วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

กบอ.ชี้ กทม.-ปริมณฑลเจอฝนถล่มถึง 19 ก.ย.


วันนี้ (17 ก.ย.) ที่ตึกสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ทำเนียบรัฐบาล นายรอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ภายใต้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) แถลงว่า ระหว่างวันที่ 17 - 19 ก.ย.นี้ จะมีปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยขณะนี้มีปริมาณน้ำท่วมขังในพื้นที่ดังกล่าว ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ซึ่งจะมีการเร่งระบายน้ำออกด้วยการผันน้ำที่ท่วมขังจากน้ำฝน ไปฝั่งตะวันออกบริเวณคลองระพีพัฒน์รอบนอก โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังระบายออกโดยใช้ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ลงสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้ ไปคลองรังสิตต่อไปที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือของกทม.ยังสามารถระบายน้ำได้อยู่ที่ 4,000 ลบ.ม.ต่อวินาที และมีการสูบน้ำออกวันละ 10 ล้านลบ.ม. ประกอบกับระดับในแม่น้ำฯต่ำกว่าตลิ่งกว่า 1 เมตร เช่นเดียวกับที่จ.ปทุมธานี ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2.40-2.50 เมตร นอกจากนี้ปีนี้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงแน่นอน แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงเกิดน้ำท่วม คือพายุและการเกิดร่องความกดอากาศ  เพราะพายุ 1 ลูกจะทำให้มีน้ำประมาณ 1,000 ล้านลบ.ม.
นายรอยล กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี เช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก รับน้ำได้อีก 6,000 ล้านลบ.ม. หรือ รับพายุได้ 4-5 ลูก และมีการระบายน้ำเพียง 3 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้น้ำท้ายเขื่อนทำน้ำประปา ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ รับน้ำได้อีก 3,400 ล้านลบ.ม.หรือรับพายุได้ 2-3 ลูก คาดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เขื่อนสิริกิติ์จะมีน้ำกว่าร้อยละ 80 บวกกับ เขื่อนภูมิพล จะทำให้เพียงพอในการใช้อุปโภค-บริโภคในหน้าแล้งปีหน้า ส่วนลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ปีนี้มีปริมาณรวมกันอยู่ที่ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าไม่น่ากังวลเพราะปีก่อน 4 ลุ่มน้ำมีน้ำรวมกันสูงถึง 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าภาพรวมน้ำปีนี้ไม่น่ากังวล
ขณะที่นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ในฐานะกรรมการ กบอ. กล่าวว่า สำหรับน้ำผิวดินหรือพื้นที่น้ำนอง ในวันที่ 10-17 ก.ย.2555 มีประมาณ 1.24 ล้านไร่ แต่ปี 2554 มี 6.6 ล้านไร่ ถือว่าปีนี้น้อยกว่า 5 เท่า สถานการณ์น้ำที่นองอยู่บนผิวดินปีนี้จึงถือว่าน้อยมาก ดังนั้น การแก้ปัญหาน้ำนองเป็นจุดๆถือเป็นปัญหาระดับท้องถิ่น ไม่ใช่ระดับประเทศ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ปัญหาน้ำในปีนี้คงไม่ทุเลาลง สำหรับพื้นที่อ.บางบาล เสนา ผักไห่ และบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงพื้นที่บางส่วนของจ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงมีน้ำท่วมซ้ำซากทุกปีในฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องแก้ในระดับท้องถิ่น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำของชุมชน อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ตอนนี้ก็ยังไม่มีน้ำท่วม ถือว่าปีนี้มีการบริหารน้ำที่ดีขึ้น แต่เราไม่ประมาท โดยต้องติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนที่เกิดจากพายุและร่องความกดอากาศต่ำ โดยเฉพาะปลายเดือน ก.ย. ถึงต้นเดือน ต.ค.ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และตนขอย้ำว่าปีนี้จะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมรุนแรงเหมือนปี 2553 และ2554 อย่างแน่นอน
ด้านนายพิพัฒน์ เรืองงาม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำของ สบอช. กล่าวว่า สำหรับน้ำที่อยู่ทางเหนือซึ่งประชาชนกังวลว่าจะมาถึงกทม.เมื่อใดนั้น รัฐบาลได้คำนวณปริมาณน้ำจากฝนตกในแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านแล้ว เบื้องต้นพบว่าน้ำจาก อ.ศรีสัชนาลัย จะมาถึงอ.เมือง จ.สุโขทัย ใน 19 ชั่วโมง จากนั้นจะมาถึง จ.พิจิตร ซึ่งใช้เวลา 30 ชั่วโมง หรือถ้าจาก จ.สุโขทัย มาถึงกทม. ใน 4 วันเป็นอย่างต่ำ ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถบริหารจัดการและควบคุมน้ำได้ทุกลำน้ำสายหลัก รวมถึงน้ำที่เข้าท่วมในหลายพื้นที่เป็นฝนที่ตกลงมาในแต่ละพื้นที่ แล้วท่วมขังและไหลมาสมทบกัน ทำให้ระบายน้ำลงแม่น้ำไม่ทัน โดยเฉพาะในพื้นที่จ.สุโขทัย ขณะนี้ระดับน้ำในลุ่มน้ำยมลดลง ถ้าไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าอีก 2-3 วันสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources