วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ถกแก้รธน.มาราธอนวันที่15


วันนี้ ( 14 พ.ค.) เวลา 10.00น. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีพล.อ.ธีรเดช มีเพียร รองประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่...)พ.ศ...ซึ่งเข้าสู่วันที่ 15 เริ่มพิจารณาในอนุมาตรา 291/18 ซึ่งมีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็นและผู้แปรญัตติของสงวนความเห็นไว้จากเดิมที่ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญและร่างของรัฐบาล ที่มีถึงมาตรา 291/17 เท่านั้น

สำหรับ มาตรา 291/18 ถึงมาตรา 291/23 มีสาระสำคัญโดยรวม 3 เรื่อง คือ 1.ห้ามบุคคลที่เคยเป็นส.ส.ร.จะเข้ารับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมืองไม่ได้เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีผลประกาศใช้   2.จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  3.การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ทำในลักษณะให้มีผลย้อนหลัง ลบล้างความผิดใด ๆ ซึ่งองค์กรตุลาการหรือองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายลงมติแล้วว่าบุคคลหรือคณะบุคคลนั้นมีความผิดหรือได้มีการตัดสินคดี

ขณะที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และส.ว.ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นพ้องกันว่า การป้องกันไม่ให้ส.ส.ร.รับตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี หลังพ้นตำแหน่ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าส.ส.ร.จะไม่ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และจะไม่ทำเพื่อล้มคดีให้กับใครคนใดคนหนึ่ง อีกทั้งสมาชิกส่วนใหญ่ต้องการให้เขียนไว้ให้ชัดเจน เพราะไม่อยากให้จินตนาการว่าส.ส.ร. จะยกร่างสิ่งเหล่านี้
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา  กล่าวว่า การห้ามส.ส.ร.ทั้ง 99 คนข้ามารับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะเกิดจากการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ขณะที่กรรมาธิการยกร่างและส.ส.ร.ต้องทำงานใกล้ชิดกันถึง 240 วันในรัฐสภา รวมทั้งช่วงเวลาที่ทำงาน ส.ส.ร. 99 คนจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกัน ดังนั้นการขออะไรกัน จึงไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งจากผู้ที่ไม่ได้เป็นส.ส.ร. และมีผู้คุมอำนาจอยู่เบื้องหลังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามหลังการอภิปรายนานกว่า 2 ชม. นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯชี้แจงว่า เรื่องเหล่านี้เคยพูดไปแล้วในมาตรา 291/11วรรค 5 ที่ห้ามส.ส.ร.ทำใน 3ข้อคือ ห้ามกระทบต่อรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ และห้ามเปลี่ยน หมวด 2 คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนสาเหตุที่ทำไมถึงไม่มีการห้ามส.ส.ร.ไปดำรงตำแหน่งต่าง ๆ หลังพ้นวาระนั้น  ตรงนี้ควรเป็นขั้นตอนของส.ส.ร.ในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ควรจะเขียนกรอบของตัวเองตรงนั้นจะดีกว่า เพราะ ส.ส.ร.ปี 40 ไม่ได้มีการห้ามไว้เช่นเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม การสมัครส.ส. ส.ว.ถือเป็นสิทธิของประชาชนผู้ที่มีสิทธิ์ไปสมัคร ส่วนจะได้รับเลือกหรือไม่นั้น เป็นสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  ขณะที่กมธ.ยืนยันเห็นด้วยกับที่ กมธ.ได้ทำการแก้ไขถึงมาตรา 291/17เท่านั้น ในส่วนที่มีการแปรญัตติเพิ่มเติมกมธ.ไม่เห็นด้วย
ท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับกมธ.โดยไม่เห็นด้วยกับที่มีผู้แปรญัตติเข้ามา ด้วยคะแนน 336 ต่อ 99 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1  และที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับกมธ. ทั้งในมาตรา 291/19,291/20,291/21 , 291 /22
ในส่วนมาตรา 291/23, 291/24 ,291/25 ไม่มีการลงมติ เนื่องจากนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้สงวนคำแปรญัตติไม่ติดใจเช่นเดียวกันกับมาตรา 4/1 ที่ไม่มีการอภิปรายและลงมติ เนื่องจากนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้สงวนคำแปรญัตติไม่ติดใจ

จากนั้นเวลา 13.55น. ได้เริ่มพิจารณามาตรการสุดท้าย คือ มาตรา 5 ว่าด้วยการกรอบระยะเวลาในการให้ได้มาซึ่งส.ส.ร.ตามมาตรา 291/5 และมาตรา 291/6 ให้แล้วเสร็จภายใน 90วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้.

แหล่งที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th

0 - ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 083-792-5426:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Blog Archive

Design Downloaded from ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามคำแหง บางกะปิ | Free Textures | Web Design Resources