญากรรมมาประมวลผล (ตามรูป) แล้วทำนายว่า ในแต่ละวันจะมีแนวโน้มเกิดอาชญากรรมขึ้นในบริเวณใด ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะแสดงเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่กินอาณาบริเวณขนาดไม่เกิน  500x500 ฟุต และทางผู้ผลิตโฆษณาว่า ระบบนี้สามารถลดจำนวนครั้งของการเกิดอาชญากรรมได้จริง ผ่านการพิสูจน์จากผู้ใช้จริงมาแล้ว

แนวคิดที่เป็นรากฐานของระบบนี้คือ การค้นหารูปแบบการเกิดอาชญากรรมบนสมมุติฐานที่ว่าถ้าการก่ออาชญากรรมมีรูป แบบแบบใดแบบหนึ่งแล้ว ระบบนี้จะสามารถตรวจจับได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีนักล้วงกระเป๋าหนึ่งคนจะออกทำงานบ่อย ๆ ในช่วงเช้าในบริเวณป้ายรถประจำทางที่ไม่ไกลจากบ้านของตัวเองนัก เราก็พอที่จะตีกรอบเส้นทางการทำงานของนักล้วงกระเป๋าคนนี้ได้ หรือการวิ่งราวมักจะเกิดขึ้นในบริเวณที่เปลี่ยวช่วงไม่ดึกมากนัก เป็นต้น เมื่อเรานำข้อมูลทั้งหมดมาวาดลงบนแผนที่แล้วใช้การคำนวณอีกเล็กน้อย เราก็พอที่จะกำหนดขอบเขตของบริเวณที่จะเกิดอาชญากรรมในอนาคตได้

ซึ่งถ้าบ้านเราอยากจะใช้ระบบในลักษณะแบบนี้ ก็สามารถทำได้เองในแบบ
ที่ยังไม่ต้องสั่งซื้อระบบจริงมาใช้ โดยเริ่มจากการพล็อตตำแหน่งของสถานที่เกิดเหตุแยกตามประเภทการเกิดเมื่อเจ้า ทุกข์มาแจ้งความ เช่น การลักขโมยทรัพย์สินจากบ้านเรือน การวิ่งราว คดีข่มขืน เกิดขึ้นตรงไหน อย่างไร โดยใช้ระบบแผนที่ที่ให้บริการฟรีกันโดยทั่วไป จากนั้นก็เริ่มต้นวิเคราะห์และทำนายโดยตำรวจที่มีความชำนาญในรูปแบบของคดี ต่าง ๆ แค่นี้ก็พอที่จะสามารถเลียนแบบการทำงานของ PredPol ได้
เช่นกัน

“เริ่มทำวันนี้ได้เลยครับ...แล้วรอดูผลลัพธ์กันต่อไป”.
สุกรี สินธุภิญโญ
sukree.s@chula.ac.th
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http//www.facebook.com/1001FanPage

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources