วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

Trendy Review:Dell XPS 13 Ultrabook ตัวล่าสุดของ Dell


Pic_246250

Notebook ก็ยังมีขนาดใหญ่และหนักเกินจะพกพาได้สะดวก Intel จึงนำเสนอ Form Factor แบบใหม่ สำหรับ Notebook ที่เรียกว่า Ultrabook และนี่คือ Ultrabook น้องใหม่ล่าสุด จากแบรนด์ PC ชื่อดังระดับโลกอย่าง Dell ครับ...

หลังจากที่ Netbook สร้างความฮือฮาให้กับวงการ Notebook ไปได้พักใหญ่ๆ จากขนาดที่เล็กและเบาพกพาสะดวก แต่สุดท้าย เมื่อซอฟต์แวร์มีการพัฒนาให้มีความสามารถมากขึ้น บ่อยครั้งที่ประสิทธิภาพของ Netbook ไม่มากพอที่จะรันซอฟต์แวร์ที่เราจำเป็นต้องใช้ในการทำงานได้ แต่ Notebook ก็ยังมีขนาดใหญ่และหนักเกินจะพกพาได้สะดวก Intel จึงนำเสนอ Form Factor แบบใหม่ สำหรับ Notebook ที่เรียกว่า Ultrabook และนี่คือ Ultrabook น้องใหม่ล่าสุด จากแบรนด์ PC ชื่อดังระดับโลกอย่าง Dell ครับ

เริ่มตั้งแต่แกะกล่อง


เท่าที่ผมสังเกต ปกติแล้ว Notebook ที่มีขนาดเล็ก บาง และ เบา มักจะถูกออกแบบให้กล่องใส่มีขนาดเล็กและบางตามไปด้วย เรียกว่าเข้า Concept เลย แต่ว่า Dell XPS 13 นี่สวนกระแสครับ กล่องใหญ่มากๆ ทั้งๆ ที่ความจริง ดูจากเลขรุ่นก็น่าจะรู้ๆ  อยู่ว่าขนาดหน้าจอ 13 นิ้ว ไม่น่าจะกล่องใหญ่ขนาดนี้เลย
แกะกล่องใหญ่ออกมา ก็จะมีกล่องเล็ก 2 กล่อง กล่องแรกคือใส่ตัวเครื่อง คู่มือ และแผ่นซอฟต์แวร์ ส่วนกล่องเล็กอีกใบจะใส่ชาร์จเจอร์ครับ

เอาตัวเครื่องออกมาแล้ว ก็ต้องบอกว่าบางและเบาจริงๆ แต่น่าแปลกใจอยู่นิดๆ ว่า ทำไมมันดูเล็กๆ ผิดกับ Notebook ขนาดหน้าจอ 13 นิ้วตามปกติ เลยต้องขอเอามาเทียบกับ MacBook Air 11 นิ้ว และ MacBook Pro 13 นิ้วซะหน่อย
เห็นได้ชัดเลยว่า Dell XPS 13 นี่ ตั้งใจจะทำบน Form Factor ขนาด 11 นิ้วครับ เลยทำให้มันดูเล็กจริงๆ

ผิดกับ Ultrabook ยี่ห้ออื่นที่ผมเคยลองมา ที่จะพยายามทำตัวเครื่องเป็นแนว Unibody ใช้อลูมิเนียมตลอดทั้งเครื่อง แต่ Dell XPS นี่แหวกแนวอีกแล้ว ด้วยการใช้อลูมิเนียมในส่วนของหน้าจอ และเฟรมบางส่วนของบอดี้ แต่ว่าตัวบอดี้จริงๆ ใช้คาร์บอนไฟเบอร์ครับ ซึ่งเป็นวัสดุที่คงทนและเบามาก
หน้าจอขนาด 13 นิ้ว ขอบจอบางเอาการ เพื่อให้สามารถอยู่ใน Form Factor ที่เล็กกว่า Notebook จอ 13 นิ้วปกติได้ ความละเอียด 1366 x 768 พิกเซล Widescreen HD แต่ที่เจ๋งจริงๆ คือ จอเป็น Corning Gorilla Glass ทนต่อการเกิดรอยขีดข่วน สีสันแจ่มมาก ความสว่างสุดๆ ไปเลย ผมไม่แนะนำให้ท่านผู้อ่านเปิดความสว่างสุดๆ ในสภาพแสงที่ไม่เยอะครับ เพราะจะแสบตาจริงๆ
คีย์บอร์ด วาง Layout ได้ดีมากครับ ใช้พิมพ์ถนัดมือจริงๆ ตัวที่ผมได้มารีวิวนี่เป็น Engineering Unit ดังนั้นก็เลยยังไม่มีแป้นภาษาไทยครับ แต่ด้วยความที่คุ้นเคยกับแป้นดีอยู่แล้ว ก็เลยพิมพ์ได้สะดวกไม่ขัดเขินเลย ... Dell XPS 13 มาพร้อมกับไฟใต้แป้นคีย์บอร์ดด้วย และสามารถปรับความสว่างได้ 3 ระดับ คือ ปิด, ไฟหรี่ และ ไฟสว่าง
ด้านล่างของตัวเครื่อง เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ มีช่องระบายความร้อนจุดนึงอยู่ที่นี่ (อีกจุดจะอยู่ด้านหลังตัวเครื่อง ถูกจอแสดงผลบังเอาไว้) เวลาใช้งานค่อนข้างร้อนอยู่ ดังนั้นไม่แนะนำให้วางเครื่องใช้งานบนตักนะครับ
ด้านซ้ายของตัวเครื่องก็มีพอร์ต USB, ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. และ ช่องเสียบสายชาร์จ ส่วนด้านขวา ก็เป็นพอร์ต USB, Display Port และ ปุ่มกดสำหรับเช็คระดับแบตเตอรี่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเปิดเครื่องดูว่าเหลือแบตเตอรี่แค่ไหน

สเปก และ ประสิทธิภาพ

อันนี้ขอลอกโบรชัวร์ของ Dell มาบอกเลย มีด้วยกัน 3 รุ่นครับ คือ

XPS 13 V560102TH-L312x [57,990]
•    CPU: 2nd Generation Intel Core i7-2637M 1.70GHz (มี Turbo Boost 2.0 เพิ่มความเร็วสูงสุดเป็น 2.80GHz ได้)
•    GPU: Intel HD 3000 Graphics
•    RAM: 4GB DDR3 1333MHz
•    HDD: Solid State Drive 256GB
•    Display: 13” 1366 x 768 พิกเซล Widescreen HD จอทนต่อรอยขีดข่วน Gorilla Glass


XPS 13 V560101TH-L312x [49,990]

•    CPU: 2nd Generation Intel Core i5-2467M 1.60GHz (มี Turbo Boost 2.0 เพิ่มความเร็วสูงสุดเป็น 2.30GHz ได้)
•    GPU: Intel HD 3000 Graphics
•    RAM: 4GB DDR3 1333MHz
•    HDD: Solid State Drive 256GB
•    Display: 13” 1366 x 768 พิกเซล Widescreen HD จอทนต่อรอยขีดข่วน Gorilla Glass

XPS 13 V560119TH-L312x [42,990]
•    CPU: 2nd Generation Intel Core i5-2467M 1.60GHz (มี Turbo Boost 2.0 เพิ่มความเร็วสูงสุดเป็น 2.30GHz ได้)
•    GPU: Intel HD 3000 Graphics
•    RAM: 4GB DDR3 1333MHz
•    HDD: Solid State Drive 128GB
•    Display: 13” 1366 x 768 พิกเซล Widescreen HD จอทนต่อรอยขีดข่วน Gorilla Glass

ทุกรุ่น น้ำหนัก 1.4 กิโลกรัม ทาง Dell บอกว่าแบตเตอรี่ที่ใช้เป็นแบบ 6-cell ใช้งานต่อเนื่องได้สูงสุด 8.53 ชั่วโมง จากการทดสอบของ Dell เอง (ทดสอบด้วยรุ่น Core i5-2467M 128GB SSD ด้วย Mobile Mark 2007)

ส่วนประสิทธิภาพนั้น ขอใช้ Windows Experience Index เป็นตัววัดนะครับ อ้างอิงจากมาตรฐานของ Microsoft แล้วกัน คะแนนของ Windows Experience Index นั้นจะอยู่ที่ 1.0 – 7.9 ครับ
คะแนนค่อนข้างชัดเจนเลยว่าจุดเด่นของ Dell XPS 13 นี่อยู่ที่ HDD ซึ่งเป็นแบบ Solid State จริงๆ เพราะได้คะแนนเต็ม 7.9 เลย ส่วนจุดด้อยก็อยู่ที่ตัวกราฟิกชิปเซ็ต ที่เป็น Intel HD 3000 Graphics ครับ คือ ไม่ใช่ไม่สามารถเล่นเกม 3D ได้เลยนะ แต่ว่าพวกที่ใช้กราฟิกจัดหนักจะเล่นไม่ค่อยได้เท่านั้นเอง แต่การดูหนัง Full HD นี่ สบายๆ ครับ

ซอฟต์แวร์จากทาง Dell

Dell XPS 13 มาพร้อมกับซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน ดังนี้ครับ
♣    Dell Stage เป็น Shortcut Icon บนหน้าจอ ที่ช่วยให้เข้าถึงฟีเจอร์ต่างๆ อาทิ Music, Photos, Video, Games, Weather, Magazines (เป็นบริการของ Zinio ผู้ให้บริการ E-Magazine) ฯลฯ
♣    Dell State Remote แม้ชื่อจะเรียกว่ารีโมท แต่จริงๆ แล้วคือคุณสมบัติในการแชร์ไฟล์มัลติมีเดีย (รูปภาพ, ไฟล์เพลง และ วิดีโอ) ไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ที่รองรับเทคโนโลยี DLNA ผ่านเครือข่าย WiFi
♣    Dell DataSafe เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการสำรองและกู้คืนข้อมูลครับ โดยจะเก็บข้อมูลที่สำรองไว้เอาไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ การใช้งานไม่ยากเย็นเลย ผมเองสามารถล้างเครื่องกลับไปเป็น Factory Setting เพียงไม่กี่คลิกเท่านั้น ... นอกจากนี้ยังมี Dell DataSafe Online ที่เก็บสำรองข้อมูลจำพวกไฟล์มัลติมีเดีย ไฟล์เอกสาร ขึ้นไปยัง Cloud ของ Dell ด้วย โดยมีพื้นที่ให้ฟรี 2GB ด้วย แต่ถ้าใครคิดว่าไม่พอ ก็ซื้อพื้นที่เพิ่มได้ครับ รายละเอียดดูที่ https://www.delldatasafe.com/

ลองจับ และลองเล่น Dell XPS 13

จากที่ลองใช้งานก็พบว่า Dell XPS 13 นั้นสามารถทำงานได้ลื่นไหลสบายๆ เลย ส่วนหนึ่งคงเพราะตัวที่ผมได้มารีวิวนั้นเป็นรุ่นท็อป ใช้ CPU Core i7 1.70GHz ด้วย ... การบูตเครื่อง การรีสตาร์ทเครื่อง การเปิดใช้งานหลังจากเข้า Sleep Mode ถือว่ารวดเร็วมาก อานิสงส์จากเทคโนโลยีของ Intel ประกอบกับการที่ใช้ Solid State Drive ด้วย

การใช้งานพื้นฐานอย่างพวกท่องเว็บ การเล่นเกม Flash ต่างๆ ตลอดไปจนถึงการใช้โปรแกรมที่กินสเปกขึ้นไปอีกขั้น เช่นพวกซอฟต์แวร์แก้ไขภาพ หรือการตัดต่อวิดีโอแบบง่ายๆ ด้วยสเปก CPU และ RAM ระดับนี้ ก็ยังพอใช้งานได้ในระดับพื้นฐาน (ย้ำนะครับ ระดับพื้นฐาน)

หน้าจอแบบ Gorilla Display นั้นทำให้ผมสบายใจ เวลาที่เอา Dell XPS 13 นี่ไปใช้นำเสนองานให้เพื่อนนักศึกษา หรือ เพื่อนร่วมงานดู แล้วเวลาเขามีข้อสงสัยอะไรก็เอานิ้วจิ้มมาที่หน้าจอ เพราะมั่นใจได้ว่าเอาอยู่ ส่วนลำโพงถือว่าเสียงดังมาก ดูเหมือนว่าจะแอบฝังเอาไว้ใต้คีย์บอร์ด ซึ่งการดีไซน์แบบนี้ผมชอบ เพราะมันจะไม่มีอะไรไปปิดบังเสียงเลย

จุดที่ต้องตินิดนึงของ Dell XPS 13 ตัวนี้คือ TouchPad ที่แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่ แต่เวลาใช้งานมันคลิกที่ TouchPad เพื่อทำคลิกซ้ายค้างไว้ แล้วใช้อีกนิ้วในการลากเคอร์เซอร์ของเมาส์ เพราะหากไม่คลิกที่ตรงส่วนด้านล่างซ้ายมือของ TouchPad แล้ว ระบบจะมองเป็นการแตะแล้วทำ Pinch Zoom แทน การใช้งานจึงไม่คล่องตัวเท่าไหร่ (ตรงนี้ผมชอบระบบ TouchPad ของเครื่อง MacBook มากกว่า)

บทสรุปของ Dell XPS 13


ในแง่ของการดีไซน์ ก็ต้องถือว่า Dell XPS 13 นี่ทำออกมาได้ดีครับ การที่ใช้คาร์บอนไฟเบอร์ทำให้ผมรู้สึกว่านี่มันไม่ใช่ MacBook Air (คือ ยี่ห้ออื่นๆ เขาใช้อลูมิเนียมแบบ Unibody ก็เลยทำให้ผมรู้สึกว่า มันคือ MacBook Air) เพียงแต่ว่าจนถึง Dell XPS 13 นี่ ต้องบอกว่า Ultrabook ยังไม่มีกลิ่นอายเฉพาะตัวเท่าไหร่นัก ตรงนี้คงต้องรอดูว่า Intel กับผู้ผลิตทั้งหลายจะทำยังไงต่อไป

สเปกของ Dell XPS 13 นั้นก็ให้มาแบบไม่กั๊ก แต่ไม่ได้ให้กราฟิกชิกเซ็ตที่แรงๆ มา ก็คงด้วยเพราะอยากจะรักษาแบตเตอรี่ให้อยู่นานๆ แต่จริงๆ แล้ว หากเลือกเป็นแบบกราฟิกชิป 2 ตัว แล้วเลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น ตอนใช้แบบไม่เสียบปลั๊กก็ไปใช้ Intel HD 3000 Graphics ส่วนตอนเสียบปลั๊กก็ไปใช้กราฟิกชิปแรงๆ เอาไว้เล่นเกม หรือซอฟต์แวร์ที่ใช้กราฟิกหนักๆ ได้ ก็น่าจะดีกว่า

ท้ายที่สุด ผมก็อยากให้มีรุ่นที่ 4 ขึ้นมาอีกซักรุ่น เอาเป็น Entry Level ที่ราคาอยู่ในซัก 35,000 – 36,000 บาท คนที่งบน้อยแต่อยากได้ Ultrabook ขนาดกะทัดรัด สเปกกำลังพอดีใช้มีทางเลือกครับ

คงเดช กี่สุขพันธ์
E-Mail: kafaak@gmail.com
Twitter: http://www.twitter.com/kafaak
Facebook: http://www.facebook.com/kafaakBlog
Google+: http://gplus.am/kafaak
YouTube: http://www.youtube.com/user/kafaak
Blog: http://www.kafaak.com

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources