วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทธ.ยันเขย่า 4 ริกเตอร์ระนองเรื่องปกติ


วันนี้ ( 5 มิ.ย.)  นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ. สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ( ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( ทส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเกิดแผ่นดินไหวขนาด  4 ริกเตอร์ จุดศูนย์กลาง ที่ อ.เมือง จ.ระนอง  ว่า เวลานี้ธรรมชาติยังบอกโจทย์อะไรไม่ชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นบ่งบอกถึง อะไร แต่จากการเก็บข้อมูลเรื่องแผ่นดินไหวในพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง ยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า พื้นที่ภาคใต้ทั้งระนองและภูเก็ตไม่น่าจะมีแผ่นดินไหวรุนแรง ทั้งนี้การเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง คือการปลดปล่อยพลังงานออกมา ทำให้แผ่นเปลือกโลกขยับตัวเข้าหาจุดสมดุลมากขึ้น

“ทธ.เองก็บอกอะไรได้ไม่มากว่า จะเกิดแผ่นดินไหวอีกหรือเปล่า และไหวเมื่อไร เพราะเทคโนโลยีเรายังไปไม่ถึงขนาดนั้น ดีที่สุดเรื่องการทำนายการเกิดแผ่นดินไหวก็คือประเทศญี่ปุ่น คือสามารถทำนายล่วงหน้าได้ประมาณ 2-3 วินาที เมื่อเขารู้ เขาจะสามารถปิดระบบทุกระบบที่อาจจะเกิดอันตรายได้ เช่น ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถใต้ดิน หรือโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้ทันการ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดสำหรับพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวแบบรุนแรง อย่างญี่ปุ่น แต่สำหรับประเทศไทยนั้น โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงนั้นมีน้อยมาก อาจจะมีก็ขนาดเล็ก ถึงขนาดปานกลางเท่านั้น ซึ่งเวลานี้เราจำเป็นจะต้องเข้าไปให้ความรู้อย่างมากสำหรับประชาชนที่อยู่ใน พื้นที่เสี่ยงสำหรับการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อที่จะได้อยู่กับพื้นที่บริเวณนั้นได้อย่างเป็นสุข ยอมรับว่าเวลานี้ เรายังให้ความรู้กับคนเหล่านั้นน้อย โอกาสที่จะเกิดความตระหนกตกใจจึงมีสูง”นายเลิศสิน กล่าว

นายเป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(เอไอที) กล่าวว่า ได้เก็บข้อมูลและศึกษาเรื่องการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคใต้มาระยะหนึ่ง พบว่า จ.ระนอง ภูเก็ต และ พังงา มีแผ่นดินไหวขนาดเล็ก คือ ขนาด 2-3 ริกเตอร์ กระจายอยู่ในพื้นที่เดิมเป็นประจำอยู่แล้วไม่มีอะไรผิดปกติ ทั้งนี้ ประชาชนจะไม่ค่อยรู้สึกว่ามีแผ่นดินไหว แต่ครั้งนี้เป็นการไหว ขนาด 4 ริกเตอร์ ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก แต่เกิดขึ้นใน อ.เมือง อาจจะเกิดความเสียหายขึ้นมาบ้าง แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

“เรานำข้อมูลมาวิเคราะห์ดูแล้ว พบว่า บริเวณไหนที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 2-3 ริกเตอร์บ่อยๆนั้น โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4 ริกเตอร์ ก็จะเกิดขึ้นประมาณ 5-10 ปีต่อครั้ง และบริเวณไหนที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4 ริกเตอร์บ่อยๆ โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์ก็จะเกิดได้ประมาณ 5-10 ปี ต่อครั้งเช่นเดียวกัน ซึ่งตรงกับที่ จ.ระนอง คือ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2-3 ริกเตอร์เป็นประจำอยู่แล้ว การเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4 ริกเตอร์ครั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย” นายเป็นหนึ่งกล่าว

นายเป็นหนึ่ง กล่าวอีกว่า พื้นที่ที่เราจับตามองคือภาคเหนือ เพราะที่ผ่านมามีแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์ค่อนข้างบ่อย โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ก็จะมีอยู่ ซึ่งขนาด 5 และ6 ริกเตอร์นั้น ตามตัวเลข จะดูห่างกันไม่มากนัก แต่ขนาดความรุนแรงจะต่างกัน กล่าวคือ 5 ริกเตอร์ขึ้นไปจะทำให้สิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงได้รับผลกระทบได้ แต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกในเรื่องนี้ ทุกคนจะต้องรู้ว่าในพื้นที่ตัวเองมีความเสี่ยงเรื่องแผ่นดินไหวอย่างไรบ้าง เพื่อจะปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เรื่องนี้เราจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อไป

แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources